ไม่พบผลการค้นหา
วงเสวนาปฏิรูปประเทศไทย นักวิชาการด้านกฎหมาย-กรรมการปฏิรูปตำรวจ ย้ำความจำเป็นต้องปฏิรูประบบสอบสวน สร้างอิสระในการทำงาน กระบวนการโยกย้ายต้องเป็นธรรม

มูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย จัดเสวนาปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปตำรวจ 

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย กล่าวก่อนงานเสวนาว่า ในการรวมตัวต่อสู้ของ กปปส.มาระยะหนึ่ง เห็นสมควรว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูป เช่น เรื่องการเมือง ต้องได้รับการปฏิรูป ไม่เช่นนั้นจะวนเวียน อยู่ในวงจรอุบาทว์ ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากประชาชน บัญญัติเรื่องการปฏิรูปไว้หลายด้าน แต่สิ่งที่ต้องได้รับการปฏิรูปต่อ คือการปฏิรูปตัวนักการเมือง จึงเป็นที่มาของพรรค รวมพลังประชาชาติไทยส่วนการปฏิรูประบบราชการจะต้องมีธรรมาภิบาล มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างกว้างขวาง 

ขณะที่ การปฏิรูปกระบวนการป้องกันและปราบปรามการคอรัปชั่น ถึงวันนี้นายสุเทพเห็นว่า มีความคืบหน้าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ พร้อมขับเคลื่อนงาน ด้านการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ยกระดับคุณภาพชีวิต ยกระดับรายได้ รวมถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะกระบวนการต้นทางคือการปฏิรูปตำรวจ ที่ประชาชนต้องการเห็น คือตำรวจมืออาชีพ และที่สำคัญตำรวจต้องเป็นตำรวจของประชาชน ไม่ใช่ตำรวจคอยรับใช้นักการเมือง 

สำหรับการแต่งตั้งตำรวจครั้งนี้ มีคำถามว่าได้ใช้หลักอาวุโสตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้หรือไม่ พร้อมขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่พยายามผลักดันเรื่องการปฏิรูปตำรวจ ผ่านกลไกคณะทำงานของพลเอกบุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ 

'นักวิชาการ' ชี้ 'กระบวนการสอบสวน' ยังไม่โปร่งใส

ศาสตราจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ มองปัญหาของ ระบบตำรวจไทย มีลักษณะเป็นพีระมิด การสอบสวน ใช้กลไกของลำดับชั้นยศ การโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ไม่ได้เป็นไปตามความเหมาะสม มีการเรียกรับผลประโยชน์ เข้ามาแทรกแซง ขณะเดียวกันยังเห็นว่า กระบวนการสอบสวนไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงถูกตั้งคำถามว่า ได้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเหมาะสมหรือไม่ มีผลทำให้พนักงานสอบสวนขาดความเป็นอิสระ 

ส่วนโครงสร้างการทำหน้าที่สอบสวน ของไทยแตกต่างจากโครงสร้างของสากล ที่พนักงานอัยการกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนจะทำหน้าที่บูรณาการงานสอบสวนร่วมกันค้นหาความจริง และช่วยตรวจสอบถ่วงดุลกัน เพื่อความรอบคอบ ป้องกันเหตุการจำคุกโดยไม่จำเป็น เมื่อกระบวนการไปถึงศาลจะมีความมั่นใจมากขึ้น 

นอกจากนี้ เห็นว่าตำรวจควรอยู่ภายใต้กลไกสั่งการของจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด มีอำนาจอย่างมีเอกภาพ แต่ที่ผ่านมา กระบวนการสั่งการกลับไม่เอื้อให้การดูแลทุกข์สุขของประชาชนมี ประสิทธิภาพ

'คำนูณ' ยก 'ร่างกฎหมายตำรวจ' มีความเป็นธรรม ปฏิรูปงานสอบสวน

นายคำนูณ สิทธิสมาน คณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ระบุสิ่งที่ประชาชนจะได้ หากร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. .... ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ ประชาชนจะได้ตำรวจที่มาจากประชาชนโดยไม่ต้องอาศัยต้นทุนอย่างอื่น ประชาชนจะได้ตำรวจที่อยู่โรงพักคอยรับใช้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนจะได้ตำรวจที่ทำหน้าที่อย่างอิสระ รัดกุมและไม่สร้างภาระให้ประชาชน

โดยไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจของผู้บังคับบัญชา พร้อมกำหนดให้พนักงานอัยการเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นทาง ประชาชนจะได้ตำรวจที่เข้าใจ หลักการเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิตามกฎหมายมากขึ้น

นอกจากนี้ ประชาชนจะได้กลไกการตรวจสอบ จากภายนอก คอยตรวจสอบเจ้าหน้าที่ตำรวจมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนที่เห็นความไม่ชอบ จากการทำงาน สามารารถอาศัยกลไกดังกล่าวเป็นเครื่องมือคอยดูแล 

นายคำนูณ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากร่างกฎหมาย ได้กำหนดเกณฑ์ การทำหน้าที่ และการโยกย้ายโดยเฉพาะในงานสอบสวนขึ้นมาใหม่ แบ่งโครงสร้างเป็น 5 สายงาน ประกอบด้วยฝ่ายป้องกันและปราบปราม, สายงานสอบสวนจะเกี่ยวเนื่องกับอีกหลายสายงาน รูปแบบของตำรวจสอบสวนจะคล้ายคลึงกับผู้ประกอบวิชาชีพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีอิสระในการทำงาน ขึ้นกับผู้บังคับบัญชาในสายงานสอบสวน

นอกจากนี้ ยังมีสายวิชาชีพเฉพาะ, สายงานบริหาร และสายอำนวยการและสนับสนุน ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายใหม่ได้ออกแบบให้การแต่งตั้งโยกย้ายมีความเป็นธรรมมากขึ้น สร้างระบบประเมินความรู้ความสามารถและการทำงาน อย่างเป็นระบบ