อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ ว่า กรณีที่ประชุมรัฐสภาโหวตเห็นชอบตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 30 วัน โดยไม่เอาญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับ เป็นการสมคบคิดกันล่วงหน้าของรัฐบาลกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นอกจากจะแสดงถึงความไม่จริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ยังเป็นข้อพิสูจน์ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทำผิดสัญญาหักหลังประชาชนครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่เก็บรายงานการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไว้ในลิ้นชัก ซื้อเวลาปฏิรูปประเทศถึง 20 ปี โดยเฉพาะการปฏิรูปตำรวจ ตั้งกรรมการมามาหลายชุดสุดท้ายเชื่อว่าไม่ต้องการปฏิรูปอย่างแน่นอน และเมื่อเห็นการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ฉบับอย่างคาดไม่ถึง ก็ชัดเจนแล้วว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่สนใจเสียงเรียกร้องของประชาชนทุกภาคส่วนที่เสนอแนะทางออกจากความขัดแย้งและวิกฤตทางการเมืองด้วยความหวังดีมาโดยตลอด
“นอกจากนี้ประเทศกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักหนาสาหัส พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีเครดิตหลงเหลืออยู่เลยจึงไม่มีใครอยากร่วมทีมเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นทุกอย่างจะต้องจบลงโดยเร็วเพราะยิ่งยืดเยื้อประเทศชาติจะเสียหายประชาชนจะยิ่งลำบากจากปัญหาปากท้อง พล.อ.ประยุทธ์ ยังล้มเหลวในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นที่เคารพของราษฎร ใช้กฎหมายเล่นงานคนเห็นต่างทำให้คนรุ่นใหม่ลืมพระเมตตาของในหลวง ถือเป็นความผิดที่ไม่สามารถอภัยให้ได้ ในเมื่อไม่แคร์ต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนก็ป่วยการที่จะเสนอแนะอะไรอีก จึงมีความจำเป็นที่คนรุ่นใหม่ที่ไม่เห็นแสงสว่างและอนาคตข้างหน้าจะต้องรวมตัวออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยไวและขอเรียกร้องประชาชนทุกภาคส่วนร่วมกับกลุ่มนักศึกษาประชาชนขับไล่พล.อ.ประยุทธ์ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องไม่จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างเด็ดขาด เพราะนอกจากจะเสียแนวร่วมแล้วยังจะทำให้เกิดการเผชิญหน้านำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่มีที่สิ้นสุดและขอให้เคลื่อนไหวด้วยสติปัญญายึดแนวทางสันติวิธีอย่างแท้จริงแล้วจะทำให้มีพลังเอาชนะเผด็จการได้” อดุลย์ กล่าว
อดุลย์ กล่าวอีกกว่า เหตุการณ์ที่พรรคพลังประชารัฐ ไม่โหวตญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นการหักหลังพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันอย่างไร้มารยาท โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคภูมิใจไทย ที่มีจุดยืนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน จึงเกรงว่าจะซ้ำรอยเหตุการณ์พฤษภา’ 35 ที่พรรคร่วมรัฐบาลหักหลังประชาชนไม่เอานายกฯที่มาจากการเลือกตั้งจนเป็นชนวนเหตุนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชนและเกิดการนองเลือดในที่สุด ดังนั้นจึงของเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทยถอดชนวนความรุนแรงทางการเมืองด้วยการถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล แล้วร่วมกันผลักดันให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ 272 ปิดทาง ส.ว.เลือกนายกฯ แล้วเลือกนายกฯ ที่เหลืออยู่ตามรัฐธรรมนูญ ก่อนจะตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เสร็จแล้วก็ยุบสภาให้มีการเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเชื่อว่าแนวทางนี้จะนำพาประเทศชาติออกจากวิกฤตประเทศในทุกด้านได้