ดร.เฮ่อเจี้ยนขุย นักวิทยาศาสตร์จีน จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเซาท์เทิร์นในเมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวAP อ้างประสบความสำเร็จในการให้กำเนิดทารกฝาแฝดที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม หรือ DNA เพื่อต้านเชื้อไวรัส HIV ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งทารกแฝดเพศหญิงที่ลืมตาดูโลกเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมานี้ด้วยเทคโนโลยี CRISPR ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถยับยั้งการเข้าถึงยีนที่เจาะจงได้
ดร.เฮ่อ และนักวิทยาศาสตร์อีก 2 คนจากสหรัฐฯ ร่วมกันพัฒนาตัวอ่อนทารกที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมจากสเปิร์มที่มีเชื้อ HIV และไข่ที่ไม่มีเชื้อ HIV จากผู้เข้าร่วมโครงการ โดยผ่านกระบวนขั้นตอนการปฏิสนธินอกร่างกาย หรือ IVF ก่อนนำตัวอ่อนที่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรมไปฝังในครรภ์มารดา ผู้ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว
ดร.เฮ่อกล่าวว่า 'การตัดต่อพันธุกรรมนี้เป็นการช่วยให้คู่รักที่มีเชื้อ HIVสามารถมีบุตรที่มีภูมิต้านทางการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้ '
อย่างไรก็ตาม ดร.เฮ่อ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการตัดต่อพันธุกรรมครั้งนี้ ไม่ได้ทดลองเพื่อสร้างสถิติเป็นครั้งแรกของโลก แต่เป็นเพียงการทดลองตัวอย่างเท่านั้น ซึ่งในอนาคตสังคมจะเป็นคนตัดสินว่า จะอนุญาตหรือห้ามการกระทำดังกล่าวทางวิทยาศาสตร์หรือไม่ และนอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความหวังให้กับวงการแพทย์ ในการคิดค้นหาวิธีการต่อต้านเชื้อไวรัส HIV ในอนาคตด้วย
ดร.เฮ่อ กล่าวว่า ทารกที่กำเนิดจากโครงการทดลองนี้ จะอยู่ในความดูแลติดตามของโครงการตลอดเพื่อทำการตรวจเช็คสุขภาพให้ทารกคนดังกล่าวจนกว่าจะมีอายุครบ 18 ปี หรือ อาจจะนานกว่านั้น
อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า การตัดต่อพันธุกรรมในตัวอ่อนทารกนี้แทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทางการตัดต่อพันธุกรรมแต่อย่างใด และการติดเชื้อHIV ยังคงสามารถติดต่อผ่านในระดับ DNA ได้ และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้ออื่นๆ ได้อีกด้วย เพราะในร่างกายมนุษย์หากปราศจากยีน CCR5 ที่ทางนักวิทยาศาสตร์จีนกล่าวว่า ได้ตัดต่อยีนดังกล่าวออกเพื่อป้องกันเชื้อ HIV นั้น จะทำให้ร่างกายได้รับเชื้อไวรัสอื่นๆ ง่ายขึ้น
การตัดต่อพันธุกรรม หรือ DNA เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายและถูกห้ามกระทำในสหรัฐฯ และในหลายประเทศในยุโรป เนื่องจากการเปลี่ยนสายของ DNA หรือการตัดต่อพันธุกรรมนี้ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของ DNA ได้ในอนาคต รวมไปถึงความเสี่ยงในการทำลายยีนอื่นๆ ด้วย
ที่มา AP