ไม่พบผลการค้นหา
กฎหมายบอกว่าห้ามผู้ประกอบการขึ้นราคา "โดยไม่มีเหตุผลสมควร" แล้ว "เหตุผลสมควร" คือสิ่งใด

หลังเป็นตัวกลางหารือกับเอกชนผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหาร 5 เจ้าใหญ่ในไทย ได้แก่ Grab, Foodpanda, Lineman, Gojek และ Robinhood เพื่อช่วยเหลือผู้ค้ารายย่อย ด้วยการลดค่าธรรมเนียมในการให้บริการจากผู้ประกอบร้านอาหาร (GP) ลงมาเหลือ 25% เป็นเวลา 1 เดือน (ไม่คิดค่า GP สำหรับ Robinhood)

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลความไม่เป็นธรรมทางการค้าให้ผู้ประกอบการไทย แถลงแนวทางช่วยเหลือที่สำนักงานฯ ได้จัดทำเป็นที่เรียบร้อยแล้วผ่าน 'ประกาศแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (ไกด์ไลน์)'


"โดยไม่มีเหตุผลสมควร"

ในประกาศดังกล่าว ซึ่งลงวันที่ 22 ต.ค.2563 ระบุภาพรวมพฤติกรรมหลักๆ ของผู้ประกอบการที่อาจเข้าข่าย "การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม" อาทิ มีการเรียยกเก็บค่าใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมผ่านค่า GP ที่ปรับขึ้นโดย "ไม่มีเหตุผลสมควร" หรือการเรียกเก็บในอัตราที่แตกต่างกัน "โดยไม่มีเหตุผลสมควร"

ทั้งยังมีประเด็นเรื่องการเรียกเก็บค่าธรรมโฆษณา "โดยไม่มีเหตุผลสมควร" ไปจนถึงการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ "โดยไม่มีเหตุผลสมควร" ทว่ากลับไม่มีการระบุมาตรฐานหรือแนวทางพิจารณาว่าเหตุผลสมควรและไม่สมควรคืออย่างไร

นอกจากไกด์ไลน์ที่เต็มไปด้วย "โดยไม่มีเหตุผลสมควร" แล้วนั้น ประกาศ กขค.ยังพูดถึงการจำกัดสิทธิของผู้ประกอบการในลักษณะบังคับ ห้ามจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มอื่นรวมถึงการใช้อำนาจตลาดแทรกแซงหรือกำหนดเงื่อนไขทางราคากับร้านค้ารายย่อย 

ประกาศของ กขค.ทั้งหมดนี้ ขึ้นตรงกับ มาตรา 57 : การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่กำหนดบทลงโทษไว้เพียงว่า : 

  • "ผู้ประกอบธุรกิจใดที่ฝ่าฝืนมาตรา 57 ปฎิบัติพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ต้องชำระค่าปรับทางปกครอง ในอัตราไม่เกิน ร้อยละ 10 ของรายได้ในปีที่กระทำความผิด
  • ในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดในปีแรกของการประกอบธุรกิจ ให้ชำระค่าปรับทางปกครองในอัตราไม่เกิน 1 ล้านบาท"

'แพลตฟอร์ม' ไทยใช้ ใครเจริญ

ตามข้อมูลจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) พบว่าประเทศไทยมีการใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นอันดับที่ 16 ของโลก และยังครองแชมป์ที่ 1 ในอาเซียน โดยมีมูลค่ารวมกว่า 46.51% ของธุรกิจเมื่อเทียบกับธุรกิจดั้งเดิม 

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนอัตราการใช้จ่ายที่สูงของคนไทย แต่เมื่อพิจารณาในด้านรายได้ที่เข้าสู่กระเป๋าของผู้ประกอบการ กลับพบว่าในแพลตฟอร์มเหล่านั้นมีสินค้าของผู้ค้าไทยเพียง 23% ในขณะที่สินค้าส่วนใหญ่ที่ขายบนแพลตฟอร์มเป็นของต่างชาติถึง 77%

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อมองเฉพาะลงมากับธุรกิจแพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหาร เกินกว่าครึ่งก็เป็นแพลตฟอร์มของชาวต่างชาติทั้งสิ้น และการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอาจต้องการความร่วมมือที่กว้างขวางกว่าแค่ระดับภายในประเทศ แต่หมายถึงระดับภูมิภาค 

ตัวอย่างความร่วมมือ และกติกาที่ควรนำมาใช้ควรหยิบยกจากประเทศใหญ่ๆ ที่ประสบความสำเร็จ หรือมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมแล้ว เช่น ในสหภาพยุโรป (EU) ที่มีกฎระเบียบ Platform to Business Regulation ร่างกฎหมาย Digital Services Act (DSA) และร่างกฎหมาย Digital Market Act (DMA) ซึ่งมุ่งเน้นสภาพแวดล้อมด้านธุรกิจออนไลน์ให้เป็นไปอย่างยุติธรรมทั้งสำหรับภาคธุรกิจและผู้บริโภค 

ประเทศเกาหลีใต้ เริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% ในสินค้าและบริการที่ซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ปี 2558 ประเทศอินเดีย เริ่มจัดเก็บภาษีรายได้ 2% จากมูลค่าการซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ปี 2563 โดยเก็บเฉพาะผู้ขายที่อยู่หรือมี IP Address ในประเทศอินเดียเท่านั้น 

อย่างไรก็ดี สำหรับไทย คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เพียงได้ยื่นข้อเสนอแนวทางดังกล่าวต่อเลขาธิการอาเซียนให้กำหนดเป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งต่อไปเท่านั้น 

ธุรกิจบริการส่งอาหาร-food delivery-grab food

ต้องไม่ลืมว่าประเด็นแพลตฟอร์มรับ-ส่งอาหาร ไม่ได้มีปัญหาแค่ค่า GP ที่ร้านค้าต้องเผชิญเท่านั้น การต่อสู้เรียกร้องสิทธิแรงงานของเหล่า 'ไรเดอร์' เองก็ไม่อาจมองข้ามได้ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง เพราะแม้การแก้เชิงระบบอาจต้องการอิทธิพลของภูมิภาคเข้ากดดันเอกชน แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลจะละเลยสิ่งที่สามารถทำได้ทันทีเพื่อแรงงานในชาติตนเองได้

ขณะที่ประเด็นดังกล่าวในประเทศไทยเกิดเป็นภาวะสุญญากาศ แต่ละครั้งที่มีปัญหา ไรเดอร์เหล่านี้ก็ออกมาเรียกร้องกับบริษัทพาร์ตเนอร์ของตนเอง โดยที่กระทรวงแรงงานหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับไม่แสดงบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบเท่าที่ควร 

กลับกัน ศาลของสหราชอาณาจักรมีคำตัดสินให้บริษัทแกร็บซึ่งประกอบธุรกิจในสหราชอาณาจักรต้องมอบสิทธิแรงงานและสวัสดิการพื้นฐานตามที่แรงงานในระบบพึงมีให้ไรเดอร์ของบริษัท ไม่ใช่เพียงอ้างว่ามีสถานะเป็น 'พาร์ตเนอร์' ของกันและกัน เพื่อใช้มิติความเท่าเทียมกันตามกฎหมายลอยแพความรับผิดชอบ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;