หลังจากเมื่อช่วงกลางดึกคืนที่ผ่านมา เกิดฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังหลายจุดในอำเภอสันทราย โดยเฉพาะบริเวณย่านมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตำบลป่าไผ่ ตำบลหนองหาร บ้านเรือนประชาชนบางหลังถูกน้ำไหลเข้าท่วมสูงประมาณ 30 เซนติเมตร และเอ่อล้นท่วมถนนหลายแห่งเนื่องจากน้ำระบายลงท่อไม่ทัน
ส่วนที่โรงเรียนบ้านห้วยเกี๋ยง ถูกน้ำท่วมสนามฟุตบอลเป็นวงกว้าง รวมถึงห้องสมุด ห้องวิทยาศาสตร์ และห้องคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน เบื้องต้นเจ้าหน้าที่และครูของโรงเรียนได้ช่วยกันวิดน้ำออก ก่อนที่ทหารจะเข้าช่วยขนย้ายสิ่งของและทำความสะอาดบ้านเรือนช่วงบ่ายวันนี้
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง ล่าสุดรถยนต์สามารถสัญจรไปมาบนท้องถนนได้ตามปกติ แต่ยังต้องเฝ้าระวังเนื่องจากฝนยังคงตกต่อเนื่อง
ปภ. ประสานทุกจังหวัด รับมือภาวะฝนฟ้าคะนอง-ฝนตกหนัก
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ พบว่า ทั่วทุกภาคของประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่กับมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ทำให้มีปริมาณฝนตกสะสมและปริมาณน้ำในลำน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันที่ 1 – 3 พฤษภาคม 2561 ประกอบกับปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพภูมิประเทศ การระบายน้ำของลำน้ำ โครงสร้างดิน และลักษณะทางกายภาพของแต่ละพื้นที่อาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่ขึ้นได้
ดังนั้น จึงได้ประสานทุกจังหวัด กรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต เตรียมพร้อมรับมือฝนฟ้าคะนองกับฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มในพื้นที่เสี่ยงภัย โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามสภาพอากาศ เพิ่มความถี่ในการตรวจวัดปริมาณฝน สังเกตการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมถึงการเปิดทางน้ำร่องระบายน้ำ การเสริมแนวคันกั้นน้ำ ตลอดจนจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย
พร้อมกันนี้ ได้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย โดยเฉพาะที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำ ที่ลาดเชิงเขา และพื้นที่ที่เคยประสบปัญหาอุทกภัยให้ระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในช่วงฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ กรณีมีฝนตกหนักถึงหนักมากปริมาณน้ำฝนสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรต่อวัน ให้พิจารณาอพยพประชาชนไปยังสถานที่ปลอดภัย
พร้อมดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัด และแผนปฏิบัติการฯ แผนเผชิญเหตุของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และแนวทางการจัดการสาธารณภัยในสถานการณ์ฉุกเฉิน หากสถานการณ์รุนแรงเกินศักยภาพให้รายงานกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างรวดเร็วและทันท่วงที