ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อเราส่งออกหัวใจบริการแบบชาวไทย ไปผสานกับชายทะเลสีฟ้าสดอันงดงามของมัลดีฟส์ ประชาชนจะได้อะไร?

ทันทีที่ก้าวลงจากเครื่องบิน รับกระเป๋า และเดินออกจากส่วนตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากรของประเทศมัลดีฟส์ นอกจากท้องทะเลสีฟ้าสดใสตัดกับทรายขาว เมฆและฟ้าครามกลางแสงแดดจ้าและต้นมะพร้าวเขียวเป็นทิว นักท่องเที่ยวชาวไทยที่มาเยือนเกาะสวรรค์บนดินแดนปะการังแห่งนี้จะได้พบกับร้านอาหารไม่ต่างจากในสนามบินของไทย ทั้งเดอะพิซซ่า คอมปะนี เบอร์เกอร์คิง และไทยเอ็กซ์เพรส พร้อมกับป้ายไมเนอร์กรุ๊ป จนอาจต้องขยี้ตาตัวเองว่า ที่นี่คือกรุงมาเล แห่งประเทศมัลดีฟส์ ไม่ใช่เกาะสมุยหรือเกาะลันตาบนทะเลไทย

ทุนไทยในมัลดีฟส์

ทุนไทยไปถึงมัลดีฟส์ได้อย่างไร?

ร้านอาหารเครือไมเนอร์ในเขตสนามบินนานาชาติแห่งเดียวของมัลดีฟส์ เป็นเพียงแค่ตัวอย่างของการสยายปีกเข้าลงทุนของทุนไทยในหมู่เกาะพักร้อนแสนงดงามแห่งนี้ โดยการเข้าลงทุนของนักลงทุนไทยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2008 เมื่อมัลดีฟส์ในสมัยของประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด นาชีด ปฏิรูปประเทศและโน้มน้าวให้ทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนสร้างโรงแรมรีสอร์ตได้ง่ายขึ้น


ผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวของไทย มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการก่อสร้างและบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวชายทะเล จึงเข้าไปลงทุนเปิดกิจการอย่างต่อเนื่อง


ทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออก (EXIM Bank) ของไทย กับธนาคารแห่งมัลดีฟส์ โดยกลุ่มทุนหลักได้แก่ ไมเนอร์กรุ๊ป (MINT) โดยเครือโรงแรมไมเนอร์ (Minor Hotel Group: MHG) เข้าไปก่อสร้างและเปิดอนันตารา เวลี รีสอร์ท แอนด์ สปา บนเกาะเวลี หมู่เกาะมาเลใต้ (South Male Atolls) และขยายการลงทุนในอีกหลายหมู่เกาะ

ส่วนเครือดุสิตธานี ก็เปิดดุสิตธานี มัลดีฟส์ บนเกาะดาราวันดู หมู่เกาะบาอา (Baa Atolls) และต่างประสบความสำเร็จอย่างยิ่งจนทำให้ผู้ประกอบการอื่นตามไปลงทุนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเครือเซ็นทารา อมารี บันยันทรี และล่าสุด สิงห์เอสเตตในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ ก็ได้เข้าซื้อกิจการรีสอร์ทหรูมูลค่ากว่า 311 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในชื่อ ครอสโรดส์ มัลดีฟส์ เพื่อพัฒนาและเปิดให้บริการภายในปี 2022

นอกจากผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมแล้ว ทุนไทยที่เข้าไปแสวงหาโอกาสการลงทุนในมัลดีฟส์ ยังมีกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เช่น SCG ส่งออกวัสดุก่อสร้างที่เหมาะกับพื้นที่ริมทะเล ทนต่อการกัดกร่อนของไอเกลือ ซึ่ง SCG มีประสบการณ์และพัฒนามาจากทะเลไทย กลุ่มผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่าง พฤกษา ที่ร่วมมือกับการเคหะมัลดีฟส์ (HDC) ก่อสร้างอพาร์ทเมนท์โลว์ไรส์โครงการ Coral Ville Hulhumale ขนาด 180 ห้อง เพื่อเป็นที่พักอาศัยบนเกาะที่ถมใหม่และขยายพื้นที่อยู่อาศัยที่เคยแออัดของชาวเมืองหลวง 


ยกทุนไทยไป...ใหญ่แค่ไหน

มูลค่าการลงทุนโดยตรงของไทยในมัลดีฟส์จนถึงปัจจุบัน คาดว่ามีมูลค่ารวมถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6,600 ล้านบาท โดยยังไม่ได้รวมโครงการล่าสุดของสิงห์เอสเตต) และมีการค้าระหว่างกันล่าสุด 120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3,960 ล้านบาท) โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามัลดีฟส์อยู่ประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สินค้าส่งออกหลักจากประเทศไทย ได้แก่ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ไม้ (โดยเฉพาะที่ใช้ในการก่อสร้างโรงแรมรีสอร์ท) อาหารสำเร็จรูป รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนสินค้าที่ไทยนำเข้าจากมัลดีฟส์ ได้แก่ ปลา (โดยเฉพาะปลาทูน่าครีบเหลืองที่ใช้ในอุตสาหกรรมปลากระป๋อง) อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว

ในส่วนของการท่องเที่ยวนั้น ถึงปี 2018 มีสายการบินที่บินตรงจากกรุงเทพฯ ไปถึงมัลดีฟส์ 3 สายการบิน คือ บางกอกแอร์เวย์ส แอร์เอเชีย และมัลดีเวียน แอร์ไลน์ส โดยส่วนหนึ่งของผู้โดยสารเป็นการต่อเครื่องจากประเทศจีน นักท่องเที่ยวชาวไทยที่ไปมัลดีฟส์มีประมาณ 40,000 คนต่อปี ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่านักท่องเที่ยวมัลดีฟส์ที่มาไทยประมาณ 100,000 คนต่อปี โดยเมื่อชาวมัลดีฟส์มายังประเทศไทยก็มักจะซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ จำนวนมากกลับมัลดีฟส์ไปด้วย


เมื่อไทยเข้ากันได้สนิทกับมัลดีฟส์

ลักษณะวัฒนธรรมของชาวมัลดีฟส์มีความใกล้เคียงกับภาคใต้ของไทยสูง ชาวมัลดีฟส์ส่วนมากใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารได้คล่องแคล่วจากการศึกษาขั้นพื้นฐานที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักซึ่งประธานาธิบดีคนแรกหลังประกาศเอกราชกำหนดนโยบายไว้

ทะเลมัลดีฟส์ใสสะอาดและมีฝูงปลา สัตว์ทะเล ชุกชุมเหมาะแก่การท่องเที่ยวชม เมื่อผู้ประกอบการไทยนำภูมิความรู้ที่สั่งสมจากภาคท่องเที่ยวไทยมายาวนานไปอบรม ทั้งวิธีการบริการ การจัดระบบทัวร์ การดูแลลูกค้า ลักษณะการก่อสร้างและตกแต่งรีสอร์ท การนวดสปาจนถึงฝีมือการปรุงอาหาร

ทุนไทยในมัลดีฟส์

นอกจากนี้ นักลงทุนไทยยังเข้าใจวิธีการเข้าหาช่องทางเพื่อให้ได้รับอนุญาตในการลงทุนสัมปทาน โดยส่วนมาก ทุนไทยที่เข้าไปมัลดีฟส์จะใช้วิธีร่วมลงทุนกับบริษัทท้องถิ่นในลักษณะนอมินี โดยจะได้รับสัมปทานในการใช้เกาะเป็นระยะเวลา 50 ปี ระบบรัฐการที่ยังมีอุปสรรคทางเอกสารและกฎระเบียบสูง จำเป็นต้องเข้าหาผู้มีอำนาจและเชิญมารับรองเลี้ยงดูปูเสื่อก่อนจะได้รับใบอนุญาต หากย้อนดูสภาพการเมืองของมัลดีฟส์ ก็แทบไม่ต่างกันกับประเทศไทยที่มีทั้งรัฐประหาร การประท้วง การจับกุมคุมขังนักโทษการเมือง การประกาศสภาวะฉุกเฉินและตุลาการภิวัฒน์ การรับมือกับสถานการณ์การเมืองดังกล่าวเป็นวิถีทางที่ทุนไทยคุ้นเคยและชำนาญเมื่อเทียบกับทุนตะวันตกหรือญี่ปุ่นที่มีมาตรฐานจริยธรรมบังคับรัดกุม

ความเข้ากันได้ของทุนไทยในประเทศมัลดีฟส์ก็ไม่ต่างจากการนำอาหารทะเลที่สดใหม่ มากมายและรุ่มรวยของมัลดีฟส์มาปรุงด้วยวิถีของอาหารไทย คือได้รสชาติจัดจ้านอร่อยลิ้นเป็นที่ชมชอบของนักท่องเที่ยว แต่ประชาชนมัลดีฟส์และประชาชนไทยจะได้อะไรกลับคืนมาบ้างนั้น คำตอบก็อาจจะอยู่กับสายลมและกระแสคลื่นที่ซัดกระทบหาดทรายบนชายฝั่งของทั้งสองประเทศท่องเที่ยวที่แสนจะคล้ายกัน

ทุนไทยในมัลดีฟส์

อ่านเพิ่มเติม: