โดยปกติ ผู้ใช้แอปพลิเคชั่น WhatsApp จะต้องมีอายุ 13 ปีขึ้นไป แต่การเปลี่ยนแปลงกฎให้ผู้ใช้งานต้องมีอายุมากกว่า 16 ปี เกิดจากกฎการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล หรือ GDPR ของสหภาพยุโรปจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ โดยกฎดังกล่าวจะทำให้พลเมืองอียูมีอำนาจและสิทธิมากขึ้นในการปกป้องข้อมูลของตนเอง และสามารถควบคุมไม่ให้บริษัทเอกชนนำข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการไปใช้ได้ รวมถึงสามารถร้องขอให้บริษัทลบข้อมูลของตนเองได้ด้วย ที่สำคัญที่สุด ก็คือกฎหมายนี้ไม่อนุญาตให้บริษัทเอกชนนำข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ หรือเพื่อสร้างบัญชีผู้ใช้งาน
WhatsApp ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์นี้เป็นการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานด้านความโปร่งใสตรวจสอบได้ที่เข้มงวดขึ้นของสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ WhatsApp ในภูมิภาคอื่นของโลก รวมถึงในอเมริกา จะยังสามารถใช้แอปฯได้ตั้งแต่เมื่ออายุ 13 ปีขึ้นไปเช่นเดิม
การบังคับใช้กฎนี้จะเริ่มใช้ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดย WhatsApp จะให้ผู้ใช้งานกดตกลงรับเงื่อนไขการใช้งานใหม่ ได้แก่การยืนยันวาอายุเกิน 16 ปี อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวบีบีซีตั้งข้อสังเกตว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าการยืนยันอายุของผู้ใช้งานจะทำได้อย่างไร เพราะ WhatsApp ไม่ได้เรียกดูเอกสารใดๆเพื่อยืนยันว่าผู้ใช้อายุเกินเกณฑ์แล้วจริงๆ
แม้ว่า WhatsApp จะเป็นกิจการในเครือของเฟซบุ๊ก แต่มีวิธีการปรับตัวรับกฎหมาย GDPR แตกต่างกับเฟซบุ๊ก โดยเฟซบุ๊กเลือกใช้วิธีให้ผู้ปกครองของเด็กที่อายุ 13-15 ปี ต้องมีผู้ปกครองยืนยันว่ายินยอมให้มีการแชร์ข้อมูลของตนเองลงบนแพลทฟอร์มเฟซบุ๊ก มิฉะนั้นเด็กจะไม่สามารถใช้งานเฟซบุ๊กเต็มรูปแบบได้
การปรับตัวครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิจารณ์เรื่องที่เฟซบุ๊กทำข้อมูลผู้ใช้รั่วไหลกว่า 50 ล้านบัญชี จากกรณีเคมบริดจ์ อนาไลติกา ซึ่งทำให้นายมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก ต้องถูกเรียกไปสอบสวนโดยคณะกรรมาธิการของสภาคองเกรส และทำให้เฟซบุ๊กเผชิญวิกฤตความน่าเชื่อถืออย่างหนัก ในฐานะที่ไม่สามารถปกป้องข้อมูลของผู้ใช้งานได้