‘เกาะหมาก’ แหล่งปลูกมะพร้าวสำคัญประจำจังหวัดตราด โดยส่วนใหญ่เป็นมะพร้าวกะทิออร์แกนิกสายพันธุ์เก่าแก่ ยืนต้นเติบโตมาพร้อมๆ ผู้บุกเบิกเกาะหมากกลุ่มแรก ทำให้มีความสูงหลายสิบเมตร จึงต้องอาศัยแรงงานผู้เชี่ยวชาญการปีน หรือการสอย เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตคุณภาพดีเด่นด้านความมัน และความเข้มข้นมากเป็นพิเศษ
นิพนธ์ สุทธิธนกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกาะหมากเล่าว่า มะพร้าวเกาะหมากมาพร้อมๆ กับยางพารา พร้อมๆ กับการอพยพมาวางรกรากเกาะหมาก นั่นหมายความว่า มะพร้าวเกาะหมากน่าจะอายุประมาณ 90 กว่าปี เพราะคนเริ่มมาอยู่บนเกาะหมากประมาณ 110 กว่าปี และมะพร้าวบริเวณอ่าวแดงนับเป็นสวนแรกๆ
หลักใหญ่ใจความคือ ต้นมะพร้าวเกาะหมากปลูกตามธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี และอายุเก่าแก่เกือบ 100 ปี นั่นส่งผลให้ลำต้นมะพร้าวสูงเด่นกว่าแหล่งอื่นๆ หลายเท่า ขณะเดียวกันความมันระดับซูเปอร์ก็เป็นขุมทรัพย์ที่ซ่อนตัวอยู่ในเนื้อมะพร้าว เหมาะมากกับการคั้นเป็นกะทิสดๆ หรือทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น โดยผลผลิตของสวนมะพร้าวอ่าวแดงเฉลี่ยแล้วนับเป็นหมื่นๆ ลูกต่อเดือน ซึ่งส่วนใหญ่ส่งออกขายนอกเกาะ
“ความจริงเกาะหมากปลูกมะพร้าว และยางพาราแบบครึ่งๆ แต่ช่วงหลังราคามะพร้าวปรับตัวสูงขึ้น ส่วนยางพาราราคาลดลง ทำให้เหมือนมะพร้าวจะกลายเป็นพืชที่นิยมกันมากกว่า” นิพนธ์ระบุ
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผลผลิตมะพร้าวบนเกาะหมากลดลงจากอดีตเล็กน้อย เนื่องจากต้องเผชิญหน้ากับปัญหาศัตรูพืชอย่าง ‘ด้วง’ แต่เกษตรกรเกาะหมากต่อสู้ด้วยการเร่งปลูกมะพร้าวทดแทน บวกกับสรรหาหนทางกำจัดศัตรูพืชด้วยวิธีธรรมชาติ โดยเลี้ยง ‘แตนเบียน’ มาช่วยปราบด้วงอีกทีหนึ่ง และนิพนธ์ยังยืนยันอีกด้วยว่า “มะพร้าวบนเกาะหมากเป็นมะพร้าวอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์”
การเก็บมะพร้าวตามแบบฉบับคนท้องถิ่นบนเกาะหมากไม่ใช้ลิง ทำกันด้วยแรงงานคนล้วนๆ ทั้งแบบปีน แบบสอย และเดินเก็บ โดยไฮไลต์อยู่ตรงกิจกรรมสาธิตปีนมะพร้าวด้วยอุปกรณ์หน้าตาคล้ายๆ กับจักรยาน และการสอยด้วยตะขอเกี่ยวผูกติดกับกระบอกไม้ไผ่ 2-3 ท่อน เพื่อเพิ่มความยาวให้เทียบเท่าต้นมะพร้าว
“อุปกรณ์ปีนมะพร้าวเพิ่งเริ่มพัฒนามาสัก 5-6 ปี เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับเกษตรกร แต่ช่วงแรกๆ เกาะหมากเก็บมะพร้าวด้วยการสอยเท่านั้น โดยเอาไม้ไผ่มาดัดแล้วติดตะขอ ซึ่งกระบวนการดัดไม้ไผ่ต้องอาศัยฝีมือ และความชำนาญ เพราะกว่าจะดัดได้หนึ่งท่อนหมดเวลาเกือบอาทิตย์ เพื่อเผากระบอกไม้ไผ่ให้ตรง
“บวกกับกรรมวิธีการสอยมะพร้าวกระบอกไม้ไผ่ต้องตั้งตรงแล้วค่อยเริ่มสอย เพราะบางครั้งลูกมะพร้าวจะวิ่งมาตามตะขอ ซึ่งหากไม่ชำนาญลูกมะพร้าวอาจหล่นใส่หัวตัวเองได้ ดังนั้น ต้องรู้จังหวะการปล่อยตะขอ เพื่อให้ลูกมะพร้าวหล่นพอดี แล้วต้องรีบคว้าตะขอไม่ให้ล้ม เพราะถ้าตะขอล้มเป็นเรื่องใหญ่ เท่ากับไม้ไผ่จะแตก ต้องทำใหม่ แล้วพอสอยเสร็จหนึ่งต้นต้องประคองไม้ไผ่เดินประมาณ 10 เมตร เพื่อสอยต้นต่อๆ ไป” นิพนธ์เสริมรายละเอียด
สำหรับลูกมะพร้าวผิวสีน้ำตาลที่หล่นลงพื้นจะแยกออกเป็น 2 ชนิดคือ แบบงอก และยังไม่มีงอก โดยชนิดไม่มีงอกคนงานต้องทำหน้าที่สอยเอาปอกเปลือกออกเล็กน้อยก่อนขนส่งลงเรือไปฝั่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำกะทิต่อไป ส่วนมะพร้าวแบบงอกแล้วจะต่อยออกแล้วเอาเนื้อมะพร้าวไปสกัดเป็นน้ำมัน ส่วนกะลาตากแห้งก่อนแปรรูป
ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนเกาะหมากสามารถแวะไปเรียนรู้การสอยมะพร้าว ปอกมะพร้าว และปลูกมะพร้าวจากคนท้องถิ่นบริเวณอ่าวแดงได้ด้วย