ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงพาณิชย์ เร่งแก้ปัญหาสับปะรดราคาตกต่ำ วางมาตรการกระจายออกนอกแหล่งผลิต และเร่งรัดขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศ พร้อมขอความร่วมมือภาคเอกชนช่วยรับซื้อ คาดสถานการณ์จะคลี่คลายได้ในเดือน ก.ค.นี้

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า ตลอดช่วงเดือนพฤษภาคม -มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ผลผลิตสับปะรดออกสู่ตลาดมาก ทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาราคาอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปีนี้ดินฟ้าอากาศเอื้ออำนวยให้ผลผลิตสับปะรดเพิ่ม และประกอบกับสองสามปีที่ผ่านมาสับปะรดมีราคาสูง ทำให้มีการขยายพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น 

กระทรวงพาณิชย์ วางมาตรการช่วยเหลือได้แก่ มาตรการนำสับปะรดส่วนเกินออกจากระบบ โดยการกระจายสับปะรดออกนอกแหล่งผลิตสำหรับบริโภคผลสด และนำไปทำอาหารสัตว์เลี้ยงโคนมโคเนื้อ รณรงค์บริโภคสับปะรดโดยอาศัยเครือข่ายประชารัฐ และการเร่งรัดขยายตลาดส่งออกไปต่างประเทศให้มากขึ้น

ทั้งนี้ ได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยได้สนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงและกระจายผลผลิตสับปะรดผลสดออกจากแหล่งผลิต และได้สนับสนุนงบประมาณให้จังหวัด ระยอง ชลบุรี เชียงราย อุทัยธานี พิษณุโลก ลำปาง ประจวบคีรีขันธ์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายรวบรวมผลผลิต คัดคุณภาพ และกระจายไปจังหวัดปลายทางนอกแหล่งผลิต รวมปริมาณกว่า 2,000 ตัน

พร้อมกันนี้ ยังได้ขอความร่วมมือจากภาคราชการและภาคเอกชนให้ช่วยรับซื้อสับปะรดจากเกษตรกร เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แจกสับปะรดผลสดให้กับผู้ที่มารับบริการที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงกว่า 70 สาขาทั่วประเทศรวมปริมาณกว่า 890 ตัน บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) รับซื้อสับปะรดสด 460 ตัน เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เตรียมไว้สำหรับสมนาคุณลูกค้าที่มาใช้บริการสถานีน้ำมันเชื้อเพลิง 

และห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ เช่น ห้าง Lotus, Big C, makro, The Mall, Tops ได้ร่วมลงนาม MOU กับกรมการค้าภายในในการช่วยรับซื้อสับปะรดจากเกษตรกรโดยตรง ปริมาณรวม 2,820 ตัน รวมทั้งกรมปศุสัตว์และผู้ประกอบการฟาร์มปศุสัตว์ได้นำสับปะรดใช้เป็นอาหารเลี้ยงโคนมโคเนื้อ รวมแล้วกว่า 1,800 ตัน 

นอกจากนี้ จังหวัดที่ไม่ได้เป็นแหล่งเพาะปลูกสับปะรด ได้ช่วยรับซื้อสับปะรดจากจังหวัดที่เป็นแหล่งเพาะปลูกเพื่อไปจำหน่ายในพื้นที่ด้วย ในขณะที่โรงแรมและร้านอาหารก็ได้มีการทำเมนูอาหารที่มีส่วนประกอบจากสับปะรดเป็นเมนูพิเศษบริการลูกค้าและนักท่องเที่ยว เพื่อเพิ่มปริมาณการบริโภคสับปะรดอีกด้วย

อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ต้นเดือนกรกฎาคม 2561 สถานการณ์สับปะรดจะค่อยๆ คลี่คลายกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ราคาสับปะรดที่เกษตรกรขายได้จะค่อยๆ ปรับสูงขึ้น ขณะที่การเพาะปลูกสับปะรดในรอบถัดไปขอให้เกษตรกรศึกษาการตลาดเพื่อวางแผนการผลิตและขอให้พิจารณาทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับโรงงานด้วยเพื่อจะได้มีตลาดที่แน่นอน


Photo by Maria Fernanda Gonzalez on Unsplash


อ่านเพิ่มเติม