ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข ชวนหญิงไทยเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านม หากพบก่อนรักษาก่อนโอกาสรอดก็ยิ่งมากขึ้น

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1ของสตรีทั่วโลก โดยในปี 2561 สถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก รายงานว่าพบผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมรายใหม่ทั่วโลก 2,088,849 ล้านคน เสียชีวิตถึง 626,679 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้เดือนตุลาคมของทุกปี เป็นเดือนแห่งการรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านมทั่วโลกโดยใช้สัญลักษณ์ในการรณรงค์เป็นรูปโบว์ชมพู (Pink Ribbon) เพื่อให้ทุกประเทศตระหนักและร่วมรณรงค์โดยจัดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งเต้านม สอนการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง สร้างความตื่นตัวให้ตระหนักถึงความสำคัญต่อสุขภาพเต้านมของตนเอง พร้อมเข้ารับการคัดกรองมะเร็งเต้านม และเข้ารับการักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจะสามารถรักษาให้หายขาดได้ ทั้งนี้การตรวจเต้านมอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ เป็นการป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เดือนตุลาคมจะเห็นหลายหน่วยงาน หลายองค์กรช่วยกันรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านมกันมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ปัจจุบันมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทย ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2557 หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ 31.36 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือมีจำนวน 14,804 คน หรือ 40 คนต่อวัน และเสียชีวิต 3,455 คน หรือ 10 คนต่อวัน  

ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะพบในหญิงที่มีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือเคยมีก้อนบริเวณเต้านมที่ผลการตรวจพบว่าผิดปกติ มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี และเคยรับการฉายรังสีบริเวณทรวงอก ก่อนอายุ 30 ปี ในขณะที่ ผู้ชายก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมได้ 1 ใน 100 ของผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ดังนั้นควรเอาใจใส่ตรวจเช็คสุขภาพ หมั่นศึกษาหาความรู้เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ร่วมกับการดูแลสุขภาพด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ

ด้าน นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิธีการรักษามะเร็งเต้านม ประกอบด้วย การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัด การใช้รังสีรักษา การใช้ยาต้านฮอร์โมน และการรักษาด้วยยากลุ่มใหม่ๆ ซึ่งการรักษาจะไม่ใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง แต่มักจะใช้หลายๆวิธี ร่วมกันเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดได้มีสูงขึ้น หากตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะที่ 1 – 2 อัตราการอยู่รอดที่ 5 ปี สูงถึงร้อยละ 85 -99 หากตรวจพบในระยะที่ 3 อัตราการอยู่รอดเพียงร้อยละ 40-60 และหากตรวจพบในระยะที่ 4 อัตรารอดเหลือร้อยละ 18-20 

ส่วนการป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งเต้านม ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ หลีกเหลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารที่มีสารปนเปื้อน อาหารปิ้ง ย่าง รมควัน และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮลล์ หากจำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน ควรอยู่ในความควบคุมของแพทย์ ผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไปควรตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควรเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์เต้านมทุกปีและมาพบแพทย์

หากพบความผิดปกติของเต้านม เช่น มีก้อนที่เต้านมหรือรักแร้ รูปร่างหรือขนาดของเต้านมที่เปลี่ยนแปลงไป มีน้ำ เลือด หรือน้ำเหลืองไหลออกมาจากหัวนม รูปร่างหรือขนาดของหัวนมที่เปลี่ยนแปลงไป สีหรือผิวหนังบริเวณลานหัวนมที่เปลี่ยนไป เช่น รอยบุ๋ม รอยย่น อาการเจ็บผิดปกติที่เต้านมหรือรักแร้โดยเฉพาะเจ็บข้างเดียว ผิวหนังของเต้านมที่เปลี่ยนไป

Photo by Annie Spratt on Unsplash