กูเกิลและเทมาเส็กของสิงคโปร์เผยแพร่รายงานเรื่อง 'จุดเด่นเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2017' (e-Conomy SEA Spotlight 2017) ซึ่งระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ประชากรใช้เวลาเฉลี่ยในการเล่นอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือต่อวันสูงที่สุดในโลก คือ เฉลี่ยวันละ 3.6 ชั่วโมง โดยชาวไทยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือถึง 4.2 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งสูงที่สุดในโลก รองลงมาคือชาวอินโดนีเซียที่ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านมือถือ 3.9 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ชาวอเมริกันใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง ชาวอังกฤษวันละ 1.8 ชั่วโมง และชาวญี่ปุ่นวันละ 1 ชั่วโมง
นอกจากนี้ จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในอาเซียนยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยกูเกิลและเทมาเส็กคาดการณ์ว่า ยอดผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นจาก 260 ล้านคนในปีนี้ เป็น 480 ล้านคนภายในปี 2020 หรือเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี สูงกว่าจีนที่จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปี โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดในอาเซียน คือ ร้อยละ 19 ต่อปี
ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านมือถือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้เวลากับการช็อปปิงออนไลน์มากที่สุด สูงกว่าชาวอเมริกันถึง 2 เท่า ส่งผลให้เศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตของอาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยกูเกิลและเทมาเส็กคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 เศรษฐกิจบนอินเทอร์เน็ตของอาเซียน ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยอี-คอมเมิร์ซ การท่องเที่ยวออนไลน์และสื่อออนไลน์ จะมีมูลค่าสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 6.5 ล้านล้านบาท
กูเกิลและเทมาเส็กเปิดเผยว่า ในปีนี้ยอดการใช้จ่ายผ่านอี-คอมเมิร์ซของประชากรในอาเซียนน่าจะมีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 325,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2015 ที่ยอดการใช้จ่ายผ่านอี-คอมเมิร์ซอยู่ที่ 5,500 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 179 ล้านบาท ถึงร้อยละ 41 โดยกูเกิลและเทมาเส็กยังย้ำว่า ตัวเลขนี้นับเฉพาะยอดการซื้อขายสินค้ามือ 1 ผ่านทางอี-คอมเมิร์ซเท่านั้น ไม่รวมการซื้อขายสินค้ามือ 2 และการซื้อขายทางตรงระหว่างผู้บริโภค (consumer-consumer sale)
นอกจากนี้ กูเกิลและเทมาเส็กยังคาดการณ์ว่า หากประเทศต่างๆ ในอาเซียนพัฒนาระบบดิจิทัลและระบบจ่ายเงินออนไลน์ ก็จะยิ่งทำให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซในอาเซียนเติบโตอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น และมีความเป็นไปได้ว่าในปี 2025 ตลาดอี-คอมเมิร์ซของอาเซียนอาจมีมูลค่ากว่า 88,100 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.86 ล้านล้านบาท
สำหรับภาคการท่องเที่ยวออนไลน์ เช่น การจองโรงแรมและตั๋วเครื่องบินผ่านทางเว็บไซต์ รวมไปถึงบริการเรียกรถโดยสาร เป็นอีกหนึ่งภาคธุรกิจในเศรษฐกิจอินเทอร์เน็ตที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยกูเกิลและเทมาเส็กคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 การท่องเที่ยวออนไลน์จะเติบโตขึ้นถึง 4 เท่า มีมูลค่าถึง 90,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2.92 ล้านล้านบาท ซึ่งการเติบโตของภาคการท่องเที่ยวออนไลน์จะไม่เพียงแต่กระตุ้นการใช้จ่ายของประชากรในภูมิภาคเท่านั้น แต่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติที่ย้ายถิ่นฐานมาทำงานหรือใช้ชีวิตในต่างแดนให้เดินทางมายังอาเซียน ทำรายได้เข้าภูมิภาคอีกด้วย
อีกหนึ่งธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในอาเซียน คือ 'ไรด์-แชร์ริง' หรือ บริการเรียกรถรับจ้าง ซึ่งเป็นสมรภูมิที่ทั้ง 'อูเบอร์' และ 'แกร็บ' ต่างแข่งขันกันอย่างหนัก และออกบริการเสริมจำนวนมาก โดยกูเกิลและเทมาเส็กระบุว่า ในปีนี้ มูลค่าของตลาดไรด์-แชร์ริงในอาเซียนอยู่ที่ 5,180 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 168,000 ล้านบาท โตขึ้นจากปี 2015 ที่มูลค่าตลาดไรด์-แชร์ริงอยู่ที่ 2,580 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 84,000 ล้านบาท ถึง 2 เท่า และคาดว่าในปี 2025 ตลาดไรด์-แชร์ริงจะมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 650,000 ล้านบาท
เรียบเรียงโดย: สลิสา ยุกตะนันทน์