จากกรณีเมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา ครูโรงเรียนอนุบาลปัตตานีบางราย นัดหยุดการเรียนการสอน พร้อมทั้งปิดห้องเรียน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการคลุมฮีญาบ มาเรียนหนังสือของเด็กนักเรียน โดยอ้างว่า พื้นที่ของโรงเรียนเป็นพื้นที่ธรณีสงฆ์ ไม่เหมาะสมกับการคลุมฮีญาบ จนทำให้ผู้ปกครองรวมตัวกันเรียกร้องให้ทางโรงเรียนอนุญาตให้เด็กสามารถคลุมฮีญาบเข้าเรียนได้เหมือนโรงเรียนอื่นๆ
ต่อมานายประจักษ์ ชูศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลปัตตานี พร้อมด้วย นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี คณะสงฆ์ และผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 15 ท่าน ได้ร่วมกันประชุมเพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ผลปรากฎว่าเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยในการแก้ระเบียบให้นักเรียนมุสลิมสามารถแต่งกายตามแบบอย่างศาสนาอิสลามได้ เพราะต้องมีการแก้กฎข้อระเบียบหลายอย่าง โดยที่ประชุมไม่อนุญาตให้นักเรียนคลุมฮีญาบ ยืนยันให้นักเรียนแต่งกายตามแบบที่โรงเรียนกำหนด
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (19พ.ค.61) นายแวดือราแม ได้อ่านแถลงการณ์ ขอลาออกจากการเป็นคณะกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนอนุบาลปัตตานี เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการที่โรงเรียนอนุบาลปัตตานี ไม่อนุญาตให้เด็กนักเรียนมุสลิมแต่งกายตามแบบอย่างอิสลาม มาเรียนหนังสือได้ เนื่องจากเป็นการทำผิดหลักการของศาสนาอิสลาม
โดยคำแถลงการณ์ มีใจความว่า ข้าพเจ้านายแวดือราแม มะมิงจิ ในนามของคณะกรรมสถานศึกษาโรงเรียนอนุบาลปัตตานี วันนี้ขอลาออกจากคณะกรรมการ สถานศึกษาโรงเรียนอนุบาลปัตตานี เนื่องจากมติที่ประชุมคณะกรรมการ ไม่เห็นชอบให้นักเรียนมุสลิมแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลาม เป็นบทบัญญัติศาสนาอิสลาม กรณีที่ผมให้สัมภาษณ์นั้น หลายคนเข้าใจผิด ผมไม่อยากให้นำศาสนามาเป็นข้อขัดแย้ง เพราะบ้านเมืองกำลังต้องการความสมานฉันท์ และสงบสุขต่อไปตามนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี มีนโยบายที่ชัดเจนในการปกป้องและดำเนินงานเพื่อนำศาสนาอิสลามในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรมต่อไป
นายแวดือราแม ยืนยันว่าการลาออกในครั้งนี้ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับทางโรงเรียนที่ไม่ยินยอมให้เด็กนักเรียนคลุมฮีญาบมาเรียนหนังสือได้ เพราะเรื่องนี้ขัดหลักศาสนาอิสลาม และวิถีชีวิตของชาวมุสลิม ซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตามศาสนาที่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งตนเองในฐานะผู้นำศาสนาต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้ รับผิดชอบต่อสังคม รับผิดชอบต่อศาสนา โดยเฉพาะไม่อยากเห็นความแตกแยกทางด้านศาสนา อยากให้เกิดความสันติสุข ยิ่งในเดือนรอมฏอน ซึ่งเป็นเดือนที่สงบสุข ก็ไม่อยากให้ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา ซึ่งถึงแม้ว่าตนเองจะลาอกแล้วก็ตาม แต่ในฐานะของผู้นำองค์กรด้านศาสนา ก็จะร่วมประชุมปรึกษาหารือในหลายองค์กร เพื่อสร้างความเข้าใจ และหาวิถีการที่ดีที่สุด ไม่ให้กระทบกับทุกภาคส่วน ทั้งนี้ก็เพื่อให้พหุวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน อย่างสันติสุข จึงอยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจ และร่วมกันในหลายๆองค์กรในการแก้ปัญหา โดยเฉพาะหน่วยงาที่สำคัญ ๆ อย่างสำนักจุฬาราชมนตรี หรือสมาพันธ์ที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแก้ไขปัญหาเพื่อความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้นำศาสนายะลา ชี้ หากอ้างพื้นที่รร.อยู่ในที่ธรณีสงฆ์ ควรประกาศให้ชัดว่า ไม่รับนักเรียนมุสลิม
นายนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิ จังหวัดยะลา อดีตรองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า การจัดการศึกษาในพื้นที่สังคมพหุวัฒนธรรม สถานศึกษามีบทบาทหน้า บริการประชาชนในด้านการให้ความรู้ ความเข้าใจในวิชาการต่างๆ ตามหลักสูตร โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ทุกสถานศึกษา จะมีนโยบายวัตถุประสงค์เป้าหมาย กลยุทธ์ ในการที่จะได้มาซึ่งผู้เรียนให้มาเรียนในจำนวนมากที่สุด เท่าที่สามารถบริหารจัดการได้ ผู้บริหารสถานศึกษาจะต้องเป็นผู้มีภูมิความรู้ในสถานภาพการเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ต้องปราศจากอคติ มีความเป็นธรรม มุ่งมั่นความสามัคคี สร้างสมานฉันท์ การอยู่ร่วมกันฉันท์ญาติฉันท์มิตร ให้สรุปว่าเราเป็นพวกเดียวกัน กฎหมาย กฎเกณฑ์ ระเบียบแนวปฏิบัติใดๆ ที่บังคับสภาพสังคมในพื้นที่ ย่อมปรับปรุงแก้ไขได้ อยู่ที่เจตนาเป็นสำคัญ การแก้ไขปัญหาเชิงบวก คือผ่อนผัน ปรับปรุงแก้ไข กฎ เกณฑ์ กติกา ระเบียบสถานศึกษา เพื่อสนองผู้เรียนแม้จำนวนไม่มาก การแก้ไขปัญหาเชิงลบ คือให้ออก คัดออก ซึ่งง่าย แต่จะขาดสัมพันธไมตรี และเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีไม่งามในอนาคต
นายนิมุ มะกาเจ กล่าวอีกว่า ถ้าเป็นโรงเรียนในธรณีสงฆ์ และไม่สามารถยินยอมในเรื่องของกฎระเบียบที่ขัดกับหลักศาสนาอื่น ก็ควรที่ระบุคุณสมบัติของนักเรียนที่จะเข้ามาสมัครเรียนให้ชัดเจนว่า จะไม่รับนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลาม จะป้องกันปัญหาในเรื่องนี้ได้
Photo by Janko Ferlič on Unsplash