ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลญี่ปุ่นสามารถเริ่มปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดได้แล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในเดือนหน้า แม้น้ำที่ผ่านการบำบัดดังกล่าวจะยังปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิที่พังทลายเสียหายลง หลังจากหน่วยงานเฝ้าระวังด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ ให้การอนุมัติแก่แผนดังกล่าว ภายหลังการทบทวนมาเป็นเวลากว่า 2 ปี

หนังสือพิมพ์นิกเคอิรายงานเมื่อวันพุธ (5 ก.ค.) ว่า เจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นจะอธิบายแผนดังกล่าวต่อชุมชนท้องถิ่นและประเทศเพื่อนบ้านในเร็วๆ นี้ ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่และประเทศใกล้เคียงยังคงความกังวล เกี่ยวกับผลกระทบของการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี ซึ่งปัจจุบันนี้ น้ำจำนวนดังกล่าวถูกเก็บไว้ในถังขนาดยักษ์กว่า 1,000 ถังรอบๆ ที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) กล่าวเมื่อวันอังคาร (4 ก.ค.) ว่า หลังจากการทบทวนความปลอดภัยในการปล่อยน้ำเป็นเวลากว่า 2 ปี หน่วยงานได้มีข้อสรุปว่าแผนดังกล่าว “สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง… (และ) การปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการควบคุมสู่ทะเลนั้น จะมีผลกระทบทางรังสีเล็กน้อยต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม”

น้ำมากกว่า 1.3 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอที่จะเติมสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิกได้ 500 สระ ถูกเก็บไว้ในโรงงานตั้งแต่เหตุสึนามิในเดือน มี.ค. 2554 โดยมันได้ทำลายระบบไฟฟ้าและระบบทำความเย็นของโรงไฟฟ้า และจุดชนวนภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดในโลก นับตั้งแต่เหตุการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลระเบิดในอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศยูเครน

น้ำส่วนใหญ่เคยใช้ในการหล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่เสียหายทั้ง 3 เครื่อง และระบบสูบน้ำและระบบกรองน้ำที่เรียกว่าระบบประมวลผลของเหลวขั้นสูง (ALPS) มีการสกัดน้ำที่ปนเปื้อนใหม่หลายตันทุกวัน เพื่อทำการกรององค์ประกอบสารกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่ออกจากน้ำ 

อย่างไรก็ดี แผนการปล่อยน้ำซึ่งประกาศออกมาในครั้งแรกเมื่อเดือน เม.ย. 2564 ต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงจากเพื่อนบ้านของญี่ปุ่น และประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก รวมถึงชุมชนประมงและเกษตรกรรมในและรอบๆ พื้นที่ฟุกุชิมะ ซึ่งหวาดกลัวว่าน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของพวกเขา

ข้อกังวลส่วนใหญ่ต่อการปล่อยน้ำบำบัดปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี มีอยู่ที่ไอโซโทปกัมมันตภาพรังสีของไฮโดรเจน ซึ่งยากต่อการขจัดออกจากน้ำ อย่างไรก็ดี IAEA กล่าวว่าก่อนการระบายน้ำออกจากโรงงานนิวเคลียร์ หน่วยงานญี่ปุ่นจะเจือจางน้ำเพื่อให้ระดับของไอโซโทปต่ำกว่ามาตรฐานบังคับใช้ และหน่วยงานเฝ้าระวังของสหประชาชาติจะยังคง “ลงตรวจในสถานที่อย่างต่อเนื่อง และจัดให้มีการตรวจสอบผ่านทางออนไลน์แบบสดบนเว็บไซต์ของตนจากสถานที่ปล่อยน้ำ” เมื่อการระบายน้ำเริ่มขึ้น ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวนี้คาดว่าจะใช้เวลาหลายสิบปี

ทางการจีนเป็นหนึ่งในกลุ่มชาติที่วิจารณ์แผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนจากโรงงานนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นมากที่สุด โดยในแถลงการณ์หลังจากรายงานของ IAEA กระทรวงการต่างประเทศจีนประณามการเผยแพร่รายงานอย่างเร่งรีบของหน่วยงานของสหประชาชาติ โดยทางการจีนอ้างว่ารายงานดังกล่าว “ไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญได้อย่างเต็มที่” ที่เข้าร่วมในการทบทวน อีกทั้งรายงานยังไม่มีความละเอียดเพียงพอ

“เราขอเรียกร้องอีกครั้งให้ฝ่ายญี่ปุ่นหยุดแผนการปล่อยน้ำลงมหาสมุทร และกำจัดน้ำที่ปนเปื้อนนิวเคลียร์อย่างจริงจังด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ปลอดภัย และโปร่งใส” แถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศจีนระบุ “หากญี่ปุ่นยืนยันที่จะเดินหน้าตามแผน (ญี่ปุ่น) จะต้องแบกรับผลที่ตามมาทั้งหมด”

ในขณะเดียวกัน สำนักข่าวยอนฮัปรายงานโดยอ้างคำกล่าวของเจ้าหน้าที่จากสำนักงานของ ยุนซอกยอล ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ว่า แม้ว่าทางการเกาหลีใต้จะเคารพรายงานของ IAEA แต่ลำดับความสำคัญยังคงเป็น "สุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนของเรา" 

ทั้งนี้ เกาหลีใต้ ซึ่งสั่งห้ามการนำเข้าอาหารทะเลทั้งหมดจาก 8 จังหวัดของญี่ปุ่นใกล้กับฟุกุชิมะในปี 2556 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับรังสี ยังกล่าวอีกว่า ทางการเกาหลีใต้จะดำเนินการตรวจสอบอาหารอย่าง “เข้มข้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน” ในอีก 100 วันข้างหน้า เพื่อให้แน่ใจว่าผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ค้าปลีกทำเครื่องหมายอย่างถูกต้อง ต่อแหล่งที่มาของสินค้า


ที่มา:

https://www.aljazeera.com/news/2023/7/5/japan-may-start-controversial-fukushima-water-release-next-month?fbclid=IwAR18sPnjVPrUxFiComktHQOI_TQ3Dhtoc-ET1Iyu-ggyZFIkFlmzm15hkaI