ไม่พบผลการค้นหา
ศรีสุวรรณ ออกแถลงการณ์โต้กองทัพกรณีการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมจารกรรม ว่ากองทัพอย่าเฉไฉ ที่สมาคมฯ ออกมาทักท้วงเพราะถือว่าเป็นประโยชน์ของชาติ ไม่ใช่การมโนหรือดูหนังมากไป

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์โต้กลับกองทัพกรณีการตอบโต้การเฉไฉของกองทัพกรณีการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมจารกรรมโดยระบุว่าตามที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและโฆษกกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนกรณีข้อคัดค้านของสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยที่ไม่เห็นด้วยที่สภากลาโหมหรือกองทัพไทยกำลังดำเนินการจัดซื้อจัดหาดาวเทียม THEIA จากสหรัฐอเมริกามูลค่า 91,200 ล้านบาทไทยมาใช้ในขณะที่ประเทศยังอยู่ในสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนยังยากจน ฯลฯ โดยอ้างว่ากองทัพยังไม่ซื้อดาวเทียมจารกรรมดังกล่าวเป็นแค่การศึกษา และยังกล่าวหาว่ามโนไปเอง และหรือดูหนังมากเกินไป ซึ่งพิเคราะห์แล้วน่าจะมีลักษณะเฉไฉเลี่ยงบาลีตอบคำถามไม่ตรงประเด็นมากกว่า

กรณีดังกล่าวหากสมาคมฯจะมโนไปเองหรือไม่นั้น กองทัพก็ควรที่จะต้องตอบคำถามของสมาคมฯเพื่อให้ประชาชนทราบให้ได้เสียก่อนว่าเหตุใด 

1) ทำไมประธานกรรมการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป. : DTi) และคณะจึงได้เดินทางไปลงนามในหนังสือแสดงการรับรู้ หรือ LOA (Letter of Acknowledge) แล้วเมื่อวันที่ 14-23 ธันวาคม 2560 และต่อมาได้เดินทางไปลงนามในหนังสือแสดงความจำนง หรือ LOI (Letter of Intent) เมื่อเดือนมีนาคม 2561 และล่าสุดผู้บริหารในระดับบิ๊กๆของรัฐบาลได้เดินทางไปสหรัฐอเมิกาเมื่อปลายเดือนเมษายน 2561 เพื่อเป็นสักขีพยานในการลงนามในหนังสือยืนยัน หรือ LOC (Letter of Confirm) 

2) ทำไม รมช.กลาโหม เดินทางไปร่วมงานสัมมนาเรื่อง การใช้ประโยชน์จากดาวเทียม THEIA ณ ห้องฟินิกส์ อิมแพค เมืองทองธานี โดยมีหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกว่า 200 หน่วยงาน โดยการจัดของ สทป.เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 และมีการเชิญประธานกรรมการ THEIA และคณะผู้บริหารของบริษัทดาวเทียมดังกล่าวมาบรรยายสรุปเกี่ยวกับขีดความสามารถของดาวเทียมในการเจาะและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ โดยมีนักล็อบบี้ยิสต์ฝ่ายไทยที่เป็นอดีตนักการเมืองใหญ่ สส.หลายสมัยของจังหวัดเพชรบุรีรวมอยู่ด้วย 

3) เนื่องจากหนังสือ LOA , LOI และ LOC ที่ สทป. ไปลงนามกับ THEIA สหรัฐอเมริกานั้น มีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาเสียก่อน ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เหตุใดกองทัพหรือกระทรวงกลาโหมจึงไม่ขอความเห็นชอบจากสภา สนช.ให้มีมติให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการเรื่องดังกล่าวเสียก่อน และได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นตามที่รัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ครบถ้วนแล้วหรือยัง

4) ก่อนหน้านี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า จัดทำโครงการการพัฒนาดาวเทียมสำรวจธีออส 2 งบประมาณ 7,800 ล้านบาท และให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพัฒนาโครงการดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อความมั่นคงร่วมกับหน่วยงานด้านความมั่นคงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง งบประมาณ 1,000 ล้านบาทไปแล้ว จะถือว่าเป็นการซ้ำซ้อนกันหรือไม่ ? 

การออกมาทักท้วงของสมาคมฯ ก็เป็นการยึดถือผลประโยชน์ของชาติเป็นที่ตั้งหาใช่เป็นการมโนหรือดูหนังมากเกินไปแต่อย่างใด

ทั้งนี้ กรณีการใช้อำนาจในการไปลงนามในหนังสือสัญญาต่างๆกับต่างชาติในการจัดซื้อจัดหาดาวเทียมจารกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 นั้น สมาคมฯจำต้องนำความไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อไต่สวนและมีความเห็นว่ากรณีดังกล่าวมีการจงใจที่จะปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายหรือไม่ โดยสมาคมฯจะเดินทางไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ในวันพุธที่ 6 มิถุนายน 2561 เวลา 10.30 น. ณ สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี และเพื่อพิสูจน์ว่าสมาคมฯมโนหรือดูหนังมากเกินไปหรือไม่ด้วย

ขณะที่ก่อนหน้านี้ พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหมชี้แจงกรณีดังกล่าวผ่านเพจเฟซบุ๊กโฆษกกระทรวงกลาโหมว่า กระทรวงกลาโหมมีการใช้ดาวเทียมมาร่วม 30 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายภาพสำรวจพื้นที่และเฝ้าระวังทางอากาศ จึงถือว่าเป็นการปฏิบัติการด้านการทหารเช่นเดียวกัน โดยปัจจุบันระบบดาวเทียมมีการพัฒนา ดังนั้นกระทรวงกลาโหมได้เล็งเห็นความสำคัญของระบบดาวเทียม และได้ปรับเปลี่ยนจากผู้ใช้มาเป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติการ และมีการพัฒนาขีดความสามารถ โดยมีแนวคิดจำทำร่างยุทธศาสตร์ เรื่องกิจการทางอวกาศ เพื่อใช้ในการป้องกันประเทศ โดยเป็นความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงดีอี 

ทั้งนี้ พล.ท. คงชีพ ยืนยันว่าไม่มีแนวคิดนโยบายดาวเทียมทหาร และไม่มีแนวคิดที่จะสอดแนมละเมิดสิทธิประชาชน จึงอยากให้ประชาชนรับข้อมูลที่ถูกต้องจากภาครัฐ และขอให้พิจารณาแหล่งที่มาของข้อมูลข่าวสารด้วย

ขอบภาพ : Photo by NASA on Unsplash

หมายเหตุ : ภาพสำหรับประกอบรายงานข่าวเท่านั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง