ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ชี้แจงผลกระทบจากสถานีอวกาศเทียนกง-1 ตกลงสู่พื้นโลก เผยได้ติดตามอย่างใกล้ชิดร่วมกับองค์กรอวกาศนานาประเทศ ระบุโอกาสที่ชิ้นส่วนจะตกในไทยมีน้อยกว่า 0.1 เปอร์เซนต์

นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโลโลยี ชี้แจงผลกระทบจากสถานีอวกาศเทียนกง - 1 ตกลงสู่พื้นโลกตามที่ตามที่มีสื่อมวลชนรายงานว่า สถานีอวกาศดังกล่าวของจีน สูญเสียการควบคุมและกำลังจะตกลงสู่พื้นโลก และระบุว่ามีความเสี่ยงที่จะตกในพื้นที่ประเทศไทย และมีสารไฮดราซีนอยู่จำนวนมากบนสถานีอวกาศเทียนกง-1 ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็ง นั้น สทอภ. ขอเรียนชี้แจง ดังนี้

สทอภ. ได้ติดตามสถานการณ์สถานีอวกาศเทียนกง-1 อย่างใกล้ชิดร่วมกับองค์กรอวกาศจากประเทศต่าง ๆ และขณะนี้สถานีอวกาศฯ มีความสูงเฉลี่ยอยู่ที่ 246 กิโลเมตรจากพื้นโลก คาดว่าจะตกสู่พื้นโลกในวันที่ 10 เมษายน 2561 ซึ่งจะมีการแตกเป็นชิ้นส่วนขนาดเล็ก และหลงเหลือสู่พื้นโลกเพียงเล็กน้อย เนื่องจากถูกเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศที่มีความร้อนสูงจนทำให้โลหะต่าง ๆ เกิดการระเหิดและกลายเป็นไอในที่สุด ทั้งนี้ โอกาสที่ชิ้นส่วนจะตกในพื้นที่ของประเทศไทยมีน้อยกว่า 0.1 เปอร์เซนต์

สำหรับกรณีสารไฮดราซีน (Hydrazine) ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการขับดันจรวด ที่ประชาชนกังวลว่าจะเป็นสารก่อมะเร็งนั้น ขอเรียนว่า ปกติสารดังกล่าวเป็นสารเคมีที่มีการใช้ในภาคอุตสาหกรรมทั่วไปอยู่แล้ว แต่การที่จะก่อให้เกิดเป็นมะเร็งในมนุษย์ได้นั้น ร่างกายจะต้องรับการสัมผัสหรือสูดดมสารนั้นอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือในปริมาณที่มากพอ ดังนั้น หากพี่น้องประชาชนประสบเหตุมีวัตถุตกจากอากาศ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสและรีบแจ้งต่อหน่วยงานราชการ เช่น สถานีตำรวจที่ใกล้เคียง หรือหน่วยงานของกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ เพื่อเข้าตรวจสอบและเก็บกู้ได้อย่างทันท่วงที

ขณะนี้ สทอภ. ได้แต่งตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์เทียนกง -1 ประกอบด้วยหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านกายภาพและการจัดการวัตถุอันตรายเข้ามาร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำแผนและคู่มือปฏิบัติการ รวมถึงการจัดการชิ้นส่วนที่อาจจะมีไฮดราซีนด้วย เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ได้เข้าใจและมีแนวทางในการจัดการกับชิ้นส่วนที่อาจจะตกลงมาในประเทศไทย ถึงแม้ว่าโอกาสที่เกิดขึ้นจะน้อยมากก็ตาม