ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารโลกร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดสัมมนาเรื่อง 'การลงทุนในมนุษย์เพื่อลดความยากจนและกระตุ้นความมั่นคั่งร่วมกัน' ชี้ประเด็นไทยต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หากมีเป้าหมายลดความยากจนและกระตุ้นความมั่งคั่งของประเทศอย่างยั่งยืน

นางสาวนิน นิน ไพน์ ผู้ประสานงานในส่วนการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวถึงภาพรวมของดัชนีทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบคือ อัตราการรอดชีวิตในเด็ก ปริมาณและคุณภาพการศึกษา และสุขภาพของประชาชน จากระดับ 0 ถึง 1 ซึ่ง 0 คือแย่ที่สุดและ 1 คือดีที่สุด หากเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ที่คะแนน 0.6 ตามหลังสิงคโปร์ เวียดนาม และมาเลเซีย ที่มีคะแนน 0.88, 0.67 และ 0.62 ตามลำดับ

ทุนมนุษย์

การที่ประเทศไทยได้คะแนนที่ 0.6 นั้นแปลความตามคำจำกัดความจากธนาคารโลกได้ว่า "เด็กที่เกิดในประเทศไทยปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 60 เท่านั้นที่สามารถเป็นแรงงานที่มีประสิทธิผล หากเด็กเหล่านี้จบการศึกษาอย่างที่ตนชอบและมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์"

แม้ธนาคารโลกจะกล่าวว่าตัวเลข 0.6 เป็นตัวเลขที่ถือว่าดีสำหรับประเทศไทย บวกกับการลดลงของอัตราความยากจนทั่วโลก แต่ไทยก็ยังมีประเด็นที่น่ากังวลในเรื่องการศึกษา จากผลสำรวจพบว่า นักเรียนไทยมีความรู้จริงเท่ากับการเรียนเพียง 8.6 ปี ในขณะที่รัฐธรรมนูญไทยกำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับถึง 12 ปี ช่องว่างตรงนี้แสดงให้เห็นถึงการต้องการการเข้ามาดูแลด้านการศึกษาอย่างจริงจัง

ด้าน นายศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าไทยต้องเน้นที่ความเท่าเทียมกันทั้งในด้านการศึกษา สุขภาพ สวัสดิการทางสังคม และทางความยุติธรรม

โดยเฉพาะด้านการศึกษาเสนอให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเน้นจุดแข็งในหลักสูตรของตนเองเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการจัดสรรงบประมาณ

ทางด้าน นายไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ EEF ชี้ให้เห็นว่าหากเราไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนในครัวเรือนได้ก็ยากที่จะส่งเสริมให้เด็กหันมาสนใจการศึกษามากขึ้น เพราะเด็กร้อยละ 5 ที่อยู่ด้านล่างสุดของเส้นความยากจน ไม่มีแม้แต่ถนนให้เดินทางไปโรงเรียนและยังต้องกังวลว่าจะมีข้าวกินมื้อต่อไปหรือไม่

ปิดท้ายที่ นายสุทธิพงษ์ สุวรรณสุข รองประธานด้านทรัพยากรมนุษย์ บริิษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) ในตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ย้ำว่าภาคเอกชนมีความพร้อมในการร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อร่วมกันคิดหลักสูตรที่จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตเพื่อลดอัตราการว่างงานของเด็กจบใหม่

ทุนมนุษย์