ไม่พบผลการค้นหา
สรุปประเด็นจากการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อ 10 ม.ค.2565 และข้อมูลจากเว็บไซต์กรมควบคุมโรค
อาการโอไมครอน


  • การระบาดระลอก ม.ค.2565 จะเป็นโอไมครอน และน่าจะระบาดสูงในช่วง 2 เดือน กระทรวงสาธารณสุขจะพยายามบริหารจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่นให้ได้ภายในปีนี้
  • ณ วันที่ 10 ม.ค.2565 พบเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนสะสม 5,397 ราย ใน 71 จังหวัด ยกเว้นน่าน ตราด ชัยนาท อ่างทอง พังงา และนราธิวาส ทั้งนี้ การตรวจสายพันธุ์โอมิครอนส่วนใหญ่เป็นการตรวจในผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
  • ตัวเลขระดับโลกสอดคล้องกับข้อมูลในไทย คือ ผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว แต่อัตราผู้ป่วยรุนแรง และผู้เสียชีวิตไม่ได้สูงตาม
  • หลังมีข่าวโอไมครอนเข้ามาในประเทศก่อนสิ้นปีที่แล้ว ยอดผู้ติดเชื้อโควิดเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นตั้งแต่ 4 ม.ค 2565 และภายใน 1 สัปดาห์ ยอดผู้ติดเชื้อจากเกือบ 3,000 คนต่อวัน กลายเป็นราว 8,000 คนต่อวัน
  • จังหวัดที่มีการติดเชื้อโควิด 5 อันดับแรก คือ ชลบุรี สมุทรปราการ กทม. ภูเก็ต อุบลราชธานี จากเดิมที่ กทม.เคยครองแชมป์อันดับ 1 มาโดยตลอดก็ถูกแซงโดยจังหวัดอื่น เหตุเพราะช่วงปีใหม่มีการเดินทางไปต่างจังหวัดกันมาก ขณะที่การเดินทางใน กทม.หลังปีใหม่ก็ไม่หนาแน่น ประชาชนตื่นตัว Work From Home มากขึ้น
  • จากการสำรวจตัวอย่างผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอน 41 ราย พบว่า 48% ไม่มีอาการใดๆ ส่วนที่มีอาการแบ่งเป็น ไอ 54% เจ็บคอ 37% มีไข้ 29% ปวดกล้ามเนื้อ 15% มีน้ำมูก 12% ปวดศีรษะ 10% หายใจลำบาก 5% ได้กลิ่นลดลง 2% ส่วนอาการในเด็กต้องสังเกตอาการซึม ทานอาหารน้อยลง และประมาณ 20-30% มีอาการถ่ายเหลว
  • บุคลากรการแพทย์ ถ้าเปรียบเทียบกับระลอกเมษายน 2564 จำนวนสูงสุดเคยติดโควิดวันละ 100 กว่าคน แต่ระลอกนี้ พบว่าอยู่ที่ วันละ 30-40 คนต่อวัน เป็นตัวเลขที่เยอะพอสมควร และกระทบกับการให้บริการประชาชน โดยบุคลากรการแพทย์ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากที่บ้าน การพบปะเพื่อน แล้วมาติดกับเพื่อนร่วมงานซึ่งโดยมากเป็นการทานอาหารร่วมกัน จึงต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้น และต้องเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 4 เพราะฉีดเข็ม 3 ครบ 3 เดือนแล้ว แม้งานวิจัยในระดับโลกยังไม่มีการศึกษาการฉีดเข็มที่ 4 รองรับ มีเพียงบางประเทศที่เริ่มดำเนินการ
  • ข้อมูลการฉีดวัคซีนประชาชนในประเทศไทย ยอดรวมตั้งแต่เริ่มต้น 28 ก.พ.2564 - 4 ม.ค.2565

-คนที่ฉีดเข็ม 1 ยังไม่ครบ 100% มีเพียง 71% เท่านั้น แปลว่ายังมีผู้ไม่ได้รับวัคซีนมากพอสมควร

-คนฉีดเข็ม 2 มีอยู่ 65% ซึ่งจำนวนไม่น้อยฉีดไปเกิน 3 เดือนแล้ว

-คนฉีดเข็ม 3 มีอยู่ 11 % อย่างไรก็ตาม เข็ม 3 บูสเตอร์โดสเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากผ่านเวลาไป 3 เดือนภูมิจะลดลงจึงต้องมีการกระตุ้น

  • หากดูรายจังหวัดจะพบว่า จังหวัดที่ได้รับเข็ม 3 มากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ ภูเก็ต 50% กทม. 22% นนทบุรี 20% อยุธยา 17% สมุทรปราการ 15% นอกนั้นเกือบทั้งหมดมีเปอร์เซ็นต์การฉีดอยู่ในหลักหน่วย
  • สธ.ยืนยันว่าวัคซีนมีเพียงพอ ขอให้ทุกคนเร่งฉีดตามกำหนด โดยในสต๊อกมีแอสตร้าเซนเนก้า มากกว่า 10 ล้านโดส ไฟเซอร์มากกว่า 10 ล้านโดส
  • ยาฟาวิพิราเวียร์ก็ยืนยันว่ามีเพียงพอ ขณะนี้มีอยู่ในทุกสต๊อก 158 ล้านเม็ด ส่วน ATK สธ.ยืนยันว่าองคการเภสัชกรรมมีจำหน่าย ราคาชุดละ 35-40 บาท ประมาณ 7 ล้านชิ้น และกำลังซื้อสำรองต่อเนื่อง สำหรับผู้ติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่อาการไม่มาก เข้าระบบ Home Isolation ติดต่อ สปสช. 1330 จะมีการส่งอุปกรณ์และการดูแลทางไกลตลอดการกักตัว
อัตราการครองเตียง หลังปีใหม่ 65
  • เนื่องจากการแพร่ระบาดของโอไมครอนนั้นง่ายกว่าเดลต้า 4-5 เท่า ประกอบกับการป่วยไม่รุนแรง (ในกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ใช่ผู้สูงวัย-ผู้มีโรคเสี่ยง) จากการสำรวจคนติด 41 คน พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งไม่มีอาการใดๆ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมรองรับสถานการณ์ล่วงหน้าโดยการใช้มาตรการกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) เป็นหลัก สำหรับผู้ไม่พร้อมก็สามารถกักตัวในรูปแบบรวมหมู่หรือแบบชุมชน Community Isolation (CI)
  • ผู้สงสัยติดเชื้อ ตรวจด้วย ATK (หรือผ่านการตรวจเชิงรุก หรือตรวจที่สถานพยาบาล) หากผลบวกให้เข้าระบบ HI โดยติดต่อ สปสช. โทร 1330 ต่อ 14 มี 3,000 คู่สายสำหรับทั่วประเทศ หรือกรอกข้อมูลใน nhso.go.th หรือแอดไลน์ @nhso แล้วแจ้งในไลน์ จากนั้นมีเจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับภายใน 6 ชม.
  • เมื่อเข้าระบบแล้วจะได้รับอะไรบ้าง

1) อาหาร 3 มื้อ

2) ยาฟาวิพิราเวียร์

3) อุปกรณ์วัดอุณหภูมิ ค่าออกซิเจนในเลือด

4) การวิดีโอคอลติดตามอาการจากบุคลากรการแพทย์วันละ 1 ครั้ง

หากอาการแย่ลงจะส่งต่อ hospitel/รพ.สนาม หรือ รพ. แล้วแต่ความรุนแรง โดยการรักษาจะใช้เวลา 10 วัน สำหรับเกณฑ์ในการส่งต่อ hospitel/รพ.สนาม/ สถานพยาบาล คือ

1) เมื่อไข้สูงเกิน 39 องศาเกิน 24 ชม.

2) หายใจเร็วกว่า 25 ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่

3) ค่าออกซิเจนในกระแสเลือดน้อยกว่า 94%

4) มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยง อายุมากไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือในเด็ก

  • ผู้สงสัยติดเชื้อ ตรวจ ATK แล้วผลเป็นลบ หากไม่มีอาการมีความเสียงต่ำ ให้ใช้มาตรการใส่หน้ากาก-เว้นระยะห่าง-หมั่นล้างมืออย่างเคร่งครัด หากมีความเสี่ยงสูงไปสัมผัสคนติดเชื้อมา ให้กักตัวเองแล้วตรวจ ATK ซ้ำทุก 3 วันหรือเมื่อมีอาการ หากพบผลบวกก็เข้าระบบ HI
  • ผู้ไม่สะดวกกักตัวที่บ้านหรือ HI จะมีระบบส่งต่อไประบบกักตัวชุมนุมหรือ CI
  • ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเสี่ยง 7 กลุ่มโรค เมื่อผลตรวจเป็นบวก จะตรวจ RT-PCR และส่ง Hospitel ดูแลใกล้ชิดขึ้น
  • เด็กอายุ 5-11 ปีคาดการณ์ว่าเด็กจะป่วยมากขึ้น จะต้องเข้ารับบริการในสถานพยาบาลหรือไม่อยู่ที่การประเมินขั้นต้น อย่างไรก็ตาม มีการเตรียมยาน้ำฟาวิฯ และจัดผู้เชี่ยวชาญใน CI ด้วย โดยกำหนดให้โซนละ 1 แห่งที่เตรียมไว้สำหรับผู้ป่วยเด็กที่ต้องมีผู้ปกครองดูแล รวมทั้งจัดเตรียมเตียงระดับ 3 (สีแดง) ในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอาการรุนแรงมาก เบื้องต้นใน กทม.มี 100 เตียงสำหรับเด็ก และเตรียม CI ไว้ 1 แห่งสำหรับแรงงานต่างชาติ ส่วนในต่างจังหวัดก็เตรียมการ CI เช่นกัน
  • กรมการแพทย์ระบุข้อมูลอัตราการครองเตียงหลังปีใหม่ พบว่า ทั่วประเทศครองเตียงไป 22.70% หากดูเฉพาะ กทม. มีการครองเตียงไปแล้ว 1 ใน 3 แต่ข้อมูลดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับวันสิ้นปี 31 ธ.ค.2564 จะพบว่า ภายใน 10 วันการครองเตียงเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
  • เมื่อดูในรายละเอียด เตียงสีเขียว (อาการไม่หนัก) เตียงสีเหลือง (อาการปานกลาง) เตียงสีแดง (อาการหนัก) จะพบว่า เตียงสีเหลืองและสีแดงนั้นยังคงเหลืออยู่มาก แต่เตียงสีเขียว ทั่วประเทศครองเตียงไปแล้ว 1 ใน 3 ขณะที่กทม. ครองเตียงไปแล้วเกือบครึ่งหนึ่ง
  • ขณะที่การพยากรณ์การติดเชื้อของ สธ.ระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้ออาจจะถึงหลักหมื่นในช่วงปลาย ม.ค.ถึงกลาง ก.พ. แต่หากผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และระบบ HI/CI ดำเนินการได้ดี ระบบสาธารณสุขก็รับมือได้
  • ในส่วนที่ไม่ใช่เตียงใน รพ. สถานการณ์ใน กทม. ณ วันที่ 10 ม.ค.2565 พบว่า

1) ผู้เข้าระบบ HI มีอยู่ 2,682 คน

2) CI ปัจจุบัน กทม.จัดไว้ 41 แห่ง จำนวน 5,158 เตียง ใช้ไปเพียง 5%

3) โรงพยาบาลสนาม มี 8 แห่ง จำนวน 1,660 เตียง ใช้ไปเพียง 5%