นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยผู้บริหารกรม ร่วมแถลงข่าวกรณีนายแสงชัย แหเลิศตระกูล ที่จังหวัดปราจีนบุรี กรณีมีกระแสข่าวรับรองคุณแสงชัย เป็นหมอพื้นบ้าน สืบเนื่องจากคุณแสงชัยได้ยื่นหนังสือรับรองเป็นหมอพื้นบ้านมายังกรมการแพทย์แผนไทยฯ ซึ่งตามระเบียบกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ ว่าด้วยการออกหนังสือรับรองหมอพื้นบ้าน (ฉบับที่2) พ.ศ.2555 ผู้ที่ได้รับหนังสือรับรองฉบับนี้สามารถดำเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข
1. การรักษาตนเอง
2. การช่วยเหลือหรือเยียวยาผู้ป่วยตามหน้าที่ ตามกฎหมาย หรือตามธรรมจรรยา โดยมิได้รับประโยชน์ตอบแทน
3. กระทรวง ทบวง กรม กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด หรือสภากาชาดไทยมอบหมายให้ประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด
4. ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กระทำการประกอบโรคศิลปะในความควบคุมของผู้ประกอบโรคศิลปะตามที่รัฐมนตรีกำหนด
นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ขณะนี้กรมการแพทย์แผนไทยฯ อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาข้อกำหนดของการรับรองหมอพื้นบ้าน ในเบื้องต้นคาดว่านายแสงชัยเข้าข่ายที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหมอพื้นบ้าน ซึ่งการขึ้นทะเบียนดังกล่าว คือ หมอจะต้องอยู่ในพื้นที่ชนบท และมีความรู้ ความสามารถในการรักษาโรคเฉพาะ แต่ตอนนี้กรมการแพทย์แผนไทยฯ พิจารณาแล้วพบว่า การขึ้นทะเบียนของนายแสงชัย ยังขาดหลักฐานที่ต้องมีเพิ่มเติมอีกบางส่วน
ทั้งนี้จากกรณีที่นักวิจัยลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลคนไข้มะเร็งที่รับยาจากนายแสงชัย ที่จังหวัดปราจีนบุรี พบว่า คนไข้ร้อยละ 50 มีการรักษาคู่ขนานระหว่างแพทย์แผนปัจจุบันกับแพทย์แผนไทย ส่วนร้อยละ 20 อยู่ระหว่างรอการรักษาของหมอแผนปัจจุบัน ร้อยละ 30 ทิ้งการรักษาของหมอแผนปัจจุบัน ด้วย 4 เหตุผลหลักคือ
1. ผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน
2.จากประสบการณ์ที่เห็นการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งจากคนรอบข้าง ด้วยแพทย์แผนปัจจุบันแล้วคนไข้เสียชีวิต
3.สู้ค่าใช้จ่ายการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันไม่ไหว
4. หมดหนทางรักษา
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวในตอนท้ายว่า การรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ถ้าเป็นมะเร็งระยะแรกแนะนำให้ไปรักษากับหมอแผนปัจจุบันก่อนเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการรักษา หากถึงระยะสุดท้ายอาจหันมากรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก เช่น อโรคยาศาล วัดคำประมง จ.สกลนคร และแผนกดูแลสุขภาพผู้ป่วยมะเร็งใน รพ.ของรัฐ ที่มีแผนกดูแลผู้ป่วยประคับประครองเฉพาะด้วยศาสตร์การแพทย์ผสมผสาน ก็เป็นสิทธิ์ที่คนไข้สามารถที่จะเลือกได้ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า 80% ที่หันมารักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย จะมีอาการกินข้าวได้ นอนหลับ และมีเรี่ยวแรงดีขึ้น