ไม่พบผลการค้นหา
ครอบครัวณรงค์เดช แถลงยืนยันบริษัทเคพีเอ็น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท WEH และนายณพ ณรงค์เดช อีก หลังถูกนำชื่อบริษัทไปแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

ครอบครัวณรงค์เดช นำโดย ดร.เกษม , นายกฤษณ์ และนายกรณ์ ณรงค์เดช ออกแถลงการณ์ในนามตระกูล "ณรงค์เดช" ตัดความสัมพันธ์ "ณพ ณรงค์เดช" จากธุรกิจครอบครัว โดยเนื้อหาในหนังสือแถลงการณ์มีดังนี้

เนื่องจากปัจจุบันปรากฏข่าวมากมายในเรื่องของความเกี่ยวพันระหว่างครอบครัวณรงค์เดช กับ บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ออกมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ครอบครัวณรงค์เดช โดย ดร. เกษม ณรงค์เดช ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัท เคพีเอ็น นายกฤษณ์ ณรงค์เดช ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น และนายกรณ์ ณรงค์เดช รองประธานกรรมการกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น จึงมีความจำเป็นต้องส่งแถลงการณ์ต่อสาธารณะเพื่อให้ทราบโดยทั่วกันว่า "การดำเนินการใดๆ ของนายณพ ณรงค์เดช ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ ครอบครัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น" 

โดยรายละเอียดของสาเหตุที่ต้องแถลงการณ์ในครั้งนี้ เริ่มจากประมาณ 2 ปีที่แล้ว นายณพ ณรงค์เดช ได้ขอความช่วยเหลือจากครอบครัวณรงค์เดช ในเรื่องการจัดหาเงินเพื่อลงทุนซื้อหุ้นในบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ซึ่งต่อมา ครอบครัวณรงค์เดชให้ความช่วยเหลือในการให้ยืมเงินสด การให้นำทรัพย์สินของครอบครัวณรงค์เดช และทรัพย์สินอื่นที่ครอบครัวณรงค์เดชจัดหามาไปเป็นหลักประกันในการจัดหาเงินทุนเพิ่มเติม

แต่หลังจากที่นายณพ ณรงค์เดช ได้รับความช่วยเหลือดังกล่าว นายณพ กลับดำเนินการใดๆ โดยใช้ชื่อเสียงของครอบครัวณรงค์เดชไปแอบอ้างเพื่อประโยชน์ส่วนตนโดยลำพัง โดยทางครอบครัวณรงค์เดชไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญหลายประการ ไม่มีส่วนในการรับรู้ถึงรายละเอียดของการดำเนินการเกี่ยวกับการลงทุนดังกล่าว ไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือบริหารงานใดๆ ในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อการลงทุนที่ผ่านมา แม้นายณพจะให้นายกรณ์ ณรงค์เดช ดำรงตำแหน่างเป็นกรรมการฯของ WEH ก็ตาม แต่นายกรณ์ก็ถูกกีดกันไม่ได้รับรู้ในรายละเอียดหรือร่วมตัดสินใจในการดำเนินการใดๆของ WEH จนนายกรณ์ ตัดสินใจลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทในเวลาต่อมา

ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เกี่ยวกับการดำเนินการใน WEH ของนายณพ ณรงค์เดช นั้นครอบครัวณรงค์เดชได้รับรู้จากข่าวที่เผยแพร่ทางสาธารณะ ทำให้ทางครอบครัวณรงค์เดชกังวลกับข่าวต่างๆที่อาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงของครอบครัวณรงค์เดชเป็นอย่างยิ่ง

จึงเรียนชี้แจงเพื่อความเข้าใจโดยทั่วกัน และขอเน้นย้ำว่า "การดำเนินการใดๆ ของนายณพ ณรงค์เดช ที่ผ่านมา และต่อจากนี้ ครอบครัวณรงค์เดชไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง" และหากมีการนำชื่อของกลุ่มบริษัทเคพีเอ็น หรือครอบครัวณรงค์เดช ไปใช้โดยไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกครอบครัวณรงค์เดช อันได้แก่ ดร.เกษม ณรงค์เดช นายกฤษณ์ ณรงค์เดช และนายกรณ์ ณรงค์เดช อยู่ด้วย ขอให้ทราบว่าการกระทำดังกล่าวนั้นเป็นการแอบอ้าง โดยครอบครัวณรงค์เดชไม่ได้รับรู้หรือให้ความยินยอมทั้งสิ้นโดยจะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด

KPN1.jpgKPN3.jpg

บริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นหนึ่งในบริษัทด้านพลังงานหมุนเวียนที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย โดยได้สร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 แห่ง ในจังหวัดนครราชสีมาและชัยภูมิ มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้ารวมกันทั้งหมด 270 เมกกะวัตต์ บริษัทมีโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมภายในประเทศที่ใหญ่ที่สุด และกำลังดำเนินการก่อสร้างอีก 5 โครงการ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่มีลมแรง วินด์ ครองสัดส่วนใหญ่ของกำลังการผลิตไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายอยู่ในปัจจุบัน และมากกว่า 40 เปอร์เซนต์ ของโควต้าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศไทย วินด์ เป็นบริษัทในเครือบริษัท เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น จำกัด 

โดยก่อนหน้านี้ บริษัท เน็กซ์โกลบอล อินเวสเมนท์, บริษัท ไดนามิค ลิ้งค์ เวนเจอร์ และบริษัท ซิมโฟนี่ พาร์เนอร์ ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัททรีนิวเอเบิล เอนเนอร์ยี่ หรือ อาร์อีซี ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น บริษัท เคพีเอ็น เอนเนอร์ยี่ ประเทศไทย ได้ร่วมเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายณพ ณรงค์เดช รองประธานคณะกรรมการบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด กับ ดร.เกษม ณรงค์เดช ผู้เป็นบิดา และพวกรวม 13 คน ในความผิดฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท 

ซึ่งบริษัททั้ง 3 แห่งในฐานะเจ้าหนี้ ยื่นฟ้องคดีอาญาต่อนายณพ ณรงค์เดช และพวกจากรณีที่นายณพและพวกร่วมกันโอนหุ้นและปกปิดซ่อนเร้นข้อเท็จจริงในการโอนหุ้นบริษัท วินด์ เอนเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด ในส่วนที่บริษัทอาร์อีซีถือหุ้นอยู่ประมาณ 59.4 เปอร์เซนตื ให้กับ ดร.เกษม ณรงค์เดช โดยมีเจตนาไม่ให้บริษัททั้ง 3 แห่งที่เป็นเจ้าหน้าได้รับชำระหนี้ในคดีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ทั้งที่หุ้นในส่วนที่อาร์อีซีถืออยู่ได้ถูกคำสั่งห้ามจำหน่ายจ่ายโอน เนื่องจากอยู่ระหว่างพิจารณาข้อพิพาทของผู้ถือหุ้นในคดีอนุญาโตตุลาการ รวมถึงห้ามทำธุรกรรมการเงินเกี่ยวกับหุ้นดังกล่าว 

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อต้นปี 2558 นายณพ เข้าเจรจาซื้อหุ้นในบริษัท รีนิว เอเบิล เอนเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (REC) ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น KPNEH ที่โจทก์ร่วมกันถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 98.94 เปอร์เซนต์ เพื่อให้ได้มาซึ่งหุ้น WEH ที่ถือหุ้นในกลุ่มบริษัทที่ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมหลายโครงการในไทยมูลค่า 23,744 ล้านบาท โดยขั้นแรกให้โอนหุ้น 49 เปอร์เซนต์ ใน REC ให้บริษัท ฟุลเลอร์ตัน เบย์ อินเวสเมนต์ จำกัด (Fullerton)ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของหมู่เกาะบริติช เวอร์จิ้น ที่มีนายณพเป็นกรรมการและเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว และขั้นที่ 2 ให้โอนหุ้นที่เหลืออีก 49.94% ให้แก่ KPNEH ที่มีนายณพถือหุ้นอยู่ 40% และมีจำเลยอื่น ๆ ร่วมถือหุ้นส่วนที่เหลือ

แต่ปรากฎว่าเมื่อโอนหุ้นทั้งหมดไปแล้ว ในขั้นตอนการชำระเงินงวดแรก 3,027.36 ล้านบาท ผู้ซื้อไม่สามารถชำระได้ตามกำหนด แม้ต่อมาจะยินยอมจ่ายเงินมาราว 3,070.28 ล้านบาท แต่ไม่เพียงพอสำหรับค่าหุ้นงวดแรกพร้อมดอกเบี้ยที่เกิดจากการชำระเงินล่าช้าบางส่วนตามสัญญา และยังเพิกเฉยที่จะชำระให้ครบ อีกทั้งยังได้กระทำผิดสัญญาซื้อขายหุ้นอีกหลายประการ ดังนั้น โจทก์จึงร่วมกันนำเรื่องเข้าเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการประพฤติผิดสัญญาซื้อขายหุ้นกับ Fullerton และ KPNEH ต่อศาลระหว่างประเทศเพื่อการอนุญาโตตุลาการแห่งหอการค้านานาชาติ (ศาล ICC)

ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการฯ มีคำตัดสินชี้ขาดให้ Fullerton และ KPNEH ชำระเงินให้แก่โจทก์ทั้งสาม ซึ่งจำเลยยังคงเพิกเฉยไม่ชำระเงินตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการให้แก่โจทก์ทั้งสาม แต่หลังจากคณะอนุญาโตตุลาการฯ ทำหนังสือแจ้งให้รายงานสถานะของหุ้น KPNET เมื่อวันที่ 23 ต.ค.60 กลับพบว่ามีการโอนหุ้น WEH ที่เป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวของ KPNET ที่มีมูลค่าสูงกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐไปให้บุคคลภายนอกตั้งแต่ไตรมาส 2/59 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากโจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระเงินค่าหุ้นและได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการฯ แล้ว แต่จำเลยทั้งหมดร่วมกันหรือยินยอมให้มีการปกปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธุรกรรมการโอนหุ้นดังกล่าว ซึ่งมีนายเกษม ณรงค์เดช จำเลยที่ 13 ในฐานะผู้รับโอนหุ้น WEH

การโอนหุ้น WEH ออกไปมีผลให้ Fullerton และ KPNEH ไม่มีทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากพอที่จะนำมาชำระหนี้ค่าหุ้นตามสัญญาให้แก่โจทก์ทั้งสามได้ นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 13 ยังได้ร่วมกันปกปิด ซ่อนเร้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นดังกล่าวมิให้โจทก์ทั้งสามทราบ ด้วยการใช้อำนาจกรรมการและผู้ถือหุ้นทั้งในทางตรงและทางอ้อมของ WEH และ KPNET ดำเนินการมิให้ WEH แจ้งการเปลี่ยนแปลงรายชื่อผู้ถือหุ้นของ WEH ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ทั้งนี้ เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสามมีหลักฐานในการดำเนินคดีตามกฎหมาย

ทั้งนี้ การดำเนินการดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นของจำเลยทั้งหมดเป็นการร่วมกันกระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 ทำให้โจทก์ทั้ง 3 ได้รับความค่าเสียหายไม่น้อยกว่า 29,731,658,521.66 บาท