สุราจ พัล อามู ผู้นำพรรคภราติยะ ชนาตะ หรือ BJP พรรครัฐบาลอินเดีย ประจำรัฐหรยาณา ประกาศว่าจะมอบเงินรางวัล 100 ล้านรูปี (ประมาณ 50 ล้านบาท) แก่ผู้ที่ตัดศีรษะ ทีปิกา ปาทุโกณ นักแสดงนำหญิงชื่อดังแห่งวงการภาพยนตร์บอลลีวูด และซานเจย์ ลีลา ปันซาลี ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง 'ปัทมาวตี' (Padmavati) ซึ่งเป็นการร่วมทุนสร้างระหว่างบริษัทปันซาลีและเวียคอม 18 มีเดีย บริษัทในเครือพาราเมาท์พิกเจอร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายภาพยนตร์ชื่อดังของวงการฮอลลีวูดในสหรัฐฯ
ข้อมูลของบริษัทปันซาลีระบุว่า ภาพยนตร์เรื่องปัทมาวตีมีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้ของรานีปัทมิณี หรือปัทมาวตี ผู้ปกครองนครของชาวฮินดูในอดีตให้รอดพ้นจากการรุกรานของสุลต่าน อะลาอุดดิน คิลจี ผู้ครองนครเดลี ซึ่งเป็นมุสลิม แต่กลุ่มผู้ที่สืบเชื้อสายราชปุตในรัฐราชสถานและรัฐหรยาณาของอินเดีย เชื่อว่าผู้กำกับภาพยนตร์มุ่งเน้นที่ความลุ่มหลงของสุลต่านที่มีต่อรานีปัตมาวตี ซึ่งถือเป็นการดูหมิ่นและบิดเบือนประวัติศาสตร์
การประกาศตั้งค่าหัวของนายสุราจเกิดขึ้นหลังจากที่บริษัทปันซาลีและเวียคอมฯ ระบุว่าจะนำภาพยนตร์ออกฉายในวันที่ 1 ธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ของอินเดียกล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่องปัทมาวตียังไม่มีกำหนดออกฉายในประเทศ เพราะเกิดปัญหาขัดข้องทางเทคนิค ทำให้คณะกรรมการยังไม่ได้ดูภาพยนตร์ จึงไม่อาจตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้ภาพยนตร์ออกฉายทั่วประเทศในวันที่ 1 ธันวาคมได้จริงหรือไม่
สื่อหลายสำนักระบุว่าท่าทีดังกล่าวเป็นการถ่วงเวลาของคณะกรรมการฯ โดยก่อนหน้านี้เคยสั่งห้ามฉายภาพยนตร์ฮอลลีวูดหลายเรื่องในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็น Fifty Shades of Grey ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับจินตนาการทางเพศ หรือภาพยนตร์ The Da Vinci Code ซึ่งถูกห้ามฉายในรัฐกัว เพราะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ ทำให้ประชากรชาวกัวซึ่งส่วนใหญ่เป็นคริสต์รู้สึกไม่พอใจ
ขณะที่พรรคบีเจพี ซึ่งเป็นต้นสังกัดของนายสุราจ เรียกร้องให้เขาชี้แจงรายละเอียดว่าการประกาศตั้งค่าหัวเพื่อแก่ผู้ที่ตัดศีรษะนักแสดงหญิงและผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเป็นความจริงหรือเป็นเพียงการเปรียบเปรย ขณะที่ ชาปนา อัสมี นักแสดงหญิงชาวอินเดียที่ได้รับรางวัลด้านการแสดง 5 สมัย ออกแถลงการณ์ยืนยันว่าการประกาศตั้งค่าหัวทีปิกาและซานเจย์ เข้าข่ายคุกคามและเป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญา และเธอยังเรียกร้องให้บุคลากรในแวดวงภาพยนตร์อินเดียคว่ำบาตรนายสุราจ พรรคบีเจพี และเทศกาลภาพยนตร์ซึ่งจะจัดขึ้นในรัฐที่ปล่อยให้มีการคุกคามทีปิกาและซานเจย์ โดยย้ำว่าคนในวงการจะต้องไม่ทำตัวเป็น 'เป็ดง่อย' ในกรณีนี้
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า บทกวีซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่องปัทมาวตีถูกเขียนขึ้นราวศตวรรษที่ 16 เพื่อกล่าวถึงอดีตรานีในศตวรรษที่ 13-14 ทำให้นักประวัติศาสตร์ระบุว่ารานีปัทมาวตีเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น เพราะไม่มีบันทึกหลักฐานอ้างอิงทางประวัติศาสตร์อื่นใดที่เขียนไว้นอกจากบทกวีที่กล่าวถึง แต่ชาวฮินดูที่สืบเชื้อสายราชปุตผู้ครองอาณาจักรในอดีตต่างเชื่อมั่นว่า 'รานีปัทมาวตี' มีตัวตนอยู่จริง และไม่พอใจที่มีการกล่าวถึงอดีตรานีซึ่งเป็นที่เคารพในภาพยนตร์สมัยใหม่ ทั้งยังตีความว่าสุลต่านลุ่มหลงในความงามของรานีจนต้องใช้อำนาจยึดครอง
ด้านผู้กำกับภาพยนตร์ 'ซานเจย์' ออกแถลงการณ์ในวันนี้ (20 พฤศจิกายน) เพื่อยืนยันว่าเนื้อหาที่กล่าวถึงความลุ่มหลงของสุลต่านที่มีต่อรานีไม่มีอยู่ในภาพยนตร์เรื่องปัทมาวตี แต่เขายอมรับข้อเสนอของคณะกรรมการเซ็นเซอร์ฯ ที่ระบุว่าภาพยนตร์ควรเลื่อนกำหนดฉายในอินเดียไปก่อน เพราะการพิจารณาว่าจะจัดเรทใดให้แก่ภาพยนตร์ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ส่วนโฆษกของทีปิกาไม่ได้แถลงข่าวใดๆ
อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ภาพยนตร์เรื่องปัทมาวตีถูกโจมตี เพราะระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ในรัฐราชสถาน ทางตะวันตกของอินเดีย มีกลุ่มชาวฮินดูจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปทำลายฉากถ่ายภาพยนตร์ และผู้กำกับฯ ซานเจย์ถูกทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บด้วย
เรียบเรียงโดย: ตติกานต์ เดชชพงศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: