ไม่พบผลการค้นหา
ระบบขนส่งทางรางด้วยรถไฟฟ้าในตัวเมือง ‘ขอนแก่น-เชียงใหม่’ เหมาะสมแล้วหรือ? หากไม่เป็นเครือข่าย และไม่มีขนส่งสาธารณะอื่นๆ เชื่อมต่ออย่างเหมาะสม ทางเลือกอื่นๆ มีไหมในยุคที่การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อาจจะไม่ใช่คำตอบ

ในรอบปี 2561 ที่ผ่านมา โครงการคมนาคมท้องถิ่น 2 โครงการที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุดคือ 'รถไฟฟ้า จ.ขอนแก่น' และ 'รถไฟฟ้า จ.เชียงใหม่' โดยที่ จ.ขอนแก่น มีโครงการ ‘รถไฟฟ้ารางเบา’ หรือ LRT ที่อาจจะเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของไทยที่สร้างในต่างจังหวัด จะใช้งบประมาณจากคนในขอนแก่นเองรวมมากกว่า 20,000 ล้านบาท (ไม่ได้รับงบประมาณหรือสนับสนุนจากส่วนกลาง) โดยปัจจุบันได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เส้นทางรวมระยะทาง 22.6 กิโลเมตร ส่วนที่ จ.เชียงใหม่ ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนและการจราจร (สนข.) ที่เปิดเผยต่อสื่อมวลชนเมื่อเดือน ก.ย. 2561 ว่าจะเริ่มก่อสร้างสายสีแดง แนวทิศเหนือ-ใต้ ผ่านโรงพยาบาลนครพิงค์ ศูนย์ราชการเชียงใหม่ สนามกีฬา 700 ปี ซึ่งอยู่แผนแม่บทระบบขนส่งสาธารณะที่จะสร้างรถไฟ 3 เส้นแต่ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ จึงจะมีแผนให้สร้างเพียงสายเดียวก่อน โดยจะมีการเริ่มก่อสร้างในปี 2564 หากเป็นไปตามแผนเดิม

ซึ่งหากทั้ง 2 โครงการของทั้ง 2 จังหวัดเกิดขึ้นจริง ก็จะเป็นจังหวัดแรกๆ ที่เดินตามการพัฒนาด้านคมนาคมแบบกรุงเทพฯ ที่เริ่มเปิดให้บริการระบบขนส่งมวลชนแบบรางในตัวเมืองโดยใช้รถไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2542

Transport.jpg

เรียบเรียงจาก: ข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสม ณ วันที่ 31 ต.ค. 2561, กรมการขนส่งทางบก

ทั้งนี้เมืองใหญ่ที่มีการใช้รถไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพนั้น สิ่งสำคัญคือการทำให้ระบบคมนาคมเป็น ‘โครงข่าย’ ซึ่งหากไม่สามารถสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าได้เต็มพื้นที่การให้บริการแล้ว ก็จะต้องมีระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ มาเชื่อมต่อ ซึ่งทั่วโลกในปัจจุบันก็มักจะใช้ ‘รถบัสโดยสารประจำทาง’ (หรือรถเมล์) รวมทั้งขนส่งสาธารณะที่สำคัญรองลงไปอย่าง ‘แท็กซี่’ แต่กระนั้นสำหรับประเทศไทยขนส่งสาธารณะที่กล่าวไปนั้น พบว่ากระจุกตัวอยู่แต่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น 

จากข้อมูลจำนวนรถที่จดทะเบียนสะสม ของกรมขนส่งทางบก (ณ 31 ต.ค. 2561) พบว่าในกรุงเทพฯ มีรถบัสโดยสารจดทะเบียนสะสมไว้ถึง 44,055 คัน เทียบกับ จ.ขอนแก่น มีรถบัสโดยสารเพียง 2,868 คัน ซึ่งจำนวนมากวิ่งรับส่งระหว่างตัวอำเภอ ทำให้ภายในบริเวณตัวเมืองการขนส่งภายในเมืองยังมีไม่มากพอ ส่วนมากจะใช้รถสองแถวเป็นขนส่งหลัก แล้วยังมีเส้นทางเดินรถที่ทับซ้อนกัน ส่วนของ จ.เชียงใหม่ แม้จะมีรถบัสโดยสารจดทะเบียนถึง 7,437 คัน แต่ส่วนใหญ่เป็นรถบัสโดยสารระหว่างอำเภอวิ่งนอกเมือง หนำซ้ำยังเป็นรถบัสโดยสารไม่ประจำทางถึง 5,312 คัน เลยทีเดียว และเมื่อพิจารณาข้อมูลภาคขนส่งสาธารณะในตัวเมืองเชียงใหม่ (พื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่) ข้อมูลจากขนส่ง จ.เชียงใหม่ ณ เดือน ก.ย. 2561 มีรถบัสโดยสารเพียง 35 คัน เท่านั้น!

สำหรับในตัวเมืองขอนแก่น พฤติกรรมการเดินทางคมนาคมของคนพื้นถิ่น คนบริเวณในตัวเมืองยังนิยมที่จะใช้รถสองแถวซึ่งเป็นระบบขนส่งหลักของจังหวัดอยู่มาก เพราะมีความครอบคลุมอยู่พอสมควรเมื่อเทียบจังหวัดอื่นๆ แต่การใช้รถส่วนตัวก็เยอะเช่นกัน ด้วยการขยายของตัวเมืองออกมาด้านรอบข้างอย่างรวดเร็ว แต่ระบบขนส่งยังไม่ขยายออกไปด้านนอกตาม ซึ่งทำให้คนที่อยู่ด้านนอกตัวเมือง อย่างตำบลด้านนอกเทศบาลยังมีความจำเป็นที่จะต้องใช้รถส่วนตัวที่สูงมาก แม้มีการกำหนดค่าโดยสารของรถไฟฟ้ารางเบาขอนแก่นอยู่ที่เพียง 15 บาทตลอดสาย แต่โจทย์สำคัญคือการจะทำยังไงให้ไม่ต้องเดินทางหลายต่อเพื่อจะไปขึ้นรถไฟฟ้า เพราะถ้าหรอกความทับซ้อนของรถสองแถวนั้นทำให้ต้องเดินทางหลายต่อกว่าจะมาถึงรถไฟฟ้า ก็ยากที่เปลี่ยนพฤติกรรมให้คนมาใช้รถไฟฟ้าหรือเปลี่ยนจะรถส่วนตัวมาใช้ขนส่งสาธารณะ

เช่นเดียวกับพฤติกรรมการเดินทางคมนาคมของคนพื้นถิ่นใน จ.เชียงใหม่ นั้นพบว่าส่วนใหญ่แล้วคนพื้นถิ่นจะใช้รถส่วนตัวทั้ง รถยนต์ส่วนตัวและมอเตอร์ไซค์ ขนส่งสาธารณะยอดนิยม (และน่าจะถูกพูดถึงในแง่ลบมากที่สุด) คือรถสองแถวแดง หรือ ‘รถแดง’ ที่มีวิ่งอยู่ในตัวเมือง 2,465 คัน (ข้อมูล ณ เดือน ก.ย. 2561) แม้จะมีการระบุราคาไว้ที่ 30 บาท สำหรับประชาชนที่มีที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลเมื่อไม่ใช่รถส่วนตัวก็มักจะใช้บริการรถแดงนี้ต่อเดียวถึงที่หมายปลายทาง ส่วนประชาชนที่อยู่ต่างอำเภอก็มักจะขึ้นรถโดยสารประจำอำเภอเข้ามาในเมืองก่อนแล้วใช้บริการรถแดงไปยังปลายทางอีกทอดหนึ่ง ปลายทางส่วนใหญ่ของผู้ใช้บริการท้องถิ่นมักจะเป็นตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ราชการต่างๆ

บ่อยครั้งรถแดงเชียงใหม่มักจะตกเป็นข่าวเรื่องการเอาเปรียบนักท่องเที่ยงต่างพื้นที่อยู่เนืองๆ ในด้านหนึ่งก็เป็นเรื่องจิตสำนึกของคนขับรถแดงแต่ละคน อีกด้านหนึ่งน่าจะเป็นเรื่อง ‘ความคุ้นชิน’ และ ‘วัฒนธรรมด้านการคมนาคมขนส่ง’ ที่แตกต่างกัน ดังที่กล่าวไปว่าปลายทางส่วนใหญ่ของผู้ใช้บริการท้องถิ่นมักจะเป็นตลาด ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ราชการต่างๆ และมักจะมีการรับผู้โดยสารคนอื่นที่ไปในเส้นทางเดียวกันหรือเส้นทางที่รถแดงคำนวณดูแล้วว่าคุ้มต้นทุน แต่สำหรับนักท่องเที่ยวแล้วมักจะมีปลายทางที่สถานที่ท่องเที่ยวที่อาจจะอยู่ไกลออกไปจากตัวเมือง และด้วยความที่รถแดงให้บริการ ‘กึ่งประจำทาง-กึ่งแท็กซี่’ ในบางครั้งต้องรับผู้โดยสารคนอื่น หรือในบางครั้งก็จะถูกเหมาให้เป็นแท็กซี่สำหรับผู้โดยสารคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ทำให้บางครั้งดูเหมือนว่ารถแดงจะตั้งราคาที่สูงเกินไปสำหรับนักท่องเที่ยว

แต่กระนั้นก่อนที่จะไปถึงจุดที่ทั้งขอนแก่นและเชียงใหม่จะมีระบบขนส่งทางรางในตัวเมืองจริงๆ ก็ยังมีคำถามว่าในยุคที่โครงการขนาดใหญ่มักจะถูกจับตา และคนในพื้นที่จะต้องมีส่วนร่วมก่อนการลงมือทำโครงการจริงไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และการสร้างเส้นทางของรถไฟฟ้าในตัวเมืองนั้นจะต้องมีการเวนคืนที่ดินจำนวนมาก เหล่านี้จะไม่กระทบกับคนพื้นถิ่นหรือ? รวมทั้งค่าก่อสร้างที่มีมูลค่ามหาศาล ตัวอย่างที่ จ.ขอนแก่น ที่มีการประมาณการงบประมาณ 20,000 ล้านบาท กับระยะทางครอบคลุม 22.6 กิโลเมตร เฉลี่ยแล้วตกกิโลเมตรละประมาณ 884.95 ล้านบาท เลยทีเดียว และหากเป็นไปตามข่าวที่ปรากฏก่อนหน้านี้ว่าจะเป็นการใช้เงินของคนขอนแก่นเอง เงินจำนวนนี้จะคุ้มค่าไหม? และถือเป็นลำดับความสำคัญในการพัฒนาลำดับต้นๆ ของจังหวัดหรือไม่?

ทั้งนี้ ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ระบุกับผู้เขียนว่าแม้รถไฟฟ้าเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับจังหวัดต่างๆ แต่ประเด็นใหญ่อยู่ที่ปริมาณคนใช้ซึ่งความสำเร็จจะดูตรงนี้มากกว่า ต้องยอมรับว่านี่เป็นปัญหาระดับชาติเกินกว่ากำลังของท้องถิ่นแน่นอน ใช่ว่าจู่ ๆ การมีรถไฟฟ้าแล้วจะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คนได้ เรื่องแบบนี้มันต้องใช้เวลาทอดยาว เกี่ยวกับผังเมืองและอีกสารพัดเรื่อง แถมยังต้องมีมาตรการทั้งเอื้อเสริมอย่างในต่างประเทศ เช่น ตัวอย่างในเมืองพอร์ตแลนด์ ยอมให้ประชาชนนั่งรถไฟฟรีในย่านใจกลางเมือง, ที่เดนเวอร์ก็มีรถเมล์สายหนึ่งที่ให้ใช้ฟรีวิ่งวนบนเส้นทางหลักของเมือง รวมถึงมาตรการบังคับ เช่น ย่างกุ้งห้ามใช้มอเตอร์ไซค์เด็ดขาด, ลอนดอนเก็บเงินค่าเอารถเข้าเขตเมืองชั้นใน, จากาตาร์ใช้ระบบป้ายทะเบียนรถวันคู่-วันคี่ ฯลฯ เมืองที่มีวิสัยทัศน์ออกไปในอนาคตไกล ๆ ไม่มีเมืองไหนไม่สนใจเรื่องการลดใช้พลังงาน การลดมลพิษ การพัฒนาแบบเอาขนส่งมวลชนเป็นตัวตั้ง อยากให้คนออกมาเดินหรือปั่นจักรยานจะได้มีสุขภาพดีแทนที่จะเอาแต่ใช้รถส่วนตัวไปไหนต่อไหน หรือว่าเชียงใหม่เป็นได้แค่เมืองของอดีตในสายตารัฐส่วนกลาง

สำหรับผู้เขียนเห็นว่าท้ายสุดสำหรับหัวเมืองที่กำลังมีการขยายตัวเราอาจจะต้องไปพิจารณา ทางเลือกอื่นๆ ที่ไม่เดินซ้ำรอยกับกรุงเทพ อาจจะเป็นการพัฒนาระบบขนส่งเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้นไป เช่น การเพิ่มจำนวนรถบัสให้มากขึ้น, การอุดหนุนให้ ‘รถสองแถว’ กลายเป็น ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ (EV), การส่งเสริมวัฒนธรรม ‘การเดิน’ และ ‘การใช้จักรยาน’ ในตัวเมือง ฯลฯ จุดสำคัญที่สุดก็คือ ‘สร้างวัฒนธรรมการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ’ ซึ่งคงจะหนีการ ‘จำกัดการใช้รถส่วนตัว’ ไปไม่ได้

Smanachan Buddhajak
0Article
0Video
0Blog