ไม่พบผลการค้นหา
ศาลแขวงดอนเมืองพิพากษาคดีนายจ้างฟาร์มไก่ใน จ.ลพบุรี ฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทลูกจ้างชาวพม่า 14 คน ซึ่งร้องเรียน กสม.ว่าถูกละเมิดสิทธิแรงงานเมื่อปี 2559 โดยศาลตัดสินว่า จำเลยร้องเรียนด้วยเจตนาสุจริต ไม่เป็นความผิด

ลูกจ้างชาวพม่า 14 คนที่เคยทำงานให้กับฟาร์มเลี้ยงไก่ 'ธรรมเกษตร' จังหวัดลพบุรี เดินทางไปศาลแขวงดอนเมือง วันนี้ (11 ก.ค.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MRWN) เพื่อรับฟังคำพิพากษาคดีที่ฟาร์มธรรมเกษตรเป็นฝ่ายโจทก์ยื่นฟ้องลูกจ้างทั้งหมดข้อหาหมิ่นประมาท ใช้ข้อความอันเป็นเท็จ ในการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และฟ้องคดีต่อศาลแรงงานเมื่อปี 2559 ว่าสภาพการจ้างงานในฟาร์มไก่ฯ ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายแรงงาน และมีการละเมิดสิทธิแรงงาน

การพิจารณาคดีดังกล่าวมีตัวแทนจากสถานทูตต่างๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ ทั้งจากฟินแลนด์ เดนมาร์ก เบลเยี่ยม สวีเดน และสหประชาชาติ ขณะที่ศาลพิพากษา 'ยกฟ้อง' โดยระบุว่า จำเลยร้องเรียนด้วยเจตนาสุจริต เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพส่วนได้เสียของตน รับฟังไม่ได้ว่า ใช้ข้อความอันเป็นเท็จ จึงไม่เป็นความผิด

ขณะที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เผยรายละเอียดในคดีดังกล่าว โดยระบุว่า ลูกจ้างชาวพม่าทั้ง 14 คน ร้องเรียนต่อเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กรณีสภาพการจ้างงานในฟาร์มไก่ธรรมเกษตรไม่เป็นไปตามกฎหมายแรงงาน และมีการละเมิดสิทธิแรงงาน รวมถึงมีการยื่นคำร้องต่อสำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้เข้ามาตรวจสอบ

แรงงานชาวพม่ากล่าวว่า พวกเขาต้องทำงานวันละ 20 ชั่วโมงตั้งแต่ 07.00-17.00 น. และทำงานล่วงเวลาตั้งแต่ 19.00-05.00 น. รวมถึงต้องนอนในเล้าไก่ข้ามคืน ไม่มีวันหยุดประจำปีหรือวันหยุดตามประเพณี ได้ค่าจ้างเพียงวันละ 230 บาท ถูกยึดใบอนุญาตทำงานและหนังสือเดินทาง โดยอ้างว่าจะดูแลเรื่องการต่ออายุให้ และได้ออกจากฟาร์มเพียงสัปดาห์ละสองชั่วโมง แต่จะต้องอยู่ในการควบคุมของผู้แทนนายจ้าง ซึ่งการออกจากฟาร์มจะต้องขออนุญาตทุกครั้ง

AFP-ฟาร์มไก่-ไก่-ปศุสัตว์

หลังการร้องเรียนและมีการเจรจากัน ฟาร์มไก่ยอมจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาย้อนหลังส่วนหนึ่งให้กับกลุ่มแรงงาน แต่แรงงานไม่รับและตัดสินใจลาออกจากฟาร์ม ยื่นคำร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อ 7 ก.ค. 2559 และฟ้องคดีต่อศาลแรงงานให้ฟาร์มไก่จ่ายค่าเสียหายในจำนวนมากกว่านั้น ขณะที่การเปิดเผยข้อร้องเรียนของแรงงานก็ทำให้คู่ค้าที่เคยรับซื้อไก่เลิกรับซื้อจากฟาร์มของธรรมเกษตร ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย

ฝ่ายนายจ้าง เจ้าของฟาร์มไก่ ระบุว่าข้อกล่าวหาต่อฟาร์มไก่ที่ปรากฏออกไปยังสื่อต่างชาติเป็นเรื่อง 'เกินจริง' และยืนยันว่าแรงงานมีโอกาสได้พักผ่อนตามสมควร แม้ในช่วงที่ไม่มีไก่ในฟาร์มและไม่มีงานให้ทำ แต่แรงงานยังได้รับค่าจ้างอยู่ ไม่มีการยึดหนังสือเดินทาง แรงงานสามารถขอลากลับบ้านก็ได้ หรือเดินทางออกไปนอกฟาร์มก็ได้โดยนายจ้างไม่ได้กักขังหน่วงเหนี่ยวไว้ จึงทำให้ฝ่ายนายจ้างตัดสินใจใช้เครื่องมือทางศาล และการฟ้องคดีหมิ่นประมาทเพื่อเป็นโอกาสพิสูจน์ตัวเอง

ขณะที่ผู้พิพากษาศาลแขวงดอนเมือง พิพากษาให้ยกฟ้องในวันนี้ โดยยืนตามที่ศาลแรงงานเคยมีคำพิพากษาให้ทางโจทก์จ่ายค่าจ้างเพิ่มให้แก่จำเลยทั้ง 14 คน และเห็นว่า จำเลยมีเจตนาสุจริต ไม่มีเจตนาใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย

แม้กรรมการสิทธิฯ จะบอกว่า กรณีนี้ไม่ใช่การละเมิดสิทธิ ไม่ใช่การบังคับใช้แรงงาน แต่กรรมการสิทธิฯ ก็บอกว่า มีการละเมิดสิทธิแรงงานเกิดขึ้น จึงเชื่อว่า จำเลยมีเจตนาสุจริต เพื่อความชอบธรรม ป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 329 (1) ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: