--------------------------------------------
การปฏิรูประบบสุขภาพในปี พ.ศ.2544 สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับประเทศไทย นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคได้สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมคนไทยทั่วประเทศ สร้างความมั่นคงทางสุขภาพและป้องกันการล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล ถึงแม้ในตามหลักการจะเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขระหว่างคนรวยและคนจน แต่ตัวเลขข้อมูลสถิติก็บ่งชี้ว่า ผู้ใช้บริการในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประชากรรายได้น้อย (56% ของผู้ป่วยโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอยู่ในกลุ่ม 40% ของประชากรที่มีรายได้ต่ำสุด[1]
และด้วยคุณภาพการบริการที่สะดวกรวดเร็วกว่า โรงพยาบาลเอกชนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งแก่ประชากรรายได้ปานกลางที่ยอมจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองเพื่อแลกกับเวลาที่เสียไปกับการรอคิวรับการตรวจ และเพื่อหลีกเลี่ยงความแออัดในสถานบริการของภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชนจึงเปรียบเสมือนตาข่ายเสริมความมั่นคงทางสุขภาพของคนรายได้ปานกลางที่ให้บริการเสริมที่ภาครัฐจัดหาให้ไม่ได้ แต่ทว่าตาข่ายความมั่นคงนี้จะมีความมั่นคงต่อไปในอนาคตหรือ เมื่อราคาค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับรายได้ของชนชั้นกลาง?
ธุรกิจสุขภาพเติบโตและค่ารักษาโรงพยาบาลเอกชนที่สูงขึ้น
ที่ใดมีกำไรที่นั่นย่อมเป็นแรงดึงดูดอันหอมหวนของผู้ประกอบการ ข้อมูลสถิติจากการสำรวจโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน พ.ศ.2555 โรงพยาบาลภาคเอกชนครองตลาดประมาณ 20 เปอร์เซนต์ ซึ่งประกอบด้วย จำนวนครั้งของการใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในรวม 46.3 ล้านครั้ง (22%ของทั้งประเทศ) จำนวนโรงพยาบาลเอกชน 321 แห่ง (23%ของทั้งประเทศ) จำนวนแพทย์จ้างเต็มเวลา 4831 คน (19%ของทั้งประเทศ) และจำนวนเตียง 30687 เตียง(20.9%ของทั้งประเทศ) แต่รายรับโรงพยาบาลเอกชนสูงถึง 119447.5 ล้านบาท (ประมาณ 1%GDP) และกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายกว่า 47565 ล้านบาท[2]
ในขณะที่การเก็บข้อมูลอย่างบูรณาการทั้งระบบเพื่อทราบถึงอัตราค่ารักษาของโรงพยาบาลเอกชนก็เป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากสาเหตุความลับทางธุรกิจ อย่างไรก็ตามมีรายงานของคณะกรรมาธิการสาธารณสุข เพื่อศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล ระหว่างปี 2552-2557 พบว่า ค่ารักษา 5 โรคในโรงพยาบาลเอกชนพุ่งสูงเกือบ 100 เปอร์เซนต์ เช่น ค่ารักษาเฉลี่ยโรคต้อกระจกและการผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ตาในโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำเพิ่มขึ้นจาก 64928 บาท ในปี พ.ศ.2552 เป็น 542308 บาท ในปี พ.ศ. 2557 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า[3]
เหตุใดการควบคุมราคาเป็นไปอย่างยากลำบาก
ประการแรก ลักษณะเฉพาะของตลาดสุขภาพ ตลาดสุขภาพมีลักษณะกึ่งผูกขาดกึ่งแข่งขัน เพราะไม่ใช่ทุกคนสามารถรักษาผู้ป่วยได้แต่ต้องได้รับใบประกอบโรคศิลป์ ซึ่งเป็นการกีดกันผู้ผลิตบางส่วนเข้าสู่ตลาด ลักษณะบริการสุขภาพมีความหลากหลายและไม่สามารถทดแทนกันได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ถ้าเราปวดหูเราต้องหาแพทย์เฉพาะทางหู โดยเลือกแพทย์เฉพาะทางหัวใจไม่ได้ ดังนั้นการที่มีผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดจำนวนมากและมีการแข่งขันมากขึ้นแต่ก็ไม่สามารถส่งผลลดราคาสินค้าได้เหมือนสินค้าปกติ แต่ละผู้ประกอบการมีอำนาจในการควบคุมราคา การแข่งขันระหว่างโรงพยาบาลเอกชนจึงไม่ใช่การแข่งขันตัดราคาเพื่อดึงลูกค้าแต่ใช้กลยุทธ์ตลาดอื่นๆเข้ามาแทน
นอกจากนี้ความไม่สมมาตรทางข้อมูลข่าวสารระหว่างแพทย์และคนไข้ กล่าวคือ แพทย์มีความรู้เชิงลึกทางการแพทย์มากกว่าผู้ป่วยและสามารถโน้มน้าวผู้ป่วยตัดสินใจรับการรักษาต่างๆ ซึ่งถ้าโชคร้ายผู้ป่วยพบแพทย์ที่ต้องการแสวงหากำไรมากกว่าผลประโยชน์คนไข้แล้ว ก็มีความเป็นไปได้สูงที่สั่งจ่ายการรักษาเกินความจำเป็นหรือกำหนดราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น
ประการสอง การสนับสนุนภาคเอกชนโดยภาครัฐ ถึงแม้ภาครัฐพยายามขยายการบริการสุขภาพเพื่อครอบคลุมประชากรทั่วประเทศ แต่ทว่าข้อจำกัดทางงบประมาณทำให้ประชากรบางกลุ่มเข้าไม่ถึงการรักษาแพทย์สมัยใหม่ ภาครัฐจึงมีมาตรการสนับสนุนโรงพยาบาลเอกชนตลอดมา เช่น สนับสนุนการเข้าถึงเงินกู้ลงทุน ขนาดตลาดโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ และถึงแม้ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งส่งผลการหดตัวของตลาดโรงพยาบาลเอกชน รัฐบาลก็มีมาตรการอื่นเพื่อฟื้นธุรกิจนี้อีกครั้งด้วยนโยบายเมดิคัลทัวร์ลิสม์และเมดิคัลฮับ ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเป็นตัวปั้ม GDP และสร้างการจ้างงานกว่า 137,000 ตำแหน่ง ซึ่งดูจะไม่สมเหตุสมผลนักที่รัฐบาลเลือกตั้งที่ความอยู่รอดขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจจะควบคุมความร้อนแรงภาคธุรกิจนี้
ประการสาม ระบบประกันสุขภาพที่ไม่สามารถคุมค่ารักษาได้ เมื่อกลไกตลาดและการขาดแคลนการแทรกแซงจากรัฐไม่สามารถควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชนได้ เราจึงต้องใช้องค์กรตัวแทนผู้บริโภคที่มีอำนาจต่อรองสูงกว่าเข้ามาเจรจาต่อรองกับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งก็คือบริษัทประกัน แต่ทว่าบริษัทประกันเอกชนในไทยล้วนเป็นบริษัทแสวงกำไร นอกจากนี้การเบิกจ่ายค่ารักษาก็เป็นลักษณะจ่ายย้อนหลังและกำหนดเพดาน โดยค่ารักษาส่วนเกินก็จะเป็นความรับผิดชอบของผู้ป่วยไป โดยมิใช่ระบบปลายปิดที่ผู้ป่วยไม่ต้องจ่ายใดๆเพิ่มเติม เช่น สิทธิประโยชน์บริษัทประกันเอกชนแห่งหนึ่งครอบคลุมค่ารักษา 1,000 บาท แต่โรงพยาบาลเอกชนคิดค่ารักษาทั้งหมด 2,000 บาท ผู้ป่วยจึงต้องจ่ายเพิ่มอีก 1,000 บาท ซึ่งลักษณะดังกล่าวยังพบได้ในระบบประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการด้วยเช่นกัน
ผลกระทบของค่ารักษาที่สูงขึ้น
ถ้าค่ารักษาพยาบาลเอกชนยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ในขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของกลุ่ม 20%ของประชากรที่รวยที่สุดอยู่ที่ 13,033 บาท[4] น่าเป็นห่วงว่าในอนาคตแม้แต่คนรายได้ปานกลางที่เป็นลูกค้าของโรงพยาบาลเอกชนก็หมดกำลังซื้อหรือประสบภาวะล้มละลายจากค่ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้อย่างง่ายดาย ภาคเอกชนที่เคยเป็นทางเลือกและสนับสนุนภาครัฐในการจัดหาบริการสุขภาพแก่คนชั้นกลางก็จะเหลือลูกค้าเฉพาะคนรายได้สูงและผลักคนไข้ที่ไม่มีกำลังจ่ายไปใช้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ผู้ป่วยที่เป็นโรคที่สร้างกำไรน้อยก็จะถูกผลักไปให้โรงพยาบาลรัฐรับผิดชอบต่อไป
ภาระของบุคลากรการแพทย์ในภาครัฐที่หนักอยู่แล้วก็จะเพิ่มมากขึ้นจากการไหลบ่าของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะแย่ลงอีกถ้าโรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีสภาพแวดล้อมการทำงานและผลตอบแทนสูงกว่าใช้พลังดูดแพทย์จากภาครัฐ
การหามาตรการต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนเพื่อความมั่นคงของสุขภาพคนไทย
อ้างอิง
[2] สำนักงานสถิติแห่งชาติ, การสำรวจโรงพยาบาลและสถานพยาบาลเอกชน พ.ศ.2555, 2013
[3] อ่านเพิ่มเติม รายงานจากสำนักข่าว tcij "พบ 5 ปีค่ารักษา 5 โรคใน รพ เอกชน พุ่งสูงขึ้นเกือบ 100 เปอร์เซนต์"
[4] ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ