ไม่พบผลการค้นหา
'หน่อไม้' แตกหน่อ 'กองทุน' แตกจิตวิญญาณ ส่องวิถีชีวิตชุมชนกะเหรี่ยงชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ นำร่องการทำไร่หมุนเวียน เปิดกองทุนขับเคลื่อนปากท้องและผืนป่า

บนเส้นทางคดเคี้ยวลัดเลาะตามทิวเขา ที่ปกคลุมดินแดนแห่งจิตวิญญาณของชุมชนกะเหรี่ยงชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านกลาง ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เปรียบดั่งอ้อมกอดของธรรมชาติพื้นที่กว่าหมื่นไร่ ที่ชาวบ้านแห่งนี้หวงแหนและคอยปกป้องต่อสู้เพื่อผืนแผ่นดินที่พวกเขาอาศัยมานับ 300 ปี 

"เราเชื่อว่าพื้นที่กว่าหมื่นไร่ อุทยานไม่มีปัญญาดูแลได้ครอบคลุมแน่นอน" สมชาติ หละแหลม หรือ พ่อหลวงสมชาติ ผู้ใหญ่บ้านคนปัจุบัน ได้บอกเล่าเรื่องราวบนผืนป่าแห่งนี้ โดยพ่อหลวงสมชาติ เล่าว่าตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา พวกเขาไม่ได้ต่อสู้เฉพาะเรื่องที่ดิน แต่ยังเรียกร้องเรื่องวัฒนธรรมวิถีชีวิตในการดำรง ดังคำว่า "คนอยู่กับป่า"


_MG_8817.jpg

(พ่อหลวงสมชาติ)

พ่อหลวงสมชาติ ย้ำให้เห็นความสำคัญของพื้นที่แห่งนี้ว่า การประกาศว่าเป็นดินแดนแห่งจิตวิญญาณนั้น หมายถึงการบอกเล่าว่าพวกเขานั้นถือกำเนิดบนผืนป่าแห่งนี้มาแล้วหลายร้อยปี โดยมีหลักฐานยืนยันว่าหมู่บ้านแห่งนี้ได้ก่อตั้งมา คือเอกสารในสมัยรัชกาลที่ 5 หรือแม้กระทั่งเหรียญที่ได้รับพระราชทาน ล้วนแต่เป็นหลักฐานที่ใช้ยืนยันได้ว่าบรรพบุรุษของพวกเขาได้มา ณ ที่แห่งนี้แล้ว เมื่อ 300 ปีที่แล้ว 

"ตราบใดที่เราไม่เรียกร้องให้มีการยอมรับ เราก็จะอยู่กับการถูกกล่าวหา เพราะป่าคือผู้ให้ชีวิตของพวกเรา" นั่นคือคำที่พ่อหลวงสมชาติ กล่าวถึงอุปสรรคในการส่งเสียงให้คนพื้นที่ลุ่มได้เข้าใจในปัญหา ที่ต้องย้อนกลับไปเมื่อพ.ศ. 2529 ที่มีการจัดตั้ง 'อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทย' กระทั่งพ.ศ. 2534 มีการเตรียมประกาศเพิ่มพื้นที่อุทยาน ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงก็จะทำให้ 51 ชุมชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ 

ในส่วนของหมู่บ้านกลางนั้น พวกเขาไม่ได้เพียงแต่เรียกร้องสิทธิในที่ดินพื้นที่ 16,000 ไร่ แต่ยังเรียกร้องสิทธิในการดูแลผืนป่า ที่พวกเขาทำหน้าที่ปกป้องการเข้ามาหาผลประโยชน์ในผืนป่าแห่งนี้ โดยพ่อหลวงสมชาติ ยืนยันว่าที่ผ่านมามีนายทุนเข้ามาหาผลประโยชน์ แต่ทางอุทยานไม่เคยใส่ใจ แม้ว่าพื้นที่ตรงนั้นจะอยู่ใกล้เคียงกับเขตอุทยานก็ตาม ทำให้ชาวบ้านต้องรวมกลุ่มกันเพื่อต่อสู้กับกลุ่มนายทุน 

ซึ่งไทม์ไลน์ในการลุกขึ้นต่อสู้ กลุ่มชาวบ้านได้เริ่มตั้งแต่ปี 2538 จนถึงในปัจุบัน แม้ว่าจะผ่านมาแล้วหลายรัฐบาลทั้งหน้าใหม่หน้าเก่าสิ่งที่พวกเขาเสนอไปกลับไม่มีเสียงตอบรับ กลุ่มชาวบ้านจึงได้มีการกำหนดกฎระเบียบในการจัดการที่ดินโดยชุมชน

อาทิ ไม่ขยายออกนอกเขตที่ชุมชนสำรวจร่วมกันและไม่รุกป่าเพิ่ม ไม่เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ - ระบบการผลิตในไร่หมุนเวียนเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ห้ามคนนอกเข้ามาเช่าที่ดินทำกิน ไม่ใช้สารเคมีที่มีผลกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการไม่ขายที่ดินให้คนภายนอกชุมชน


_MG_8731.jpg

เพราะนับตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 ตามนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ผืนป่าแห่งจิตวิญญาณของพวกเขา ก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครองแต่อย่างใด ชาวบ้านจึงมีข้อเสนอว่า ให้อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทยกันพื้นที่แห่งจิตวิญญาณออกแนวเขตเตรียมประกาศของอุทยาน และนำมติครม.ปี2553 มาแก้ปัญหาและรับรองสิทธิชุมชนที่ถูกต้องตามกฎหมาย

(2)

'หน่อไม้' ที่ผุดขึ้นตามเชิงเขาบนผืนป่าแห่งนี้ในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี ได้กลายเป็นผลผลิตจากระบบนิเวศ ที่คอยขับเคลื่อนเลี้ยงปากท้องและผืนป่า โมเดลการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ที่มีประมาณ 296 ครัวเรือน ถูกนำมาใช้ในนามของ 'กองทุนหน่อไม้' สืบเนื่องจากคนในชุมชนประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ หารายได้จากการเก็บหน่อไม้เป็นหลัก

"เราจะเก็บเงินเข้ากองทุน เดือนละ 1 ครั้ง ถ้าวันนั้นใครขายได้เท่าไหร่ ก็หักค่าเดินทางและนำส่วนที่เหลือเข้ากองทุน" พ่อหลวงสมชาติ เล่าถึงรูปแบบการจัดการกองทุน พร้อมโชว์บัญชีที่บันทึกรายละเอียดของการจ่ายเงินของแต่ละบุคคลไว้เพื่อเป็นหลักฐาน ซึ่งกองทุนนี้ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2538


_MG_8824.jpg

โดยแต่ละปีจะเก็บในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. เพื่อนำเงินไว้ใช่จ่ายภายในชุมชน โดยเฉพาะการจัดทำ 'แนวกั้นไฟป่า' โดยปีนี้เก็บเงินได้ราว 50,000 บาท ซึ่งแต่ละปีก็ขึ้นอยู่กับราคาท้องตลาด

ขณะบางส่วนอาจไม่มีรายได้ในการเก็บหน่อไม้ก็ต้องนำเงินเข้ากองทุนเช่นเดียวกัน เพราะถือว่าใช้ทรัพยากรจากป่าร่วมกัน อาจจะหักอย่างน้อย10 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ เพื่อสมทบเงินกองทุนนี้มาดูแลปกป้องรักษาผืนป่าและพัฒนาชุมชนในคราวเดียวกัน

(3)

'ไร่หมุนเวียน' พื้นที่ 2,000 ไร่ ที่อยู่ตามแนวภูเขาที่ชาวบ้านต่างปรับแต่งให้กลายเป็นพื้นที่ทำกิน ใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกเพื่ออยู่อาศัยในครัวเรือน โดยการเพาะปลูกแต่ละครั้งนั้น จะใช้พื้นที่ไม่ถึง100 ไร่ เฉลี่ยแล้วตกครัวเรือนละ 5 ไร่

"ผลผลิตจากไร่หมุนเวียน ไม่ได้ทำเพื่อหารายได้ แต่ปลูกเพื่อนำมาประกอบอาหารในครัวเรือน" ถาวร หละแหลม ชายผู้มีศักดิ์เป็นญาติของพ่อหลวงสมชาติ ได้บอกถึงแนวทางการจัดสรรของไร่หมุนเวียน 


_MG_8808.jpg

แน่นอนว่าเมื่อมองไปรอบบริเวณดังกล่าว แทบไม่เห็นภาพ 'ภูเขาหัวโล้น' ที่มักปรากฎออกสื่อในพื้นที่ต่างๆของภาคเหนือ เพราะว่าชุมชนบ้านกลาง มีการออกแบบวิธีการและเข้าใจเข้าถึงระบบนิเวศ

ดังที่่ 'ดร.จตุพร เทียรมา' อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส.) กล่าวเสริมว่า พ่อหลวงสมชาติและชาวบ้าน มีความเข้าใจในระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนในชุมชน พร้อมยกตัวอย่างองค์ประกอบให้เราได้เห็นภาพมากขึ้น ว่าองค์ประกอบระบบนิเวศนั้นประกอบไปด้วย ด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ โครงสร้างของระบบนิเวศ และหน้าที่ของระบบนิเวศ 

เมื่อถึงคราวลงพื้นที่ทุ่งนาของชาวบ้านที่ถูกโอบล้อมจากภูเขา ทำให้เข้าใจได้ว่าชาวบ้านมองเห็นคุณค่าของ 'การให้บริการ' ของระบบนิเวศ ซึ่งคนในพื้นที่ลุ่มมักจะมองต่างจากคนบนดอย ยกตัวอย่างเช่นการสร้างน้ำดื่มที่สะอาดจากต้นน้ำในลำเนาไพรนั้น พบว่ามีแร่ที่เ��็นประโยชน์ไม่ต่างจากสินค้าตามท้องตลาด

"ในระบบนิเวศของธรรมชาติ ล้วนสร้างโรงงานชั้นดีอยู่ทุกที่ในผืนป่า" อาจารย์จตุพร กล่าวถึงบทบาทของการให้บริการของระบบนิเวศ นอกเหนือจากนี้เรามักจะได้ยินคำว่าเผาป่าทำให้เกิดก๊าซส่งผลให้โลกร้อน หากมีความเข้าใจในระบบจะพบว่ามันเป็นไปไม่ได้เลย สมมติว่าเรามีพื้นที่ 2,000 ไร่ เราเผาไป 100 ไร่ ที่เหลืออีก1,900 ไร่ ก็จะทำหน้าที่ดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว 

"หากเข้าใจและจัดการถูกขั้นตอน ระบบนิเวศ จะหมุนเวียนสร้างประโยชน์ให้กับผู้ดูแลผืนป่าอยู่เสมอ" อาจารย์จากแดนอีสานกล่าว โดยสรุป


46084891_2047207711997906_450947445543665664_n.jpg

(4)

"ข้าวห่อบนดอย" ที่วัตถุดิบต่างๆล้วนถูกผลิตจากผืนป่าแห่งนี้ หมูปิ้งที่ถูกคลุกเคล้าด้วยมะแขว่นพืชพันธุ์ที่มีกลิ่นเฉพาะตัว ข้าวเหนียวดำที่ถูกปลูกบนพื้นที่ พร้อมด้วยน้ำพริกกินแกล้มกับผักต้มที่นำจากไร่หมุนเวียน กลายเป็นอาหารมื้อเที่ยงที่สร้างสัมพันธ์กันระหว่างกลุ่มชาวบ้านและภาคประชาสังคม รวมถึงสื่อมวลชนที่ได้ร่วมตะลุยลงพื้นที่ในครั้งนี้


_MG_8860.jpg

เมื่อทุกคนอิ่มท้องก็คงถึงเวลาก็ต้องจำจากกัน เหล่าคณะสื่อมวลชนจากหลายสำนักที่มาร่วมลงพื้นที่กับมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ และภาคประชาสังคม ต่างกล่าวอำลาพี่น้องชุมชนบ้านกลาง เพื่อกลับเข้าสู่เมืองตามวิถีทางของตน 

ส่วนพี่น้องชาวกะเหรี่ยงชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ แห่งชุมชนบ้านกลางยังคงดำเนินชีวิตและต่อสู้เพื่อลูกหลานของพวกเขาต่อไป บนพื้นที่แห่งนี้ ที่ขนานนามว่า 'ดินแดนแห่งจิตวิญญาณ'

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog