'คิมูระ' วัย 22 ปี เผชิญการถูกโจมตีด้วยความคิดเห็นแสดงความเกลียดชังบนโลกออนไลน์เรื่องรูปลักษณ์ บุคลิกและบทบาทในรายการหลังปรากฏตัวในเรียลลิตี้โชว์ '"Terrace House" ทางเน็ตฟลิกซ์ โดยเธอถูกพบหมดสติที่บ้านพักในกรุงโตเกียวก่อนจะได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุด 'ซานาเอะ ทาคาอิชิ' รัฐมนตรีกระทรวงสื่อสารของญี่ปุ่นเผยว่า จำเป็นที่จะต้องใช้แนวทางอย่างเหมาะสมในการเปิดเผยข้อมูลของผู้ส่งข้อความเพื่อควบคุมการกลั่นแกล้งทางออนไลน์และช่วยเหยื่อที่ถูกโจมตี โดยรัฐบาลจะพิจารณาขอให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเปิดเผยข้อมูลที่รวมถึงหมายเลขโทรศัพท์เมื่อผู้ตกเป็นเป้าโจมตีร้องขอ รัฐบาลตั้งใจปรับปรุงแก้ไขกฎหมายด้วยความรวดเร็วเพื่อลดความซับซ้อนของระเบียบการต่างๆ ในการระบุตัวบุคคลที่โพสต์ข้อความออนไลน์ในเชิงดูหมิ่นทำให้เสื่อมเสีย โดยตั้งเป้าประมวลร่างกฎหมายให้ได้ภายในสิ้นปีนี้
ด้านกลุ่มผู้ให้บริการโซเชียลเน็ตเวิร์ค 17 แห่ง ที่รวมถึงสาขาของเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์ในญี่ปุ่น รวมถึงผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสนทนาอย่างไลน์ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมระบุว่า จะเคารพเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่และปกป้องความลับของการสื่อสาร แต่ในแถลงการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวก็ระบุว่า การเปิดเผยข้อมูลควรเป็นไปอย่างเหมาะสมตามกฎหมาย หากผู้เสียหายต้องการให้มีการระบุตัวตนผู้โพสต์ข้อความโจมตี
ปัจจุบันญี่ปุ่นมีกฎหมายต่อต้านการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์อยู่แล้ว โดยกฎหมายดังกล่าวอนุญาตให้ผู้ถูกโจมตีขอผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเปิดเผยข้อมูลของผู้ส่งข้อความและชดใช้ค่าเสียหาย แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่ากฎหมายนี้ไม่เข้มงวด ไม่ทันสมัย และให้การคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรมค่อนข้างน้อย โดยกฎหมายระบุว่าหากพบโพสต์ออนไลน์ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ผู้ให้บริการสามารถลบโพสต์ดังกล่าวได้ ผู้ที่ตกเป็นเป้าโจมตีสามารถร้องขอโดยตรงต่อผู้ให้บริการเพื่อเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้โพสต์ข้อความเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย แต่ในหลายกรณีผู้ส่งข้อความเหล่านั้นไม่ได้ถูกระบุตัวตน โดยผู้ให้บริการระบุว่าไม่เห็นความชัดเจนในการละเมิดสิทธิมนุษยชน
จำนวนเหยื่อถูกกลั่นแกล้งออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเนื่องจากการใช้สมาร์ทโฟนแพร่หลายมากขึ้น ศูนย์ให้คำปรึกษาที่กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นตั้งขึ้นได้รับรายงานการกลั่นแกล้งออนไลน์ประมาณ 5,000 กรณีในปีงบประมาณ 2562 ที่สิ้นสุดเมื่อเดือนมี.ค. เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2553 ถึง 4 เท่าตัว โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของกระทรวงได้หารือถึงวิธีการทบทวนระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันตั้งแต่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงประเด็นการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ของผู้โพสต์ข้อความ เพิ่มเติมจากการเปิดเผยชื่อ
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางส่วนกังวลว่า ขั้นตอนที่ง่ายขึ้นในการระบุตัวตนผู้โพสต์ความเห็นเชิงหมิ่นประมาทอาจเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยเรียกร้องให้มีการอภิปรายอย่างสมดุลรอบด้านในการร่างระเบียบใหม่ พร้อมกับการชั่งน้ำหนักอย่างระมัดระวังว่าจะทำให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหนือไม่
การเสียชีวิตของคนดังที่นำไปสู่การผลักดันทบทวนแก้ไขกฎหมายต่อต้านการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเกาหลีใต้ หลังการเสียชีวิตของศิลปินเคป็อปอย่าง 'ซอลลี' และ 'คูฮารา' เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งถูกสันนิษฐานว่าเป็นการฆ่าตัวตายเช่นกัน โดยซอลลีถือเป็นศิลปินไม่กี่คนในวงการเคป็อปที่ออกมาเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาถึงปัญหาสุขภาพจิตของตัวเอง รวมถึงการต่อสู้กับข่าวลือและความเห็นบนโลกออนไลน์ที่แสดงความมุ่งร้าย เพียง 1 สัปดาห์หลังการเสียชีวิตของซอลลีเมื่อเดือนต.ค. ปีที่แล้ว 'ปาร์ค แดชอล' สมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้ก็ออกมาบอกว่านี่เป็นเหตุการณ์ "ฆาตรกรรมด้วยปลายนิ้วผ่านแป้นคีย์บอร์ด" โดยยังเป็นผู้นำสมาชิกรัฐสภาอีกจำนวนหนึ่งเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาการกลั่นแกล้งออนไลน์ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวยังคงค้างอยู่ในรัฐสภา แต่ข้อถกเถียงนี้ก็ทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์ยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้ต้องจำกัดการแสดงความคิดเห็นของผู้อ่านบนข่าวเซเลบริตี้
แต่ 'อี จุนอึง' ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและการสื่อแห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลมองว่า แม้วาทกรรมเกลียดชังบนโลกออนไลน์ได้กลายเป็นปัญหา แต่คำถามคือจะควบคุมอย่างไรและจุดไหนที่ข้อห้ามเหล่านั้นจะกลายเป็นการเซ็นเซอร์ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น โดยเขามองว่าความเห็นเกลียดชังต่อเซเลบริตี้หญิงมาจากวัฒนธรรมเกลียดชังผู้หญิงในสังคมที่กว้างกว่านั้น หากแก้ปัญหาหลักนี้ไม่ได้ ความเกลียดชังบนโลกออนไลน์ที่นำไปสู่การเสียชีวิตของซอลลีก็จะยังอยู่บนโซเชียลมีเดียและโลกอินเทอร์เน็ต
อ้างอิง Kyodo News / The Washington Post / Variety