นางศิริวัลย์ แก้วมูลเนียม รองอธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า เพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) และที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้เปิดให้บริการรับชำระภาษีอากรผ่านเครื่องรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ EDC มาแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 51 แห่ง รวมกับพื้นที่สรรพากรต่างจังหวัดอีก 31 แห่ง รวมเป็นทั้งสิ้น 82 แห่ง โดยมีธนาคารผู้ติดตั้งเครื่อง EDC 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย
ขณะที่ล่าสุด กรมสรรพากรร่วมมือทำบันทึกข้อตกลงกับธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย ให้ติดตั้ง EDC เพิ่มเติมให้ครอบคลุมสรรพากรพื้นที่กว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2561 นี้เป็นต้นไป ส่วนเครื่องรูดบัตรของธนาคารอื่นๆ ที่ใช้ก่อนหน้านี้จะยกเลิกและคืนเครื่องไปก่อน
ทั้งนี้ การติดตั้ง EDC จะสามารถชำระได้ทั้งค่าภาษีอากร ค่าปรับอาญา และค่าธรรมเนียมการให้บริการข้อมูล โดยสามารถชำระค่าภาษีได้ทุกประเภท สำหรับการชำระผ่านบัตรเดบิต จะไม่มีค่าธรรมเนียม ส่วนการชำระผ่านบัตรเครดิตจะขึ้นกับเงื่อนไขของบัตรของแต่ละธนาคาร
สำหรับการยื่นภาษีรายได้บุคคลธรรมดา ปีภาษี 2560 พบว่า ล่าสุด (5 ก.พ.) มีการยื่นภาษีบุคคลธรรมดา 5-6 แสนราย ซึ่งถือว่ายังน้อย และคาดว่า คนส่วนใหญ่รอเอกสารใบเสร็จจากบริษัทประกันภัยประกันชีวิต เนื่องจากเป็นปีแรกที่มีการลดหย่อนภาษีจากการซื้อประกันสุขภาพ
ส่วนการขอคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ปีนี้มีสูงถึง 90% หรือคิดเป็น 30,000 ราย เพิ่มขึ้นจากปีก่อนซึ่งเป็นปีแรกการคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์ยังมีสัดส่วนเพียง 80% ส่วนการคืนเงินภาษีผ่านเช็ค ล่าสุดยังมีเพียงระดับพันราย ขณะที่การยื่นภาษีผ่านแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือถือว่ายังน้อยมาก และผู้มีรายได้ส่วนใหญ่ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น
รองอธิบดีกรมสรรพากร กล่าวด้วยว่า แผนงานตามการสร้างระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ ในส่วนของสรรพากรปัจจุบันได้ดำเนินการตามแผนงานไปหลายด้าน อาทิ การคืนเงินภาษีผ่านพร้อมเพย์ การวางเครื่อง EDC ให้ครอบคลุม ส่วนการทำใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ได้เริ่มให้บริการไปแล้วเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ด้านนายอภิชาติ เจริญเรืองเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารกลุ่ม กลุ่มราชการสัมพันธ์ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ด้วยนโยบายของกรมสรรพากรที่ต้องการให้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. นี้เป็นต้นไป สามารถให้บริการรับชำระค่าภาษีอากรผ่านเครื่อง EDC ได้ทั่วประเทศ จากปัจจุบันชำระผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรเดบิต บัตรเครดิต และ Tax Smart Card ซึ่งที่ผ่านมา การชำระผ่านบัตร Tax Smart Card จะไม่มีค่าธรรมเนียม (ค่าฟี) แต่การชำระผ่านบัตรเดบิตและบัตรเครดิตมีค่าธรรมเนียม แต่เพื่อกระตุ้นการชำระผ่านบัตรอิเล็กทรอนิกส์ และสนับสนุนนโยบายภาครัฐ ธนาคารกรุงไทยจึงจะยกเว้นค่าธรรมเนียมเมื่อชำระผ่านบัตรเดบิต ในช่วงวันที่ 1-31 มี.ค. นี้
นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ตามนโยบายระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ national e-payment ที่กระทรวงการคลังผลักดันมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และการติดตั้งเครื่องรับบัตรหรือ EDC เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ในการร่วมมือตั้งเครื่องรับบัตรเพื่อรับชำระค่าภาษีอากรของกรมสรรพากรนับเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการวางเครื่องรับบัตรให้ครอบคลุม 560,000 จุด ซึ่งในส่วนของธนาคารกสิกรไทยร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ ขณะนี้ ได้วางไปแล้ว 4.6 แสนจุด โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นตามรายชื่อร้านค้าที่กระทรวงการคลังมอบให้ 2.5 แสนจุด ส่วนที่เหลืออีก 2.1 แสนจุด ธนาคารจัดหาลูกค้าเอง
"รายชื่อร้านค้าที่ทางการให้เพื่อไปติดต่อติดตั้งเครื่อง EDC เรายืนยันว่า ได้ติดต่อไปครบ 100% แต่การติดตั้งไม่ครบ 100% เพราะบางรายมีลูกค้าเป็นเงินโอน ไม่ได้ขายปลีก จึงปฏิเสธรับการติดตั้งเครื่อง เช่น กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง เป็นต้น" นายอมรกล่าว