ไม่พบผลการค้นหา
4 ปีแห่งการมีทีวีดิจิทัลในไทย ไม่เพียงท้าทายผู้ประกอบการด้วยตัวเลขรายได้ไม่สอดคล้องกับรายจ่าย หากแต่เป็น 4 ปีเดียวกับการอยู่ภายใต้ผู้กุมอำนาจรัฐที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เป็นความท้าทายผู้บริหารสื่อทั้งในฐานะองค์กรธุรกิจ และองค์กรที่ต้องมีเสรีภาพเป็นเหมือนอากาศและอาหารในการหล่อเลี้ยงชีวิต

ล่าสุดคำสั่ง คสช. ที่ 9/2561 มีเนื้อหาที่จะบรรเทาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่นั่นอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมดของทุกช่องทีวีดิจิทัล ทั้งอาจนำมาซึ่งคำถามถึงการเข้ามากำกับเนื้อหาของสื่ออย่างเข้มงวด และยังไม่นับโจทย์ใหญ่แห่งยุคสมัย เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง และคนดูทีวีมีแต่คงที่กับลดลง

4 ปีของการมีทีวีดิจิทัลในประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าในมุมธุรกิจแล้วไม่สวยงามอย่างที่ผู้ประกอบการฝันหวังตั้งแต่แรก เกือบทุกเจ้าประสบภาวะขาดทุน และบางช่องเลือกที่จะนำร่องไปก่อนว่าจะสู้เพื่อขอคืนใบอนุญาตประกอบการ เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลไม่สอดคล้องกับรายได้ที่ได้รับ

ความท้าทายที่หนึ่ง: ธุรกิจทีวีดิจิทัลไทย ในภาวะไม่ทำกำไร และการกำกับเข้ม

“ที่ผ่านมา ก่อนจะเข้าสู่การประมูลช่องทีวีดิจิทัล วอยซ์ทีวีเป็นช่องดาวเทียมที่ประสบความสำเร็จ มีฐานคนดูใกล้เคียงกับช่องทีวีหลัก 6 ช่อง แต่เมื่อปรับสู่การเป็นทีวีดิจิทัลเพียงไม่นาน ก็เกิดการรัฐประหาร และถูกปิดไปเกือบ 1 เดือน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของลูกค้า และกระทบต่อการเข้าถึงของผู้ชม” เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ.วอยซ์ทีวี จำกัด บอกกับทีมงานเมื่อเราคุยกันถึงอดีต และปัจจุบันของช่อง

เขากล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาการบริหารโครงสร้างพื้นฐานของ กสทช. ก็มีความไม่พร้อม จากเดิมที่คาดว่า กสทช. จะดำเนินการบริหารโครงข่ายพื้นฐานและดำเนินการอื่นๆ ที่จะทำให้ทีวีดิจิทัลเข้าถึงผู้ชม 22 ล้านครัวเรือน แต่กลับพบว่าเครือข่ายสามารถเข้าถึงผู้ชมเพียง 8 ล้านครัวเรือน ต้องใช้สัญญาณดาวเทียมเข้าช่วยผ่านกฎ must carry โดยมี ประกาศกสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศนท์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ออกมาเพื่อป้องกันจอดำและทำให้ผู้ชมสามารถรับชมได้ทุกช่องทาง ทั้งทางดาวเทียมและเคเบิ้ลหรือเทคโนโลยีอื่นๆ ให้สามารถรับชมบริการโทรทัศน์ได้อย่างเท่าเทียม และทั่วถึง

เมื่อบริษัท ไทยทีวีจำกัด เป็นผู้ประกอบการรายแรกที่กล้าประกาศไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต พร้อมยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง กระทั่งศาลมีคำสั่งให้ กสทช. คืนเงินค้ำประกันสัญญา (แบงก์ การันตี) ในงวดที่ 3 เป็นต้นไปให้กับบริษัท ไทยทีวี จำกัด ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาทโดยศาลปกครองกลางชี้ด้วย กสทช.ไม่ดำเนินการตามหน้าที่ทำให้ในการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่ง สัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิทัลเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่เป็นไปตามแผนงาน รวมทั้งการ ประชาสัมพันธ์การเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์ทำได้ไม่ทั่วถึง ประชาชนจึงไม่เข้าใจวิธีการเปลี่ยนผ่านระบบ โทรทัศน์รวมทั้งการใช้คูปอง ทำให้การแลกซื้อเครื่องรับสัญญาณเป็นไปอย่างล่าช้า และประชาชนไม่สนใจ โทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลมากเท่าที่ควร ผู้ฟ้องคดีจึงมีสิทธิบอกเลิกการให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลได้

แม้คดียังไม่ถึงที่สุด แต่คำสั่งศาลปกครองกลางเป็นเสมือนการคลายปมให้เกิดทางออกของเอกชนที่กำลังแบกภาระค่าใช้จ่ายรวมกันแล้วเป็นเม็ดเงินมหาศาล

แต่เมื่อพิจารณาตัวคำสั่ง คสช.9/2561 อย่างละเอียดประกอบกับการให้สัมภาษณ์ของเลขาธิการ กสทช. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ แล้ว พบว่า วอยซ์ทีวีก็อาจจะมีโจทย์ไม่เหมือนชาวบ้านชาวช่อง

คำสั่ง คสช. ที่ 9/2561 มีสาระสำคัญ 3 ข้อ คือ

1)   "พักชําระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ" โดยให้กําหนดระยะเวลาการพักชําระค่าธรรมเนียม ไม่เกิน 3 ปี พร้อมกับมีเงื่อนไขว่า ผู้รับใบอนุญาตยังคงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขอื่นตามคําสั่งที่ 76/2559

2)   สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าใช้โครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (MUX) ให้กับผู้รับใบอนุญาตฯ เป็นจํานวนเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าเช่าใช้โครงข่ายฯ เป็นระยะเวลา 24 เดือน นับแต่วันที่คําสั่งนี้มีผลใช้บังคับ

3)   อนุญาตให้กรมประชาสัมพันธ์อาจมีเงินรายได้จากการโฆษณาได้เท่าที่จําเป็นและเพียงพอต่อการผลิตรายการ ตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ประกาศกําหนด

อย่างไรก็ตาม การพักชำระค่าธรรมเนียมฯ และรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเช่าโครงข่ายนั้น มาพร้อมเงื่อนไขสำคัญที่ปรากฏอยู่ในข้อ 9 ของคำสั่งฯ และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. ให้สัมภาษณ์ย้ำคือ

“ใครที่ทำผิดเงื่อนไข ดำเนินการใดๆ ที่ผิดเงื่อนไขต่างๆ สำนักงาน กสทช. เองจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้เป็นผู้พักชำระหนี้ในระยะเวลา 3 ปี และได้รับค่าสนับสนุนในการเช่าโครงข่ายหรือไม่ เดี๋ยวจะมีหนังสือแจ้งตอบ เมื่อมีหนังสือแจ้งตอบ จะมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคมเป็นต้นไป แต่ถ้าเราพิจารณาแล้วว่าเป็นผู้กระทำผิดเงื่อนไขบ่อยหรือมีเหตุอื่นในการดำเนินการ เราจะมีหนังสือแจ้งตอบไปว่าไม่ให้ดำเนินการดังกล่าว จะต้องนำเงินมาชำระพร้อมอัตราดอกเบี้ย”

และ

“ในส่วนที่สอง เมื่อได้รับการพักชำระหนี้ไปแล้ว หากสำนักงาน กสทช. ยังตรวจพบภายหลังว่าการจัดทำผังรายการต่างๆ หรือการดำเนินการประกอบกิจการ ไม่มีข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนและมีสาระสำคัญต่างๆ ทางสำนักงานฯ มีสิทธิที่จะประกาศยกเลิกการพักชำระหนี้ และการสนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายดังกล่าวได้ในภายหลังอีก”

เรื่องนี้ ซีอีโอของวอยซ์ทีวีมองว่า เป็นอีกครั้งที่คำสั่ง คสช. เปิดช่องให้ กสทช. ใช้เหตุแห่งการนำเสนอเนื้อหามาพิจารณาให้คุณให้โทษผู้ประกอบการ


“สิ่งที่นายฐากรพูด เกินเลยยิ่งกว่าคำสั่งข้อ 9 และมีนัยขยายอำนาจ กสทช. และการทำเช่นนี้ไม่ใช่กระทบแค่ Voice แต่จะทำให้ทุกช่องหวาดกลัวไม่กล้าวิจารณ์หรือไม่กล้าเสนอข่าวแง่ลบ”


นายเมฆินทร์กล่าวและอธิบายต่อไปว่า มาตรการลงโทษต่างๆ กสทช. มีอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องการปฏิบัติตามหลักหรือการพิจารณาเนื้อหาที่ช่องฯ นำเสนอไม่ควรเอามาปนกับมาตรการผ่อนผันค่าธรรมเนียมและการช่วยสนับสนุนค่ามักซ์ (MUX)

“กรณีผ่อนผันนี้ไม่ใช่ทีวีดิจิทัลเอาเปรียบรัฐ เพราะเวลาที่พักหนี้ผู้ประกอบการก็จ่ายดอกเบี้ย ส่วนค่ามักซ์นั้นโครงข่ายมีปัญหามาแต่ต้น ฉะนั้นมันเป็นมาตรการกึ่งช่วยเหลือกึ่งคืนความเป็นธรรม ที่รัฐเองก็ได้ประโยชน์ จะเอามาต่อรองเพื่อเลือกปฏิบัติไม่ได้”

ซีอีโอวอยซ์ทีวีกล่าวต่อไปว่า ในฐานะองค์กรธุรกิจแล้ว วอยซ์ทีวีพร้อมปรับตัวเต็มที่เพื่อให้สอดคล้องกับกฎและกติกา และการพิจารณาของ กสทช. ว่าวอยซ์ทีวีจะอยู่ในข่ายผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากคำสั่ง คสช. ที่ 9/2561 หรือไม่ เป็นเรื่องสำคัญที่เขากำลังจับตาอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะสู้เพื่อให้เกิดการวางมาตรฐานที่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการที่จ่ายต้นทุนไปแพงในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา

ความท้าทายที่สอง: ผู้บริโภคเปลี่ยน สื่อต้องปรับตัวให้เร็ว

นอกจากการกำกับอย่างเข้มงวด และการแข่งขันในธุรกิจทีวีดิจิทัลที่อยู่ในภาวะ Over Supplied เมฆินทร์บอกว่า สิ่งที่ท้าทายคู่ขนานมาก็คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ผู้บริโภคทีวีนั้นจำกัดอยู่ที่จำนวนราว 40 ล้านคน แต่อาจจะไม่เพิ่มขึ้นอีก ขณะที่คนรุ่นที่อายุต่ำกว่า 40 ลงมาก็หันไปหาหน้าจอมือถือแทนแล้ว

“ผู้ชมแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็น Digital Migrant หรือคนที่ยังอยู่กับโทรทัศน์แต่ก็ปรับตัวมาติดตามข่าวสารทางออนไลน์ด้วย กลุ่มที่สองคือ Digital Native กลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 40 ลงมา และอาจจะไม่ดูโทรทัศน์แล้ว และติดตามข่าวสารผ่านออนไลน์เป็นหลัก”

เขาเห็นว่า พฤติกรรมในการบริโภคนั้นแตกต่างทั้งเนื้อหาและวิธีการนำเสนอ ดังนั้น การพัฒนาสื่อทั้งสองแพลตฟอร์มคู่ขนานจึงเป็นพันธกิจที่วอยซ์จะต้องปรับให้เร็ว

“ทีวีก็ต้องนำเสนอบนออนไลน์ควบคู่ไปด้วย ขณะที่สื่อออนไลน์ของวอยซ์เองก็ต้องสร้างการจดจำสำหรับ Digital Native”

วอยซ์ทีวีจึงมีทั้งแฟนเพจบนเฟซบุ๊ก โดยมีทั้งแฟนเพจตามรายการหลักของช่อง คือ Tonight Thailand, Wake Up Thailand, The Daily Dose, World Trend และ Voice TV World ซึ่งทำหน้าที่เป็นเพจหลักให้กับรายการ Biz Feed

ผนึกกำลังด้วยทีม Voice Online ซึ่งปรับทิศทางจากเดิมที่ใช้เว็บไซต์และเฟซบุ๊กเพจเผยแพร่ซ้ำเนื้อหาที่นำเสนอผ่านทีวี มาสู่การเป็นสำนักข่าวที่เป็นอิสระจากทีวี เน้นการนำเสนอข่าวสารที่ทำให้มองเห็นประเด็นใหม่ๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และทิศทางรอบโลก โดยเน้นการนำเสนอในรูปแบบมัลติมีเดียที่สอดคล้องกับคนใช้งานออนไลน์


“กลไกตลาดหรือพฤติกรรมผู้บริโภคมีวิวัฒนาการไปแล้ว ก็ต้องสร้างเนื้อหาที่มีคุณค่า มีรูปแบบคอนเทนต์ใหม่ หลากหลายรอบด้าน เพื่อรักษาและขยายฐานผู้ชมทั้งทีวีและออนไลน์”


ซีอีโอวอยซ์ทีวีกล่าวย้ำและว่าในทางธุรกิจแล้ว นอกเหนือจากเม็ดเงินโฆษณาที่เข้ามาทางทีวีและสื่อออนไลน์ วอยซ์ยังมีรายได้อีกสองช่องทาง คือ การเป็น Production House และการจัดกิจกรรม ดังนั้นในทางธุรกิจแล้วเขาเชื่อมั่นว่าวอยซ์ทีวีมีความแข็งแกร่งที่จะเดินหน้าต่อไปบนเส้นทางทีวีดิจิทัล หากแต่ความไม่แน่นอนนั้น ต้องกลับไปดูความท้าทายข้อแรก นั่นคือ การใช้อำนาจของ กสทช. ในการตีความเนื้อหาอย่างกว้างวางให้คุณให้โทษผู้ประกอบการได้โดยไม่มีหนทางอุทธรณ์ก่อนที่จะการมีมาตรการลงโทษ และหากจะอุทธรณ์ต้องไปยังศาลปกครองเท่านั้น ซึ่งเขาเห็นว่าอำนาจของ กสทช. นั้นอยู่ในจุดที่ขาดการถ่วงดุล

“ทางเศรษฐกิจแล้วเสียหาย ในแง่ของธุรกิจ เรามีการวางแผน เราจะทำธุรกิจได้ แต่ความไม่แน่นอนนี้อยู่ที่การตีความของ กสทช.ที่กว้างขวาง ทำให้ลูกค้าเสียความเชื่อมั่นต่อเรา” 

ทั้งนี้ พิจารณาจากที่ผ่านมา วอยซ์ทีวีเป็นสถานีที่ถูกเรียกเพื่อตักเตือนและลงโทษ ปิดบางรายการรวม 17 ครั้ง และปิดทั้งสถานี 2 ครั้ง คือหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อปี 2557 เป็นเวลา 26 วัน ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ถึง 14 มิถุนายน

และอีกครั้งถูก กสทช. สั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานีเป็นเวลา 7 วัน ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 3 เม.ย. 2560

ความท้าทายที่สาม: เสรีภาพสื่อภายใต้ระเบียบและคำสั่ง

“การกำกับเนื้อหาอย่างเข้มข้น ก็ทำให้การทำงานไม่เต็มที่ทั้งในแง่ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อ และในแง่ของเสรีภาพในการนำเสนอเนื้อหาก็ไม่เต็มที่” เมฆินทร์กล่าวถึงความท้าทายข้อที่สาม แต่ก็ยังยืนยันว่าเนื้อหาของวอยซ์ทีวีที่ผ่านมา นำเสนอบนพื้นฐานของการเป็นสื่อมวลชนที่ยืนยันหลักการนำเสนอว่าต้องถูกต้อง รอบด้าน เป็นธรรมกับผู้ที่อยู่ในข่าว


“จุดยืนของวอยซ์คือ เสรีภาพของสื่อ และหลักประชาธิปไตย เนื้อหาที่เราทำ นำเสนอภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร และการนำเสนอเนื้อหาของวอยซ์ทีวีนั้นปรับตัวอย่างเต็มที่แล้ว”


นายเมฆินทร์กล่าว

“แต่ระดับการกำกับที่เกินกว่าปกติมาก เราคิดว่าเกินเลยขอบเขตการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อที่จะต้องเป็นอิสระ เป็นที่พึ่ง เป็นผู้ส่งข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้ อีกทั้งความเห็นอีกด้านหนึ่งในสังคมก็หายไป แม้ว่าความเห็นนั้นไม่ได้ละเมิดบุคคลและความมั่นคงของประเทศ เปรียบเทียบกับข้อมูลที่ซักค้าน โต้แย้งที่เผยแพร่ในสื่อต่างๆ แล้วก็น้อยมาก”

เขาย้ำว่า การที่ คสช. ออกคำสั่งที่ 41/2559 คุ้มครองให้ กสทช. ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญากรณีที่มีการสั่งระงับการเผยแพร่สื่อที่เข้าข่ายกระทบความมั่นคง ส่งผลให้มีช่องทางในการถ่วงดุลอำนาจ กสทช. เหลือเพียงช่องทางเดียวคือ ศาลปกครองเท่านั้น แต่ผลกระทบที่หนักหนากว่านั้นก็คือ ผลกระทบต่อการนำเสนอข่าวสารอย่างเสรี

“ในแง่ของการกำกับดูแล เรายังให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพึ่งศาลปกครอง” เมฆินทร์กล่าว และเขาย้ำว่าที่ผ่านมามีความคิดจะวางหลักในการปฏิบัติด้วยการร้องศาลปกครองมาโดยตลอด และหากมีการตัดสินของ กสทช. ที่กระทบต่อการนำเสนอและก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อเสรีภาพสื่อและต่อธุรกิจอีกครั้ง ก็จะเดินหน้าสู่ศาลปกครองอย่างจริงจัง

“ความอยู่รอดของทีวีดิจิทัลเราต้องสู้ และการสร้างเสรีภาพของสื่อ เราก็ต้องสู้”