ไม่พบผลการค้นหา
แม้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่การส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายบางฉบับ ยังต้องปฏิรูปหรือปรับแก้ให้ได้มาตรฐานสากลเพิ่มขึ้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทย (กสม.) เป็นเจ้าภาพจัดพิธีมอบรางวัลด้านสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 14 ประจำปี 2560 วันนี้ (14 ธันวาคม) โดยมีกลุ่มบุคคลและองค์กรส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในด้านต่างๆ ได้รับรางวัลหลายกลุ่ม ส่วนนายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม. ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในปีนี้ พบว่ามีผู้ร้องเรียนด้านสิทธิชุมชนเพิ่มมากขึ้น เป็นผลจากการดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อขยายขอบเขตเมือง รวมถึงการร้องเรียนเรื่องสิทธิผู้สูงอายุ แล��สิทธิผู้พิการ ซึ่งความจริงแล้วเป็นสถานการณ์ที่ยืดเยื้อมาหลายปี จึงมีความจำเป็นที่ภาครัฐและประชาชนจะต้องเรียนรู้ที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหาเหล่านี้

ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตผู้ชำนาญการประจำสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ซึ่งเข้าร่วมงานนี้ด้วย ระบุว่าที่ผ่านมาไทยประสบความสำเร็จในการรับรองสิทธิของประชาชนด้านสุขภาพ ผ่านโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การคุ้มครองสิทธิผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี/เอดส์ แต่สหประชาชาติยังคงมีความกังวลเรื่องการส่งเสริมสิทธิทางการเมืองและการแสดงออกทางความคิดเห็น จึงมีข้อเสนอให้ไทยเปิดพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น คำนึงถึงการเลือกตั้งที่จะมีพรรคที่หลากหลายเข้าร่วม รวมถึงบังคับใช้กฎหมายอย่างสมดุลและเคารพการแสดงออกด้านสิทธิเสรีภาพ

ชัยภูมิ ป่าแส 1.jpg

(เครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง นำภาพ 'ชัยภูมิ ป่าแส' นักกิจกรรมชาวลาหู่ ซึ่งถูกทหารวิสามัญฆาตกรรมเมื่อเดือนมีนาคม 2017 มาร่วมรับรางวัลด้วย )

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เจาะจงกฎหมายบางฉบับด้วยว่าน่าจะมีการปฏิรูป เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการกักตัวคนได้ถึง 30 วัน หรือกฎอัยการศึกที่กักตัวได้ถึง 7 วัน รวมถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ 116 ซึ่งสหประชาชาติได้ขอให้บังคับใช้ตามหลักสากลมากขึ้น ต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ไทยได้ให้สัญญาไว้ในกรอบของสหประชาชาติ

ถ้าหากมีการเลือกตั้งในปีหน้า รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องดำเนินการต่อจากรัฐบาลชุดก่อนหน้าในการผลักดันให้ไทยเป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งจะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ไม่ใช่จุดจบ และการบังคับใช้กฎหมายจะเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และที่ผ่านมา แม้ว่าไทยจะยังไม่ได้เป็นภาคีสนธิสัญญาระหว่างประเทศบางฉบับ เช่น สนธิสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย ไทยยังสามารถทำอะไรได้ค่อนข้างมาก เช่น มีการดูแลผู้ลี้ภัยพม่ากว่า 100,000 คน แต่ถ้าเป็นภาคีสหประชาชาติก็จะทำให้มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น เพราะจะมีการตรวจสอบและนานาชาติจะช่วยพิจารณาดูแลประเด็นต่างๆ ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์วิทิตระบุด้วยว่า ผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นก็ต้องเคารพการทำงานของเจ้าหน้าที่ และจัดชุมนุมในกรณีที่จำเป็น ส่วนเจ้าหน้าที่จะต้องคำนึงถึงความเหมาะสม เช่น ถ้าผู้ชุมนุมมีจำนวนเพียงเล็กน้อย ก็ไม่จำเป็นต้องนำกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากมาคอยควบคุมสถานการณ์

HR3.jpg

ส่วนรายชื่อผู้ได้รับรางวัลด้านสิทธิมนุษยชนของ กสม.ปีนี้ ได้แก่ นายโคอิ มีมิ หรือปู่คออี้ ผู้เฒ่าชาวกะเหรี่ยง แห่งผืนป่าแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย นางสาวศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ ผู้ริเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และนายสุแก้ว ฟุงฟู รองประธานสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ซึ่งเป็นผู้ได้รับรางวัล

ส่วนบุคคลและองค์กรที่ได้รับรางวัลเพราะมีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีจำนวนทั้งสิ้น 11 ราย ได้แก่ นายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน นางสาวสมลักษณ์ หุตานุวัตร อาสาสมัครอิสระเพื่อมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน นางอรนุช ผลภิญโญ กรรมการบริหารเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน เป็นผู้ได้รับรางวัลประเภทบุคคลทั่วไป 

รางวัลประเภทเด็กและเยาวชน 2 รางวัล เป็นของกลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด อาสาสมัครชุมชนด้านทรัพยากร จังหวัดสตูล และเครือข่ายเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมือง ซึ่งเป็นการรวมตัวของเด็กและเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ภาคเหนือ ขณะที่ประเภทสื่อมวลชน 3 รางวัล ได้แก่ รายการคนเคาะข่าว สถานีโทรทัศน์นิวส์วัน (NEWS1) ซึ่งให้ความสำคัญต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น การต่อสู้ของผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดสระบุรี ตามด้วยนางสาวณัฏฐา โกมลวาทิน บรรณาธิการและผู้ดำเนินรายการ 'ที่นี่ Thai PBS' และ นายปกรณ์ พึ่งเนตร บรรณาธิการรายการ 'ล่าความจริง' สถานีโทรทัศน์ Nation TV และ บก.ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา 

HR2.jpg

รางวัลประเภทองค์กรภาคเอกชน 3 รางวัล ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต (กรณีที่ดินชาวเลราไวย์) และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ดำเนินงานเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักพัฒนาในองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ 

รายงาน: ตติกานต์ เดชชพงศ

ภาพ: ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์/Transborder News

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อียูฟื้นสัมพันธ์ไทย พร้อมย้ำ 'การเลือกตั้งต้องมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย'

กสม.ร้อง แก้ร่างกม.อีอีซี กระทบสิทธิมนุษยชน

ครม.ไฟเขียว 'สิทธิมนุษยชน' เป็นวาระแห่งชาติ