นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากกรมชลประทาน ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรธรณี มณฑลทหารบกที่ 37 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนและจิตอาสา และได้รับการสนับสนุนท่อบายพาสน้ำจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ในการทำทางเบี่ยงน้ำ (Bypass) จากฝายแห่งที่ 1 กั้นลำห้วยน้ำดั้น ฝายแห่งที่ 2 กั้นลำห้วยผาหมี บริเวณบ้านผาหมี ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย และฝายแห่งที่ 3 กั้นลำห้วยผาฮี้ บริเวณบ้านมูเซอผาฮี้ ต.โป่งงาม อ.แม่สาย สามารถตัดยอดน้ำรวมกันได้ประมาณ 32,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน ซึ่งจนถึงขณะนี้ระดับน้ำในถ้ำหลวงได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เจ้าหน้าที่ยังคงดำเนินการสูบน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากถ้ำให้เร็วที่สุด
ทั้งนี้ สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทาน ยังคงดำเนินการสำรวจสภาพทางธรณีของลำห้วยซึ่งอยู่ในบริเวณถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต่อไป เพื่อค้นหาร่องรอยและบริเวณที่คาดว่าน้ำไหลซึมเข้าไปภายในถ้ำ และหาพื้นที่สำหรับทำฝายชั่วคราวและทางเบี่ยงน้ำเพิ่มเติม จนกว่าสถานการณ์น้ำภายในถ้ำจะลดลงจนถึงระดับที่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยทั้ง 13 ราย ออกมาได้อย่างปลอดภัย
สำหรับพื้นที่การเกษตรซึ่งมีน้ำท่วมขังในพื้นที่บ้านสันปูเลย ต.บ้านด้าย อ.แม่สาย 458 ไร่ และบ้านหนองอ้อ ต.โป่งผา อ.แม่สาย 300 ไร่ นั้น ปัจจุบัน กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หยุดสูบน้ำออกจากพื้นที่ดังกล่าวแล้ว ซึ่งสามารถรักษาระดับไม่ให้ท่วมยอดต้นข้าวตามที่เกษตรกรต้องการ
อย่างไรก็ดี โครงการชลประทานเชียงรายยังคงติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ในพื้นที่ดังกล่าว หากมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจะสามารถสูบน้ำออกจากพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ หน่วยสำรวจทำแผนที่ภาคพื้นดิน สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทาน ยังได้ใช้อากาศยานไร้คนขับแบบปีกหมุนบินสำรวจบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเพื่อทำแผนที่ภูมิประเทศ และแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศแบบออร์โธ่สี ความละเอียดจุดภาพ 10 เซนติเมตร เพื่อนำมาวิเคราะห์และเตรียมการช่วยเหลือ พร้อมทั้งชดเชยเยียวยาให้กับเกษตรกรผู้เสียสละพื้นที่ทำการเกษตร ตามระเบียบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป