วันนี้ (17 มี.ค.) ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย กล่าวถึง ปฏิกิริยาที่มีต่อนโยบาย 'ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท' ของพรรคเพื่อไทย ว่า มีทั้งประชาชนที่ตื่นตัว อยากเข้าถึงนโยบาย ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย ก็จะเป็นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้เราเชื่อมั่นในประสบการณ์และเกียรติประวัติของพรรคเพื่อไทย ว่าสามารถทำนโยบายให้ปรากฎชัดเจนเป็นรูปธรรม พลเอกประยุทธ์อาจไปเทียบเคียงกับพรรคที่เคยเป็นแคนดิเดตนายกฯ ที่อาจจะทำนโยบายไม่สำเร็จ ยืนยันว่าไม่ใช่แนวทางของพรรคเพื่อไทย ส่วนพลเอกประยุทธ์ มีหน้าที่กลับไปดูว่านโยบายใดที่ประกาศแล้วทำสำเร็จ และนโยบายใดที่ประกาศในนามพรรคการเมืองใหม่ อาจจะทำไม่ได้อีก
“ธนกร วังบุญคงชนะ บอกว่า สุดท้ายแล้วประชาชนจะเลือกลุงตู่ เหมือนเช่นที่เคยเลือกความสงบจบที่ลุงตู่ แต่ตนเชื่อว่าตอนนี้ประชาชนเข็ดแล้ว เลือกความเป็นอยู่ ลุงตู่พอแล้ว ความสงบก็ไม่มี ความเป็นอยู่ยิ่งวิกฤต ไม่มีอะไรดีไปกว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เอาพรรคการเมืองอีกฝ่ายเข้าไปทำหน้าที่ เช่นพรรคเพื่อไทย ส่วนการพยายามให้มีการตรวจสอบนโยบายพรรคเพื่อไทย ฝ่ายกฎหมายเราได้ยืนยันแล้วว่าทุกนโยบายผ่านการกระบวนการคิดมาโดยละเอียดรอบคอบ เราเชื่อมั่นว่าทุกการชี้แจงจะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น ทุกนโยบายพรรคจะเกิดขึ้นได้ตามที่ประกาศไว้” ณัฐวุฒิ กล่าว
ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ยังกล่าวถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา หลังจากที่ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ได้นำทีมลงพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ต่างทำหน้าที่ในเขตเลือกตั้งของตัวเองอย่างเข้มแข็ง ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ พรรคเพื่อไทยจึงเดินหน้าลงพื้นที่หาเสียง พบปะพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง
เริ่มที่จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น และอุดรธานี ระหว่างวันที่ 18-19 เมษายน 2566 นำทีมโดย เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย นพดล ปัทมะ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย อดิศร เพียงเกษ อดีตโฆษกผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฏร
โดยวันที่ 18 เมษายน 2566 เวลา 09.30 น. เปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่โรงเรียนจันทรุเบกษา อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด หลังจากนั้น ในเวลา 12:15 น.เปิดเวทีปราศรัยใหญ่ที่สาเกต ฮอลล์ อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนจะเดินทางไปเปิดเวทีปราศรัยที่สวนสุขภาพข้างที่ว่าการ อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ในเวลา 14.30 น.
และในเวลา 16.00 น. เปิดเวทีปราศรัยที่สนามกีฬากลาง โรงเรียนวังมนวิทยาคาร อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งนี้ จังหวัดร้อยเอ็ดและกาฬสินธุ์ ถือเป็นพื้นที่ภาคอีสานที่มีฐานเสียงของพรรคเพื่อไทยที่เข้มแข็งมาอย่างยาวนาน เชื่อว่าพี่น้องประชาชนจะให้การตอบรับจำนวนมากเช่นเคย หลังจากนั้นจะเดินทางไปจังหวัดขอนแก่น ร่วมเดินตลาดต้นตาล อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในเวลา 19:00 น.
ส่วนในวันพุธที่ 19 เมษายน 2566 จะเปิดเวทีปราศรัยที่ลานตลาดนัดน้ำพอง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ในเวลา 10.30 น. จากนั้นจะไปพบปะผู้ประกอบการปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมไก่ย่างเขาสวนกวาง ณ มูลนิธิเจริญเชื้อ เพื่อสื่อสารนโยบาย เสนอแนวทางแก้ปัญหา และรับฟังข้อเสนอของผู้ประกอบการ ในเวลา 13.15 น.
ส่วนเวลา 15.00 น. จะเดินทางไปพบปะนักธุรกิจ พูดคุยประเด็นการยกระดับภาคอุตสาหกรรม และการขนส่งสินค้า พร้อมดูเส้นทางการสร้างรถไฟความเร็วสูง ณ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ซึ่งการสร้างรถไฟความเร็วสูงถือเป็นนโยบายเดิมของพรรคเพื่อไทยก่อนการรัฐประหาร จากนั้น เวลา 17.00 น. ขึ้นรถแห่พบปะพี่น้องประชาชน อ.เมือง จ.อุดรธานี ก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ
ณัฐวุฒิ ย้ำว่่าตั้งแต่หลังสงกรานต์ พรรคเพื่อไทยจะมีภารกิจเวทีปราศรัยต่อเนื่องกันทุกวัน โดยจะปรับรูปแบบและยุทธวิธีไปสู่การลงคะแนนในช่วงโค้งสุดท้าย ในการปราศรัยบางเวที จะมีแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ร่วมปราศรัยผ่านระบบออนไลน์ด้วย
เช่น เวทีร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ เพื่อจะได้พูดคุยและสื่อสารนโยบายให้ประชาชน ส่วนแกนนำคนอื่นๆ จะมีการลงพื้นที่เช่นกัน เช่น วันที่ 18-20 เมษายน 2566 ทีมสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำพรรคเพื่อไทย ลงภาคใต้ ในจังหวัดตรัง นครศรีธรรมราช สงขลา
วันที่ 19 เมษายน 2566 จาตุรนต์ ฉายแสง กรรมการยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย จะลงพื้นที่ฉะเชิงเทรา และพื้นที่อื่นๆ ในภาคกลาง สุทิน คลังแสง รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำทีมในภาคอีสาน เป็นต้น แสดงให้เห็นถึงทุกองคาพยพของพรรคเพื่อไทยต่างลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนในทุกภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
ณัฐวุฒิ กล่าวด้วยว่า เมื่อกลับมากรุงเทพฯ จะมีการปราศรัยต่อในวันที่ 20 เมษายน 2566 ในพื้นที่เขตคันนายาว และในวันที่ 21 เมษายน 2566 จะกลับไปอีสาน ที่จังหวัดหนองคาย และจังหวัดเลยในวันที่ 22 เมษายน 2566 ส่วนที่จังหวัดเพชรบูรณ์และสุโขทัย
ในวันที่ 23 เมษายน 2566 จังหวัดปทุมธานี, ในวันที่ 24 เมษายน 2566 เวทีปราศรัยในพื้นที่กรุงเทพฯ ย่านสะพานพระราม 8 , ส่วนวันที่ 25-27 เมษายน จะลงใต้ ไปจังหวัดภูเก็ต พังงา สงขลา นครศรีธรรมราช และในวันที่ 28 เมษายน 2566 จะกลับมาที่กรุงเทพฯ เขตดินแดง ห้วยขวาง ในวันที่ 29 เมษายน ไปจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และในวันที่ 30 เมษายน 2566 ไปที่จังหวัดบุรีรัมย์
ทั้งนี้ในแต่ละวันขึ้นอยู่กับการเตรียมการ ที่จะมี 3-4 เวทีต่อวัน แต่ละเวทีจะมีแพทองธาร พบปะประชาชนผ่านระบบออนไลน์ และจะพยายามพบปะพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด กำหนดการอาจเปลี่ยนแปลง ขึ้นกับสถานการณ์ที่กองอำนวยการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยจะพิจารณา
ตรีชฎา ศรีธาดา รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ ทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้ข่าวพาดพิงนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เดินหน้าหาตลาดใหม่ว่าเป็นการบิดเบือนซ้ำซาก และเป็นผู้นำที่มาก่อนกาลนั้น
ทิพานัน คงมองข้ามข้อเท็จจริงว่า นายเศรษฐาเป็นนักธุรกิจ นักประชาธิปไตย รังเกียจการรัฐประหาร การพูดบนเวทีปราศรัยและการให้สัมภาษณ์ทุกครั้งมีความชัดเจน แสดงให้เห็นถึงความรู้ความสามารถในการบริหารองค์กรธุรกิจจนประสบความสำเร็จ การเปิดนโยบายดิจิทัล วอลเลต สำหรับคนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจับจ่ายในชุมชน รัศมีจากที่อยู่ตามบัตรประชาชนไม่เกิน 4 กิโลเมตร ภายใน 6 เดือน ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างกว้างขวาง
ซึ่งการกล่าวยกย่องเชิดชูพลเอกประยุทธ์ ว่าเป็นผู้นำที่มาก่อนกาล คงจะจริง เพราะพลเอกประยุทธ์สร้างชื่อเสียงให้คนรู้จักในนามหัวหน้าคณะรัฐประหาร ทำการยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในปี 2557 อยู่มานาน 9 ปี และยังคิดจะอยู่ต่อด้วยกลไก ส.ว.โหวตนายกรัฐมนตรี ตลอด 9 ปี ได้ยินแต่เสียงของนางสาวทิพานันที่สรรเสริญเยินยอพลเอกประยุทธ์ ตรงกันข้ามกับประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่มองว่าพลเอกประยุทธ์เป็นคนทำให้เวลาและโอกาสของประชาชนสูญหายมากกว่า
ตรีชฎา กล่าวทิ้งท้ายว่า ทิพานันควรจะไปหาสิ่งที่เป็นผลงานเด็ดๆของพลเอกประยุทธ์ ที่ประชาชนประทับใจและจดจำได้มาหาเสียงดีกว่า การย้ายพรรคแล้วนำเอาผลงานพรรคเดิมมาหาเสียง แต่นโยบายที่หาเสียงแล้วไม่ได้ทำ กลับทิ้งกลบไว้ให้พรรคการเมืองเดิมที่ตัวเองเคยสังกัดอยู่ ทิ้งความรับผิดชอบแบบนี้คงไม่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำประเทศอีก เพราะประชาชนคงไม่ให้โอกาส ทั้งการปฏิรูปหลายด้านที่ล้มเหลว ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ไม่ทันการณ์ และอีกหลายเรื่องที่ประชาชนจดจำและคงไม่ให้โอกาสอีก
“สิ่งที่จะจารึกประวัติศาสตร์ของพลเอกประยุทธ์ คือนายกรัฐมนตรี ที่เดินตลาด อ.ต.ก. หาเสียง แต่โดนประชาชนตะโกนต่อว่านโยบายหาเสียงไว้ ทำไม่ได้จริง ทิ้งภาระให้ประชาชน พืชผลการเกษตรตกต่ำ เหตุใดจึงยังภาคภูมิใจได้” ตรีชฎา ทิ้งท้าย