ไม่พบผลการค้นหา
ขสมก. ชี้แจงข้อวิจารณ์การยกเลิกเครื่องเก็บค่าโดยสารบนรถประจำทาง เกิดจากระบบไม่เสถียรใช้งานไม่ได้หลายครั้ง อีกทั้งการยกเลิกสัญญาบางส่วนไม่ต้องจ่ายค่าเช่าจึงไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับ ขสมก.

นายประยูร ช่วยแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถองค์การ รักษาการในตำแหน่างผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ชี้แจงข้อวิจารณ์การยกเลิกเครื่องเก็บค่าโดยสาร หรือ Cash Box บนรถโดยสารประจำทาง จากกรณีที่นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานธรรมการบริหารกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ กล่าวถึงการยกเลิกเครื่องเก็บค่าโดยสารบนรถโดยสารประจำทางทั้งหมด จากเดิมที่ได้ติดตั้งไปแล้ว 100 คัน เนื่องจากพบว่าระบบไม่เสถียร มีการทดลองหลายครั้งก็ใช้งานไม่ได้ อีกทั้งไม่ได้ทำให้การลดพนักงานเก็บค่าโดยสารเป็นไปตามที่วางแผนไว้ด้วย ซึ่งกรณีดังกล่าวสื่อโซเชียลมีเดียจำนวนหนึ่งวิจารณ์ในเชิงลบ พร้อมตั้งคำถามถึง ขสมก. ว่าจะรับผิดชอบต่องบประมาณที่ได้ดำเนินการไปแล้วอย่างไร ขสมก. ขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

ที่มาของโครงกาง คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2557 ให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการนำระบบตั๋วร่วม หรือ E-Ticket มาใช้ในการเชื่อมการเดินทางของประชาชนที่สัญจรโดยเรือ โดยสารรถไฟฟ้า และรถประจำทาง และให้คำนึงถึงการให้บริการแก่ผู้มีรายได้น้อยให้สามารถเข้าถึงระบบบริการขนส่งสารธารณุะ ขสมก.จึงได้ดำเนินการจัดหาและติดตั้งระบบตั๋วร่วมและเครื่องเก็บค่าโดยสารในรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. จำนวน 2,600 คัน ตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดย ขสมก. ทำสัญญาเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์กับกลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน โดยบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทหลัก มีกำหนดการเช่า 5 ปี ตามสัญญาเลขที่ ช.15/2560 ลงวันที่ 15 มิ.ย. 2560

การเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ มีการติดตั้งระบบ 2 ส่วน คือ เครื่องอ่านบัตร และเครื่องเก็บค่าโดยสาร ซึ่งปัจจุบัน ขสมก. ยังไม่ได้ทำการตรวจรับจากการทดสอบระบบของคณะกรรมการตรวจรับ พบว่าเครื่องอ่านบัตรสามารถอ่านบัตริได้ใช้งานได้ตามเงื่อนไขทีโออาร์ ส่วนเครื่องเก็บค่าโดยสาร ระบบไม่เสถียรทำงานไม่สมบูรณ์ ขสมก. จึงมีนโยบายจะยกเลิกสัญญาเฉพาะในส่วนของเครื่องเก็บค่าโดยสาร เนื่องจากการใช้งานเครื่องเก็บค่าโดยสาร ยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารเงินสด ระบบทอนเงินใช้เวลานานส่งผลกระทบทำให้การจราจรติดขัด ประกอบกับการนำเสนอแผนฟื้นฟู คณะอนุกรรมการ คนร. และ คนร. ให้พิจารณาผลกระทบต่อพนักงานเก็บค่าโดยสารที่ต้องเออรี่รีไทร์ อาจสร้างปัญหาในด้านแรงงาน ซึ่งในอนาคต ขสมก. จึงใช้ระบบเครื่องอ่านบัตร เพียงอย่างเดียว เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และนโยบายการไม่ใช้เงินสดในส่วนของ ขสมก. ยังสามารถลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารเงินสดได้ด้วย

ซึ่งขณะนี้ขสมก. อยู่ระหว่างตรวจสอบสัญญาและหารือกรมบัญชีกลางในการยกเลิกสัญญาบางส่วนดังกล่าว โดยตามสัญญาฯ ข้อ 9 ระบุไว้ว่า “ผู้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาทั้งหมดหรือบางส่วนได้ หากผู้ให้เช่าไม่ปฏิบัติตามสัญญาข้อหนึ่งข้อใด...” 

สำหรับงบประมาณที่ใช้ ในโครงการนี้ เนื่องจากเป็นโครงการเช่า หากยกเลิกสัญญาบางส่วนก็ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าในส่วนที่ยกเลิก จึงไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับ ขสมก. ในส่วนค่าปรับผู้ให้เช่าต้องจ่ายค่าปรับจนถึงวันที่ยกเลิกสัญญา ซึ่งปัจจุบัน ขสมก. ยังไม่ได้จ่ายค่าเช่าใด ๆทั้งสิ้น