ไม่พบผลการค้นหา
ชาวอังกฤษและผู้สนใจข่าวราชวงศ์ทั่วโลกติดตามชมการถ่ายทอดสดพิธีเสกสมรสของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน มาร์เคิล ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและองค์ประกอบในพิธีหลายประการ มีทั้งผู้ที่ชื่นชมและผู้ที่ไม่เห็นด้วย

เชื้อพระวงศ์และแขกผู้มีเกียรติกว่า 600 คนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเสกสมรสของเจ้าชายแฮร์รี รัชทายาทลำดับที่ 6 แห่งราชวงศ์อังกฤษ ผู้ทรงมีพระนามเต็มว่า เฮนรีแห่งเวลส์ และเมแกน มาร์เคิล พระคู่หมั้นชาวอเมริกันซึ่งเป็นสามัญชน โดยพิธีจัดขึ้นที่โบสต์เซนต์จอร์จในพระราชวังวินด์เซอร์ของอังกฤษ เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 19 พ.ค.ตามเวลาท้องถิ่น โดยเมแกนและนางดอเรีย แร็กแลนด์ ผู้เป็นมารดา ออกจากโรงแรมคลิฟเดนเฮาส์ที่พักด้วยรถยนต์โรลซ์รอยส์เพื่อไปยังสถานที่ประกอบพิธี

นางแร็กแลนด์เป็นสมาชิกครอบครัวของฝ่ายเจ้าสาวเพียงคนเดียวที่เข้าร่วมในพิธีครั้งนี้ เนื่องจากนายโทมัส มาร์เคิล ผู้เป็นบิดา มีเหตุผลด้านสุขภาพ จึงไม่ขอเดินทางเข้าร่วมงานพิธี ทำให้เกือบจะไม่มีผู้ทำหน้าที่ส่งตัวเจ้าสาว เพราะเมแกน มาร์เคิล เสนอว่าจะเดินเข้าสู่พิธีด้วยตนเอง แต่ในที่สุด เจ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารอังกฤษ และพระบิดาของเจ้าชายแฮร์รี ทรงรับหน้าที่นั้นแทนบิดาของเจ้าสาว

แฮร์รี-เมแกน-เสกสมรส-วินด์เซอร์-ราชวงศ์อังกฤษ

พิธีเสกสมรสครั้งนี้ 'แหวกขนบ' อย่างไรบ้าง?

การที่เจ้าชายแฮร์รีทรงเลือกที่จะเสกสมรสกับเมแกน มาร์เคิล ถือว่าเป็นการเลือกคู่ครองที่แหวกขนบธรรมเนียมของราชวงศ์ไปมาก ไม่เป็นรองเจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ผู้ทรงเป็นบิดา ซึ่งถูกประชาชนต่อต้านหลังจากที่พระองค์ทรงหย่าขาดจากไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์

โดยกรณีของเมแกน มาร์เคิล เป็นเพียงสามัญชนชาวต่างชาติ ทั้งยังเป็นแม่หม้ายที่มีเชื้อสายแอฟริกันอเมริกันด้วย ทำให้สื่อแท็บลอยด์ของอังกฤษเคยรายงานว่าเมแกนอาจจะไม่ได้แต่งงานกับเจ้าชายแฮร์รีเพราะไม่เป็นที่โปรดปรานของเชื้อพระวงศ์ แต่พิธีเสกสมรสก็ดำเนินต่อไปจนจบในวันนี้ 

สำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษรายงานว่าพิธีเสกสมรสครั้งนี้ 'แตกต่าง' จากพระราชพิธีก่อนหน้าของราชวงศ์อังกฤษเกือบทั้งหมด เพราะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ผู้ชมพิธีมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันไป โดยมีทั้งผู้ที่ชื่นชมว่าพิธีมีความก้าวหน้าและใกล้ชิดประชาชน รวมถึงผู้ที่วิจารณ์ว่าการแหวกขนบประเพณีเป็นเรื่องที่น่าขัน โดยสิ่งที่ทำให้พิธีเสกสมรสครั้งนี้เป็นที่โจษจันมีหลายประการด้วยกัน 

แฮร์รี-เมแกน-เสกสมรส-วินด์เซอร์-ราชวงศ์อังกฤษ
  • สามัญชนนับพันคนได้ร่วมงานนี้ด้วย

ผู้นำชุมชนและนักกิจกรรมทางสังคมจากแวดวงต่างๆ รวมถึงเยาวชนราว 1,600 คนที่อยู่ในเมืองวินด์เซอร์ ที่ตั้งพระราชวังวินด์เซอร์ สถานที่ประกอบพิธี ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีด้านนอกโบสถ์เซนต์จอร์จ ถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนได้รับเชิญจากเชื้อพระวงศ์ ทำให้สื่ออังกฤษขนานนามว่านี่เป็นพิธีเสกสมรสที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดแล้ว

  • คำปฏิญาณตนที่ตัดคำว่า 'เชื่อฟัง' ทิ้งไป

ตามปกติแล้ว คำปฏิญาณของคู่แต่งงานในศาสนาคริสต์จะรวมถึงประโยคที่เจ้าสาวต้องกล่าวว่าตนจะ 'เชื่อฟัง' ผู้เป็นสามี แต่คำปฏิญาณของมาร์เคิลได้ตัดตรงท่อนนี้ออกไป สะท้อนภาพความเป็นผู้หญิงสมัยใหม่ที่สนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศของมาร์เคิล

แฮร์รี-เมแกน-เสกสมรส
  • บิชอปและวงดนตรีประสานเสียง 'ผิวดำ'

ผู้ได้รับเลือกมาเทศนาในพิธีเสกสมรสครั้งนี้ คือ บิชอป ไมเคิล เคอร์รี จากนครชิคาโกของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นบิชอปผิวดำ ส่วนวงดนตรีประสานเสียงในโบสถ์ก็ประกอบด้วยคนผิวดำเกือบทั้งหมด ทั้งยังเลือกเพลง Stand by Me เพลงแนวอาร์แอนด์บีที่แต่งโดยเบน อี คิง นักร้องนักดนตรีผิวดำชื่อดังในยุค 60 มาร้องเป็นเพลงเวอร์ชั่นกอสเปลประกอบพิธีอีกด้วย

แฮร์รี-เมแกน-เสกสมรส-วินด์เซอร์-ราชวงศ์อังกฤษ
  • คำเทศนาที่พูดถึงรัฐบาลและเด็กๆ ที่เผชิญความหิวโหย

บิชอป ไมเคิล เคอร์รี กลายเป็นหัวข้อสนทนายอดนิยมช่วงหนึ่งในทวิตเตอร์ หลังจากคำเทศนาประกอบพิธีเสกสมรสของเขาถูกถ่ายทอดสดโดยสถานีโทรทัศน์และสำนักข่าวหลายแห่งทั่วโลก เพราะนอกจากจะมีท่าทางประกอบการเทศนาที่ดูราวกับกำลังเล่นละครแล้ว คำเทศนาของเขาซึ่งพูดถึงการยึดถือแนวทางแห่งรัก Love is the Way ยังพูดรวมไปถึงเรื่องการเมือง โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า หากรัฐบาลและผู้คนยึดถือแนวทางแห่งรัก ก็คงจะไม่มีความขัดแย้ง และจะไม่มีเด็กๆ ที่ถูกปล่อยให้หิวโหยบนโลกใบนี้ 

ชาวเน็ตร่วมวิพากษ์วิจารณ์พิธีเสกสมรส

เว็บไซต์ Vox รายงานว่าพิธีเสกสมรสของเจ้าชายวิลเลียมและพระชายาเมื่อปี 2011 มีผู้ชมการถ่ายทอดสดทั่วโลกกว่า 300 ล้านคน และพิธีเสกสมรสของเจ้าชายแฮร์รีก็น่าจะมีผู้ชมไม่แพ้กัน และในพิธีมีเรื่องให้พูดถึงอยู่หลายประเด็น ก็น่าจะยิ่งทำให้ผู้สนใจชมพิธีเสกสมรสครั้งนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น

ควีนเอลิซาเบ็ธ-เจ้าชายฟิลิป-ควีนอังกฤษ

(ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางส่วนมองว่าสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธที่2 และเจ้าชายฟิลิปทรงมีท่าทีอึดอัดพระทัย)

แฮร์รี-เมแกน-เสกสมรส-วินด์เซอร์-ราชวงศ์อังกฤษ

ขณะเดียวกัน ผู้ใช้ทวิตเตอร์ทั่วโลกต่างก็มีปฎิกิริยาที่แตกต่างกันไปต่อพิธีเสกสมรสครั้งนี้ โดยบางรายมองว่าการเชิญบิชอปผิวดำและวงดนตรีผิวดำ ล้วนเป็นเรื่องที่ดูไม่เหมาะสม และบางรายก็มองว่าลีลาการเทศนาของบิชอปเคอร์รี่เป็นสิ่งที่น่าขบขัน และท่าทีของเชื้อพระวงศ์ที่ทรงร่วมงาน รวมถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบ็ธที่ 2 และเจ้าชายฟิลิป ทรงมีท่าทีอึดอัดพระทัย

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ทวิตเตอร์บางรายก็ชี้ให้เห็นเช่นกันว่าระหว่างที่บิชอปเทศนา เจ้าชายแฮร์รีได้ยิ้มสรวลกับเมแกน มาร์เคิล แสดงให้เห็นว่าทั้งคู่ผ่อนคลายกับเรื่องที่เกิดขึ้น และบางรายชื่นชมว่าเรื่องเล็กๆ ระหว่างพิธีเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าประทับใจอย่างมาก

แม้จะมีหลายเรื่องที่ดูเหมือนจะแหวกขนบของราชวงศ์อังกฤษ แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่ไม่อาจเปลี่ยน ก็คือหลังพิธีเสกสมรสสิ้นสุด เจ้าชายแฮร์รีและเมแกน มาร์เคิล จะทรงพระยศ 'ดยุคและดัชเชสแห่งซัสเซ็กส์' และจะไม่มี 'เจ้าหญิงเมแกน' เพราะพระยศของพระชายาในเจ้าชายแฮร์รีที่ถูกต้องตามประเพณี คือ 'เจ้าหญิงเฮนรีแห่งเวลส์' แต่มีความเป็นไปได้สูงที่ประชาชนและสื่อต่างๆ จะเรียกพระชายาว่า 'เจ้าหญิงเมแกน' เช่นเดียวกับที่แคทเธอรีน พระชายาในเจ้าชายวิลเลียม พระเชษฐาของเจ้าชายแฮร์รี ผู้ทรงพระยศ 'เจ้าหญิงวิลเลียมแห่งเวลส์' มักถูกเรียกว่า เจ้าหญิงแคทเธอรีน หรือเจ้าหญิงเคท

แฮร์รี-เมแกน-เสกสมรส-วินด์เซอร์-ราชวงศ์อังกฤษ

ที่มา: BBC/ Vox/ Harpers Bazaar/ Telegraph/ CNN

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: