พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่า ที่ผ่านมามีพี่น้องประชาชนหลายราย ได้รับความเดือดร้อนจากการเป็นหนี้ ด้วยความจำเป็นจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รายได้จากการขายลดลง หลายรายไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของภาครัฐ หรือภาคเอกชนได้ ก็ต้องหันมาพึ่งพาหนี้นอกระบบ โดยเฉพาะการกู้ยืมเงินที่มีการขายฝากที่ดิน ซึ่งมักไม่ได้รับความเป็นธรรม จนต้องสูญเสียที่ดินที่เป็นทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว แล้วก็เป็นเครื่องมือหารายได้ของครอบครัว
ที่ผ่านมา แม้จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขายฝาก ซึ่งกำหนดระยะเวลาไถ่ถอน เพดานของอัตราดอกเบี้ย และกระบวนการในการทำสัญญาไว้แล้ว แต่ก็ยังมีช่องว่างให้เกิดการทำนาบนหลังคน เอารัดเอาเปรียบพี่น้องเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย
เนื่องจากผู้ขายฝากมักไม่มีอำนาจต่อรอง แต่ต้องการเงินทุนเร่งด่วน บางทีไม่เข้าใจกฎหมาย จึงทำให้ผู้รับซื้อหรือนายทุนใจร้าย ชักจูงให้ทำสัญญาขายฝากที่ดินแบบไม่เป็นธรรม อาทิ กำหนดระยะเวลาไถ่ถอนให้สั้นมาก เช่น ต้องมาไถ่ถอนใน 3 - 4 เดือน ก็เป็นไปได้ว่าผู้ขายฝากไม่มีทางหรือไม่สามารถจะหาเงินมาไถ่ถอนได้ทัน ต้องทำสัญญาใหม่บ่อย ๆ ทุกครั้งต้องเสียเงินในการทำสัญญาหลายหมื่นบาท หรือเวลาที่ครบกำหนดสัญญาไม่สอดคล้องกับการเพาะปลูก ทำให้พี่น้องเกษตรกรไม่สามารถหาเงินมาไถ่ถอนได้ จนต้องสูญเสียทรัพย์สินไปในที่สุด
ความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถจะป้องกันเกษตรกรจากการสูญเสียที่ดินให้กับนายทุนได้ อันนี้เป็นปัญหาที่สั่งสมมานานกว่า 50 ปี แล้ว ปัจจุบันประเทศไทยมีที่ดินทำกินรวม 300 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 150 ล้านไร่ และครึ่งหนึ่งของ 150 ล้านไร่นี้ เป็นที่ดินที่เกษตรกรต้องเช่าจากคนอื่นในการทำกิน ก็สะท้อนให้เห็นว่า เกษตรกรในกลุ่มนี้อาจเป็นผู้ที่สูญเสียที่ดินไปแล้ว จากกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา ยิ่งกว่านั้นที่ดินราว 30 ล้านไร่จากส่วนที่เหลือ 70 ล้านไร่นั้นก็อยู่ในระหว่างการจำนองและการขายฝาก โดยที่ดินที่มีการขายฝากอาจมีอยู่หลายแสนไร่ และก็มีโอกาสหลุดมือสูงมาก เนื่องจากนายทุนหลายคน อาศัยกฎหมายฉบับเดิม เป็นช่องทางในการยึดที่ดินจากประชาชน โดยไม่ได้สนใจการชำระดอกเบี้ยการขายฝากนั้นเลย
ล่าสุดจึงได้มีการยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ ได้แก่ พ.ร.บ. คุ้มครองประชาชนในการขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย ที่จะช่วยแก้ปัญหาที่เคยมีอยู่เดิม เช่น กำหนดให้การขายฝากเป็นธุรกิจคุ้มครองของผู้บริโภค โดยต้องทำเป็นหนังสือที่ได้รับการตรวจสอบเนื้อหาสัญญา จากนิติกรหรือพนักงานที่ดิน ก่อนนำไปจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดิน มีรายละเอียดทั้งชื่อของคู่สัญญา แหล่งที่ตั้ง จำนวนสินไถ่อัตราดอกเบี้ย วันกำหนดการชำระอย่างชัดเจน นอกจากนี้การสละสิทธิไถ่ถอนไม่สามารถทำได้ เพื่อป้องกันการตั้งใจให้ที่ดินหลุดมือจากเกษตรกรตั้งแต่ต้น รวมถึงกำหนดให้การทำสัญญาขายฝากมีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง เพื่อป้องกันการทำสัญญาระยะสั้น และการไถ่ถอนสามารถทำได้สะดวกขึ้น นายทุนไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้โดยง่าย อีกต่อไป คาดว่ากฎหมายใหม่ฉบับนี้ จะช่วยปิดช่องโหว่และแก้ปัญหาการสูญเสียที่ดินจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรมของพี่น้องเกษตรกรได้ เกษตรกรต้องเรียนรู้ กฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งกับท่าน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีกลไกต่าง ๆ ที่ดำเนินการควบคู่ไปด้วยเพื่อช่วยให้เกษตรกร สามารถไถ่ถอนที่ดินจากการขายฝากได้ง่ายขึ้น เช่น
1. กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งผู้มีสิทธิขอความช่วยเหลือในการกู้เงินเพื่อไปไถ่ถอนที่ดิน ได้แก่ เกษตรกร หรือพ่อ แม่ ลูก ของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย โดยจะอนุมัติเงินกู้จำนวนตามที่เป็นหนี้จริง แต่ไม่เกินรายละ 2,500,000 บาท มีอัตราดอกเบี้ย ร้อยละ 5 และกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้คืนภายใน 20 ปี
2. กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นหนี้เกี่ยวกับการเกษตร โดยจะมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนหนี้ให้ถูกต้อง หรือเป็นหนี้ผิดนัดชำระ ถึงหนี้บังคับขายทอดตลาด โดยมีวงเงินกู้ยืมไม่เกินรายละ 2,500,000 บาท และกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี และ
3. สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ที่จะสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกร ในกรณีต่าง ๆ เช่น (1) ไถ่ถอนที่ดินจากการจำนองหรือการขายฝาก ที่ยังอยู่ในอายุสัญญา (2) ชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินที่ใช้ที่ดินเป็นหลักประกัน (3) การชำระหนี้ตามคำพิพากษาที่เกี่ยวกับที่ดิน และ (4) การซื้อที่ดินที่ถูกขายทอดตลาด หรือหลุดขายฝากไปแล้วไม่เกิน 5 ปี โดยเจ้าของเดิมถูกบังคับจำนองด้วยการขายทอดตลาด
ทั้งนี้ ผมหวังว่าการดำเนินการของภาครัฐในหลาย ๆ ด้านควบคู่กันไปเช่นนี้ จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนได้ และเราก็จะเห็นตัวเลขที่ดินทำกินของพี่น้องเกษตรกรที่ไม่ใช่มาจากการเช่าที่ดินทำกิน มีมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาวอีกด้วย อย่าไปฟังอย่างอื่น มันทำไม่ได้ ต้องทำในลักษณะแบบนี้ที่ต้องทำทั้งระบบ
"ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวก็มีมาพูดจาว่าเดี๋ยวจะทำโน่นทำนี่แล้วทำไม่ได้จริง ถ้าไม่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมายก็ทำไม่ได้ทั้งสิ้น ผ่านมา 30 - 40 ปีแล้วเรื่องนี้ เราต้องกลับไปสู่อดีตให้ได้ คือทุกคนมีที่ทำกิน เรามีพี่น้องเกษตรกรอีกมากที่มีปัญหาในเรื่องนี้ สำหรับพี่น้องประชาชนที่เป็นหนี้นอกระบบ ไม่ว่าจะเกี่ยวกับที่ดินหรือไม่ก็ตาม ก็ต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรม ท่านก็สามารถจะร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากศูนย์ดำรงธรรม สายด่วน 1567 ในพื้นที่ของท่านได้ ซึ่งภาครัฐมีกระบวนการที่จะเข้าไปช่วยเหลือดูแลเช่นกัน"