โซเชียล โพรเกรส อิมเพอเรทีฟ หรือ 'เอสพีไอ' องค์กรไม่แสวงผลกำไรของสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมด้านการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนทั่วโลก เผยแพร่ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคมประจำปี 2017 เมื่อกลางปี 2017 ที่ผ่านมา โดยศึกษาและประเมินข้อมูลจาก 128 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ซึ่งดัชนีเอสพีไอระบุว่าไทยมีความก้าวหน้าทางสังคมติดอันดับ 62 ของโลกในปีนี้ แต่ตกจากอันดับ 61 เมื่อปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ถ้าดูคะแนนรวมที่ได้ในปีนี้ คือ 68.51 เต็ม 100 คะแนน จะพบว่าไทยทำคะแนนได้ดีขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งมีคะแนนรวม 67.43 จึงอาจเรียกได้ว่าไทยมีความก้าวหน้าทางสังคมโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่อาจจะน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน และการประเมินความก้าวหน้าของดัชนีเอสพีไอจะยึดหลักเกณฑ์ 3 ด้าน ได้แก่ การตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานของคนในสังคม (Basic Human Needs) ความอยู่ดีมีสุข (Foundation of Well Being) และโอกาสทางสังคมในด้านต่างๆ (Opportunity)
กลุ่มประเทศที่มีคะแนนรวมความก้าวหน้าทางสังคมใกล้เคียงกับไทยในปีนี้ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มก้าวหน้า 'ปานกลาง' ไปจนถึงค่อนข้างสูง รวม 15 ประเทศ ได้แก่ บราซิล บอตสวานา มอนเตเนโกร คอสตาริกา เลบานอน บัลแกเรีย เม็กซิโก อิหร่าน แอลจีเรีย อาเซอร์ไบจาน เซอร์เบีย เบลารุส โคลอมเบีย เซาท์แอฟริกา และจีน
เกณฑ์การประเมินความก้าวหน้าทั้ง 3 ด้านจะแบ่งพิจารณาหัวข้อย่อยๆ เพิ่มเติมไปอีก เช่น ประเด็น 'ความต้องการขั้นพื้นฐาน' จะดูจากข้อมูลของหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับภาวะโภชนาการของประชากร บริการสาธารณสุข การเข้าถึงน้ำประปาและสุขอนามัย คุณภาพและปริมาณของที่พักอาศัย และความปลอดภัยส่วนบุคคล
ส่วนประเด็นที่ 2 เป็นเรื่อง 'ความอยู่ดีมีสุข' พิจารณาจากการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ นโยบายส่งเสริมสุขภาพและสวัสดิภาพ รวมถึงคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ขณะที่ประเด็นที่ 3 เรื่อง 'โอกาสทางสังคม' พิจารณาจากสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในประเทศนั้นๆ ซึ่งรวมถึงสิทธิส่วนบุคคล ทางเลือกในการใช้ชีวิต การยอมรับความแตกต่างของคนในสังคม และการศึกษาภาคบังคับ
คะแนนรวมในปีนี้พบว่าไทยมีคะแนนสูงในประเด็น 'การตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐาน' คิดเป็น 82.12 คะแนน ส่วนประเด็นความอยู่ดีมีสุขก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเช่นกัน เพราะมีคะแนนรวม 74.12 เต็ม 100 คะแนน แต่ประเด็นที่มีคะแนนน้อยสุดคือ 'โอกาสในด้านต่างๆ' มีคะแนนรวมต่ำกว่าครึ่ง คือ 49.28 คะแนน โดยในหัวข้อสิทธิส่วนบุคคลซึ่งพิจารณาคะแนนจากการคุ้มครองหรือส่งเสริมสิทธิ 3 ด้าน ได้แก่ สิทธิทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพในการชุมนุม ไทยมีคะแนนรวมต่ำกว่าประเทศอื่นๆ และติดอยู่ในกลุ่ม 'ต่ำกว่ามาตรฐาน'
ดัชนีเอสพีไอได้สรุปภาพรวมเอาไว้ว่าแต่ละประเทศมีจุดแข็งและจุดอ่อนในประเด็นความก้าวหน้าทางสังคมที่แตกต่างกันไป การจัดหมวดหมู่ตามหลักเกณฑ์ 3 ประเด็นจะช่วยให้แต่ละประเทศพิจารณาแนวทางส่งเสริมความก้าวหน้าได้อย่างชัดเจนและง่ายดายขึ้น โดยการประเมินคะแนนของดัชนีเอสพีไอเป็นการสำรวจข้อมูลจากรายงานของแต่ละรัฐบาลทั่วโลก เปรียบเทียบกับจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวม และพิจารณานโยบายของรัฐบาลประกอบด้วยว่ามีความครอบคลุมในการแก้ปัญหาหรือเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงในด้านต่างๆ มากน้อยเพียงใด
รายงาน: ตติกานต์ เดชชพงศ
อ่านต่อ: