ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศตั้งข้อสังเกตว่า ในสหรัฐฯ มีร้านอาหารไทยเปิดอยู่จำนวนมาก แม้ชาวไทยในสหรัฐฯ จะมีจำนวนไม่มากเท่าคนชาติอื่นก็ตาม และพบว่านี่เป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลไทยที่อยากให้อาหารไทยได้รับความนิยมเหมือนแมคโดนัลด์

สำนักข่าว Munchies/Vice กล่าวว่าอาหารไทยเป็นหนึ่งในเมนูยอดนิยมที่ชาวนิวยอร์กนิยมซื้อกลับบ้านหรือสั่งแบบเดลิเวอรี เพราะทั้งอร่อยและสะดวก เนื่องจากร้านอาหารไทยมีตั้งอยู่แทบทุกหัวถนนในนครนิวยอร์ก และยังมีร้านอาหารตั้งอยู่ทั่วสหรัฐฯ อีกด้วย จนทำให้ชาวอเมริกันหลายคนเกิดความสงสัยว่า ทำไมจึงมีร้านอาหารไทยจำนวนมากเช่นนี้

แม้ร้านอาหารเม็กซิกันและจีนอาจมีจำนวนมากกว่าร้านอาหารไทย แต่จำนวนร้านอาหารทั้งสองชาติก็สอดคล้องกับจำนวนประชากรเม็กซิกันในสหรัฐฯ ที่มีประมาณ 36 ล้านคนและมีคนจีนอีกประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งข้อมูลของสถานทูตไทยในสหรัฐฯ เปิดเผยว่ามีชาวไทยอเมริกันอยู่เพียง 300,000 คน หรือไม่ถึงร้อยละ 1 ของจำนวนชาวเม็กซิกันอเมริกัน แต่ร้านอาหารไทยมีประมาณ 5,350 ร้าน ส่วนร้านอาหารเม็กซิกันมีประมาณ 54,000 ร้าน แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนร้านอาหารไทยต่อประชากรชาวไทยมีมากกว่าถึง 10 เท่า

ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะอาหารไทยอร่อยและได้รับความนิยมมากในสหรัฐฯ แต่อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านอาหารไทยมีจำนวนมากก็คือการที่รัฐบาลไทยจ่ายเงินสนับสนุน โดยรัฐบาลพยายามเพิ่มจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศ ในฐานะที่เป็นทูตด้านอาหาร เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออกและรายได้การท่องเที่ยว


อาหารไทย

(Photo by Elli O. on Unsplash)

ในปี 2001 รัฐบาลไทยได้ตั้งบริษัทโกลบอล ไทย เรสเตอรองต์ จำกัด โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดร้านอาหารไทยอย่างน้อย 3,000 แห่งทั่วโลก โดยนายกรพจน์ อัศวินวิจิตร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัยเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวเดอะวอลสตรีทเจอร์นัลว่ารัฐบาลหวังว่าเชนร้านอาหารไทยเหล่านี้จะเป็นเหมือน 'แมคโดนัลด์แห่งวงการอาหารไทย'

แม้ร้านอาหารไทยเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จถึงขั้นเป็นแมคโดนัลด์ของอาหารไทย แต่นโยบายนี้ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในการเพิ่มจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศ จากประมาณ 5,000 ร้าน เพิ่มิขึ้นมากว่า 15,000 ร้านทั่วโลก และรัฐบาลก็ยังคงให้เงินสนับสนุนต่อไป นอกจากนี้ ธนาคารไทยอีกหลายแห่งยังได้ให้เงินกู้กับชาวไทยที่ต้องการเปิดร้านอาหารในต่างประเทศด้วย

Munchies ระบุว่ากรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการมากกว่าคนในอุตสาหกรรมร้านอาหาร ได้ร่างแผนธุรกิจ 'ร้านอาหารต้นแบบ' ไว้ 3 แบบ เพื่อให้นักลงทุนเลือกแผนการเปิดร้าน ตั้งแต่เรื่องความสวยงามไปจนถึงเมนูอาหาร

1. Elephant Jump จะเป็นร้านอาหารแบบลำลอง ราคาประมาณ 150 - 470 บาทต่อหัว

2. Cool Basil เป็นร้านอาหารราคาปานกลาง 470 - 780 บาทต่อหัว

3. Golden Leaf จะเป็นร้านอาหารที่มีการตกแต่งสวยงามแบบไทยโบราณ ราคาประมาณ 780 - 940 บาทต่อหัว


ครก เขียง

(Photo by Todd Quackenbush on Unsplash)

นอกจากให้เงินสนับสนุนและวางแผนธุรกิจต้นแบบแล้ว กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศยังจับคู่นักธุรกิจและนักลงทุนชาวไทยและต่างชาติให้ได้พูดคุยกัน ทำวิจัยการตลาดเกี่ยวกับรสชาติอาหารที่ถูกปากคนแต่ละพื้นที่ และส่งตัวแทนจากสถาบันทำอาหารไทยได้อบรมให้เชฟในต่างประเทศด้วย

เมื่อร้านอาหารไทยเปิดกันมากแล้ว รัฐบาลยังมีใบประกาศนียบัตร 'Thai Select' จากกระทรวงพาณิชย์เพื่อการันตีคุณภาพและความน่าเชื่อถือให้กับร้านอาหารไทยที่ผ่านเกณฑ์อีกด้วย จากนั้นกระทรวงพาณิชย์ก็จะแนะนำวิธีโปรโมตร้าน รวมถึงหารือว่ารัฐบาลจะช่วยสนับสนุนเรื่องวัตถุดิบสำหรับทำอาหารอย่างไรบ้าง เช่น การนำเข้าข่า น้ำปลา ข้าวไรซ์เบอร์รี

ปัจจุบัน สหรัฐฯ กลายเป็นตลาดใหญ่สำหรับอาหารไทย โดยคนอเมริกันกลายเป็นกลุ่มลูกค้าที่ชอบอาหารทำจากกะทิไปจนถึงน้ำจิ้มสะเต๊ะ รัฐบาลไทยจึงพยายามจะตีตลาดพื้นที่ใหม่ๆ โดยเฉพาะตะวันออกกลาง โดยมีการตั้งเป้าว่าภายในปี 2020 ไทยจะขึ้นเป็น 1 ใน 5 ผู้ส่งออกอาหารฮาลาลด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: