วันที่ 9 เม.ย. 2564 นพ.พิเชษฐ พืดขุนทด สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ แถลงอาการป่วยของศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) คมนาคม ว่า ศักดิ์สยาม เข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2564 เวลาประมาณ 16.30 น. โดยแจ้งว่าเดินทางมาจากกรุงเทพฯ เมื่อถึงท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ได้รับแจ้งจากคณะทำงานคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยัน และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันที่ 6 เม.ย. ซึ่งในเวลาที่ได้รับแจ้งนั้น ในทางการแพทย์ ต้องจัดให้ ศักดิ์สยาม เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากผู้ป่วยยืนยัน ทำงานใกล้ชิด และเป็นผู้ติดตาม ไปเกือบทุกๆ ที่ ที่ไปปฏิบัติราชการ
ทั้งนี้ เนื่องจากผลการตรวจไม่พบเชื้อ แพทย์ให้คำแนะนำต้องกักตัว 14 วัน และงดภารกิจทันที จึงไม่เข้าร่วมพิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รวมถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พร้อมคณะ งดเข้าร่วมพิธี ทั้งหมด เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงแก่ผู้ร่วมพิธี
ต่อมา เวลาประมาณ 22.30 น. ของวันที่ 6 เม.ย. 2564 ศักดิ์สยาม ได้เข้ามารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ ด้วยอาการท้องเสีย และ มีไข้ 38 องศา จึงได้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 อีกครั้ง และ ผลจากห้องปฏิบัติการ รายงานเมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 7 เม.ย. พบว่า เป็นผู้ติดเชื้อ จึงให้การรักษา และดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธาณสุข เช่นเดียวกับผู้ป่วยโควิด-19 ทุกราย คือ ให้รักษาตัวในห้องความดันลบ และทำการสอบสวนโรค ตามระบบทันที เนื่องจากผู้ป่วยมีไข้สูง และแพทย์เจ้าของไข้ ต้องการให้ผู้ป่วยพักผ่อน จากอาการท้องเสีย
อย่างไรก็ตาม การสอบสวนโรค และติดตามข้อมูลเพื่อจัดทำไทม์ไลน์ เป็นไปตามขั้นตอน ศักดิ์สยาม ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ มากกว่าผู้ป่วยท่านอื่นๆ ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน และเมื่อค่ำวานนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ได้จัดทำไทม์ไลน์ของ ศักดิ์สยาม ตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. ถึง วันที่ 7เม.ย. ที่ศักดิ์สยาม เป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ตามมาตรการควบคุมโรค นำส่งให้แก่กรมควบคุมโรค และแจ้งในเฟซบุ๊กของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุม ปฏิบัติราชการร่วมกับ ศักดิ์สยาม และ ผู้ที่อาจจะพบปะ พูดคุยกับศักดิ์สยาม ในสถานที่ต่าง ๆ ที่นายศักดิ์สยาม ได้แจ้งไว้ ซึ่งจัดเป็นผู้มีความเสี่ยง ได้ไปตรวจในโรงพยาบาล และสถานพยาบาล ต่อไป ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ติดตามผู้มีความเสี่ยง มาตรวจแล้วจำนวน 67 คน และเนื่องจาก ศักดิ์สยาม ใช้เวลาส่วนใหญ่ที่กรุงเทพฯ และ กระทรวงคมนาคม จึงได้แจ้งให้กรมควบคุมโรค เป็นผู้ติดตามผู้มีความเสี่ยงที่อยู่ในกรุงเทพฯ และกระทรวงคมนาคม เข้ารับการตรวจต่อไป
สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่าจากการสอบสวนโรค และการประเมินเบื้องต้น มีความเป็นไปได้สูงมากว่า ศักดิ์สยาม ได้รับเชื้อจากคณะทำงาน และผู้ติดตามที่ปฏิบัติหน้าที่ร่วมกัน อย่างใกล้ชิด เนื่องจากตรวจพบว่า มีตำรวจติดตาม จำนวน 5 คน และ พนักงานขับรถ 1 คน เป็นผู้ติดเชื้อ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แล้ว เมื่อรวมกับคณะทำงานที่พบการติดเชื้อเป็นคนแรก แล้ว พบว่า มีผู้ติดเชื้อจำนวน 8 คน และขณะนี้กำลังรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ อีกหลายท่าน
สำหรับอาการของ ศักดิ์สยาม ขณะนี้ไม่มีไข้ เนื่องจากเป็นคนที่มีสุขภาพแข็งแรง เพียงแต่มีอาการปวดกระดูกสันหลัง และต้นคอ ซึ่งได้ทำการรักษากับแพทย์โรงพยาบาลพระราม 9 เป็นประจำอยู่แล้ว คาดว่าจะรักษาในโรงพยาบาลบุรีรัมย์ อีกประมาณ 10 วัน ท่านจะหมดเชื้อ กลับไปพักผ่อน และปฏิบัติราชการได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง