วันที่ 18 มกราคม เป็นวันสำคัญหนึ่งของชาวอุดรธานี คือวันก่อตั้งเมืองอุดรธานีครบรอบ 125 ปี
อุดรธานีเป็นเมืองที่เกิดและเติบโตขึ้นด้วยปัจจัยทางทหาร แต่รุ่งเรืองด้วยอำนาจของการค้าและชาวต่างชาติ เป็นเมืองที่เปลี่ยนแปลงและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว
ถ้าใครได้มาเที่ยวอุดรธานี จะพบว่าเมืองแห่งนี้เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยพลังชีวิต การค้าที่เริ่มต้นตั้งแต่ใกล้รุ่ง จนถึงสีสันที่คึกคักในยามค่ำคืน
ร้อยยี่สิบห้าปีที่แล้ว กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้นำกองทัพสยามขึ้นมาปราบโจรจีนฮ่อในหัวเมืองเวียงจัน ต้องถอยร่นออกจากแนวแม่น้ำโขงห้าสิบกิโลเมตร ตามสนธิสัญญาที่ทำไว้กับฝรั่งเศสภายหลังเหตุการณ์ ร.ศ. 112 และพบกลุ่มหนองน้ำและบึงจำนวนมากบริเวณบ้านเดื่อหมากแข้ง จึงตั้งกองทหารไว้รักษาดินแดน พร้อมตั้งเมืองขึ้นใหม่ให้เป็นหัวเมืองชายแดนพิทักษ์อาณาเขตด้านอีสานเหนือ ชื่อว่า "อุดรธานี"
ต่อมาเมื่อมีการแบ่งการปกครองเป็นมณฑล อุดรธานีได้กลายเป็นศูนย์กลางการปกครองของมณฑลลาวพวน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลอุดร เมืองจึงเจริญขยายใหญ่ขึ้นด้วยศูนย์ราชการและกองพลทหารหลายค่าย เช่น ค่ายเสนีย์รณยุทธ์ ค่ายประจักษ์ศิลปาคม
ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างยุคสงครามเวียดนาม ทหารอเมริกันได้มาตั้งฐานทัพอากาศ และสถานีเรดาร์ซึ่งสามารถตรวจจับครอบคลุมพื้นที่ในลาวและเวียดนามเหนือ ทำให้เศรษฐกิจอุดรธานีแพร่สะพัดไปด้วยเงินดอลลาร์ ผับ บาร์ เมียเช่า โรงหนัง ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ธุรกิจการค้า พ่อค้าจากทุกสารทิศในอีสานและลาวต่างพากันมาเปิดกิจการในเมืองอุดร
ผังเมืองและถนนที่สร้างในสมัยจีไอ ทำให้เมืองอุดรเป็นเมืองที่มีการจัดการระบบผังเมือง การตัดถนนและการแบ่งโซนนิ่งที่ดีที่สุดเมืองหนึ่งในประเทศ รวมถึงการคมนาคมขนส่งที่มีทั้งทางรถไฟและสนามบินพาณิชย์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด มีเที่ยวบินลงอุดรธานีวันละ 26 เที่ยวบิน ไปยังจุดหมายปลายทางทั่วประเทศ 7 แห่ง ถือเป็นสนามบินที่ใหญ่และพลุกพล่านที่สุดในอีสาน
การที่อุดรธานีอยู่ห่างจากจังหวัดใหญ่อื่นอย่างขอนแก่นหรือโคราชมาก และมีทางรถไฟผ่าน ทำให้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าสินค้าเกษตรที่มาจากอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง โดยมีโรงงานแปรรูปสินค้าการเกษตรเป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น โรงงานน้ำตาลทรายเริ่มอุดม ที่รับซื้อและหีบอ้อยจากเขตอีสานตอนบน โรงงานมันเส้นและแป้งมัน และในระยะหลังยังมีโรงงานแปรรูปยางพาราที่รับซื้อจากจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มขึ้น
ปัจจุบัน เมื่อ สปป. ลาวเปิดประเทศ อุดรธานีกลายเป็นเมืองหน้าด่านที่ใกล้นครหลวงเวียงจันทน์เชิงยุทธศาสตร์สำคัญ เนื่องจากจังหวัดหนองคายที่อยู่ติดนครหลวงเวียงจันทน์นั้นใกล้และเล็กเกินไปจะพัฒนา ส่วนอุดรธานีที่อยู่ห่างออกมา 50 กิโลเมตร ตามสนธิสัญญากับฝรั่งเศสนั้น กลายเป็นผลดีที่ทำให้เมืองอุดรสามารถดำเนินธุรกิจค้าขายกับลาวได้อย่างเข้มแข็ง จนทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดต่อหัว (GPP per Capita) ของอุดรมากเป็นอันดับ 4 ของภาคอีสาน และอันดับที่ 23 ของประเทศ
อุดรธานีเป็นเมืองที่มีพ่อค้าชาวจีนและชาวเวียดนามอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เครือข่ายธุรกิจการค้ากับต่างประเทศจึงเฟื่องฟูทั้งบนดินและใต้ดิน ในทางตรงข้าม ดังจะเห็นข่าวชาวอุดรถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่หนึ่งบนหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้ง หลังจากยุคเมียเช่าและกองทัพสหรัฐผ่านพ้นไป ชาวอุดรได้ออกไปทำงานยังต่างประเทศเป็นอัตราส่วนที่มากที่สุดของประเทศไทย โดยมีผู้ออกไปทำงานต่างประเทศเฉพาะที่ถูกต้องตามกฎหมายมากถึงปีละกว่า 6,300 คน มากกว่าจังหวัดอันดับรองถึงเท่าตัว รวมถึงอัตราการสมรสของหญิงไทยกับชาวต่างชาติที่มากที่สุด จนเกิดมีหมู่บ้านเมียฝรั่งให้เห็นในหลายท้องที่
นอกจากนี้ ชาวอุดรธานียังมีความกระตือรือร้นทางการเมืองและมีส่วนร่วมในการเมืองสูงทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติมายาวนาน นับตั้งแต่สมัยพลเอกสมคิด ศรีสังคม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นนักการเมืองน้ำดีระดับ “คนดีศรีสภา” จนถึงความเคลื่อนไหวทางการเมืองในวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา
ความแตกต่างทางการเมืองของอุดรธานี คือการที่ไม่มี “ตระกูลการเมือง” ที่ผูกขาดทั้งจังหวัดเด่นชัด การเลือกตั้งมีผู้ชนะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปแต่ละยุคสมัยในแต่ละเขต อีกทั้งในเขตเทศบาลนครยังมีการคานอำนาจกันระหว่างนักการเมืองท้องถิ่น ข้าราชการ กับกลุ่มสมาคมพ่อค้าที่รวมตัวกันเป็นคณะกรรมการศาลเจ้าปู่ย่าอันเป็นที่เคารพสักการะของทั้งชาวไทยเชื้อสายจีนและเชื้อสายอื่นอยู่
พลวัตรที่ผสมผสานเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจในทางสร้างสรรค์ใหม่ๆ แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเช่นวัดป่าภูก้อน ศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีน แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอย่างภูฝอยลม ทะเลบัวแดง และแหล่งการค้าของทุนท้องถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างยูดีทาวน์ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงสิบปีที่ผ่านมา
125 ปีของอุดรธานี จึงเป็น 125 ปีของเมืองที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เป็นหัวเมืองที่เป็นตัวอย่างของหมู่บ้านโลก (Global Village) และชาวอุดรธานีก็ไม่เคยหยุดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นด้วยความหวังและความฝันที่มีในตัว