ไม่พบผลการค้นหา
จากสถานการณ์ราคาสับปะรดตกต่ำ หลายคนหันมาช่วยกันบริโภคสับปะรด เพื่อหวังช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่ง แต่นักโภชนาการแนะนำว่า "สับปะรด" นั้นแม้จะมีประโยชน์มากมาย แต่หากรับประทานมากไปก็อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายเช่นกัน

จากสถานการณ์ราคาสับปะรดตกต่ำ ทำให้ภาครัฐเร่งช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งกระกระจายสับปะรดออกนอกแหล่งผลิตสำหรับบริโภคผลสด และนำไปทำอาหารสัตว์เลี้ยงโคนมโคเนื้อ รณรงค์การบริโภค เร่งรัดขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศให้มากขึ้น พร้อมขอความร่วมมือจากภาคราชการและภาคเอกชนให้ช่วยรับซื้อสับปะรดจากเกษตรกร ขณะที่ประชาชนก็หันมาช่วยบริโภคสับปะรดกันมากขึ้น เพื่อหวังว่าจะเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอีกทางหนึ่ง

ทั้งนี้ สับปะรด เป็นผลไม้ที่มีรสหวานปานกลาง มีคุณค่าทางโภชนาการ และมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการเยอะมาก เช่น วิตามินซี เบต้าแคโรทีน แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส แคลเซียม เป็นต้น สารอาหารเหล่านี้มีอยู่ในสับปะรด ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะวิตามินซี และเบต้าแคโรทีน เป็นสารต่อต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารที่ทำให้ลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็ง  

นอกจากนี้ สับปะรดยังมีไฟเบอร์ ค่อนข้างมาก เมื่อรับประทานเข้าไป จะทำให้ลำไส้อ่อนนุ่ม ท้องไม่ผูก ช่วยดูดซับไขมัน สารพิษ สารก่อมะเร็งในเยื่อบุลำไส้ออกมาได้ 

ทั้งนี้ สับปะรด เป็นผลไม้ที่สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู เนื่องจากมีรสเปรี้ยวและหวานตามธรรมชาติช่วยชูรสอาหารให้อร่อย อาทิ ต้มส้มกระดูกหมูอ่อนใส่สับปะรด ผัดเปรี้ยวหวานสับปะรด ข้าวอบสับปะรด สลัด น้ำสับปะรดปั่น บาร์บีคิว เป็นต้น 


สับปะรด

ต้มส้มกระดูกหมูอ่อนใส่สับปะรด

สง่า ดามาพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ อธิบายว่า ในสับปะรด มี bromelain (บรอมิเลน) เป็นเอนไซม์ที่ออกฤทธิ์ในการย่อยพวกโปรตีนจากเนื้อสัตว์ และยังออกฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคบางชนิดด้วย ดังนั้นเวลาเรากินสับปะรดไปพร้อมๆ กับเนื้อสัตว์ บรอมิเลนจะช่วยทำให้ย่อยเนื้อสัตว์ได้ดี และดูดซึมได้ดีขึ้น 

"หากเรานำสับปะรดไปแกงคั่ว หรือเป็นส่วนประกอบของบาร์บีคิว พอเนื้อสัตว์เจอกับสับปะรด สารบรอมิเลนตัวนี้จะเข้าไปช่วยทำให้เนื้อสัตว์ย่อยโปรตีนได้ และร่างกายย่อยได้ดีขึ้น" ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กล่าว 


rest-836292_960_720 (1).jpg

บาร์บีคิว ภาพจาก : pixabay.com /1187283

อย่างไรก็ตาม การรับประทานสับปะรดให้ได้ประโยชน์สูงสุด ควรเลือกสับปะรดที่สุกแล้ว เพราะสับปะรดดิบจะมีสารบางตัวที่ไปกัดกระเพาะ หรือเยื่อบุลำไส้ได้ และไม่ควรรับประทานตอนท้องว่าง เพราะสับปะรดมีกรดซิตริก อาจทำให้ลำไส้เกิดระคายเคืองได้ 

"ในหนึ่งวันเราควรกินผลไม้ให้ได้ประมาณ 3-6 ส่วน การกินสับปะรดที่เหมาะสมต่อวันคือประมาณวันละ 6 ชิ้น ส่วนที่เหลือให้เรากินผลไม้อย่างอื่นแทน เพราะการกินผลไม้ควรกินให้หลากหลาย ถ้าเรากินซ้ำไปซ้ำมา เราจะได้สารอาหารแต่ชนิดนั้นๆเป็นประจำ แต่ถ้าเรากินหลากหลาย เราจะได้วิตามินจากผลไม้ชนิดอื่นๆ เสริมด้วย" ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ ยังแนะนำอีกว่า ไม่ควรกินสับปะรดเยอะในปริมาณมากเกินไป บางคนกินเป็นลูกเพราะตอนนี้ราคาถูก ทำให้เราได้รับน้ำตาลมากเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน เมื่อเข้าสู่ร่างกายน้ำตาลก็จะเปลี่ยนเป็นไขมันทันที ทำให้เราอ้วนได้ และทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน 

นอกจากนี้ การกินสับปะรดเยอะเกินไป อาจทำให้ท้องอืด ย่อยยาก ดังนั้นจึงควรกินสับปะรดในปริมาณที่พอเหมาะ จะดีที่สุด


อ่านเพิ่มเติม