ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจร้องนายกรัฐมนตรีแก้ปัญหาตำรวจและระบบงานสอบสวน ดึงพนักงานอัยการร่วมตรวจสอบการสอบสวนคดี ยกมาตรฐานกระบวนการยุติธรรม ไม่ให้ซ้ำรอยผู้เสียหายเครียดโดดตึกฆ่าตัวตาย

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (คป.ตร. ) หรือ Police Watch ออกแถลงการณ์ เรื่อง ขอให้นายกรัฐมนตรีเร่งแก้ปัญหาตำรวจและปฏิรูประบบงานสอบสวนด้วยการให้พนักงานอัยการเข้าตรวจสอบการสอบสวนคดีสำคัญตั้งแต่เกิดเหตุและบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำบุคคล 

เนื่องจากกรณีเกิดเหตุการณ์นายศุภชัย คัฬหสุนทร บิดาของนายธนิต คัฬหสุนทร ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตจากการถูกคนร้ายใช้อาวุธมีดแทงถึงแก่ความตายในท้องที่ สน.ดินแดง เมื่อปี พ.ศ. 2559 และศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องจำเลยในคดีดังกล่าว เป็นเหตุให้นายศุภชัยฯ ผู้เป็นบิดา กระโดดลงมาจากอาคารชั้น 8 ของศาลอาญาเสียชีวิต รวมทั้งนางเรวดี ภรรยาก็ได้พยายามกระโดดลงมาฆ่าตัวตายด้วย แต่มีผู้ฉุดรั้งเอาไว้ได้นั้น 

เหตุการณ์ที่เศร้าสลดสะเทือนใจผู้คนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติดังกล่าว นอกจากจะเป็นผลมาจากระบบงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินประชาชนของรัฐ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดอาชญากรรมมีคนถูกฆ่าตายแล้ว สองสามีภรรยาที่เป็นผู้เสียหายยังเกิดความเครียดจากการที่ตำรวจผู้รับผิดชอบระดับต่างๆ ไม่ได้เอาใจใส่ต่อการสืบสวนสอบสวนหาพยานหลักฐานการกระทำผิดอย่างจริงจังตั้งแต่แรก ซึ่งภรรยาและญาติผู้เกี่ยวข้องบอกว่า ทุกครั้งที่ไปพบตำรวจ ก็ได้คำตอบว่า ให้ไปหาพยานหลักฐานมาให้ แม้กระทั่งหลักฐานภาพจากกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจจะต้องดำเนินการ ก็ยังต้องดิ้นรนไปหาเอง จนนายศุภชัยฯ ได้ตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมารวบรวมพยานหลักฐานเอง แต่ในที่สุดศาลก็ได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะลงโทษจำเลยได้ ทำให้เครียดสะสมไปจนถึงจุดที่ไม่อาจทนมีชีวิตได้อีกต่อไป 

ความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาประเทศไทยที่สร้างความเดือดร้อน คับแค้นใจให้กับประชาชนจำนวนมากมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องหากรณีถูกยัดข้อหาอย่างไม่เป็นธรรม หรือการสอบสวนที่้ไม่สุจริตหรือมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งปัญหาแท้จริงเป็นผลมาจากกระบวนการยุติธรรมในชั้นสอบสวนขาดการตรวจสอบจากภายนอกระหว่างสอบสวนอย่างแท้จริง เป็นเหตุให้เกิดช่องว่างที่ตำรวจจะสืบหา ไม่สืบหา รวบรวมหรือไม่รวบรวมพยานหลักฐานเพื่อนำไปสู่ผลคดีไม่ว่าในชั้นอัยการหรือชั้นศาลกันอย่างไรก็ได้ เป็นอันตรายต่อกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นรากฐานการปกครองของระบอบประชาธิปไตยอย่างร้ายแรงยิ่ง

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจจึงขอเรียกร้องมายังนายกรัฐมนตรีให้เร่งปฏิรูประบบงานสอบสวนด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังนี้ 

1.ให้พนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบควบคุมการสอบสวนคดีสำคัญหรือคดีที่มีโทษจำคุก 5 ปีขึ้นไปตั้งแต่เกิดเหตุ โดยให้พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รายงานให้พนักงานอัยการทราบเพื่อร่วมตรวจที่เกิดเหตุ สำหรับในส่วนภูมิภาคให้รายงานนายอำเภอทราบเพื่อร่วมตรวจที่เกิดเหตุและใช้เป็นข้อมูลในการรักษาความสงบเรียบร้อยในอำเภออีกทางหนึ่งด้วย 

2.การสอบปากคำผู้ร้องทุกข์ ผู้กล่าวโทษ และผู้เสียหายในฐานะพยาน รวมทั้งประจักษ์พยานในคดี ต้องกระทำใน 'ห้องสอบสวน' ที่มีระบบบันทึกภาพและเสียงอัตโนมัติอย่างต่อเนื่องเก็บเป็นหลักฐานไว้ให้อัยการและศาลตรวจสอบได้ เมื่อจำเป็นทุกคดี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :