"เรื่องแบบนี้ไม่เคยปรากฎ อย่าว่าแต่คนภายนอก ดิฉันก็ตกใจเหมือนกัน ทราบเรื่องนี้ตอนสอนวิชาระบบศาลกับภาคบัณฑิต ที่ ม.ธรรมศาสตร์ มีนักศึกษาเดินเข้ามาถามว่า ทราบเรื่องผู้พิพากษาศาลจ.ยะลายิงตัวเองหรือไม่ ก่อนเล่าคร่าวๆให้ฟัง"
สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและอดีตคณะกรรมการป.ป.ช. เล่าถึงความรู้สึกของวินาทีรับรู้เรื่องราวที่ไม่เคยปรากฏ ตลอดชีวิตผู้พิพากษา 36 ปี ทว่าก็เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายรอข้อเท็จจริงให้กระจ่างแจ้งก่อน ไม่ใช่ฟังทางนั้นพูดทีทางนี้พูดที พร้อมทั้งอธิบายในเชิงหลักการของแวดวงยุติธรรมต่อ 2 ข้อเรียกร้อง จาก คุณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษา จ.ยะลา ที่สังคมกำลังถกเถียงอย่างกว้างขวาง ดังนี้
'การให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ' - สมลักษณ์ ระบุอย่างตรงไปตรงมาว่า เงินเดือนกับเงินประจำตำแหน่งนั้นถือว่าพอสมควร ผู้พิพากษาไม่อาจเป็น ที่ปรึกษาหรือกรรมการเหมือนคนอื่นได้ เพราะโดยตำแหน่งหน้าที่ ไม่อาจไปยุ่งเกี่ยวกับฝ่ายใดได้เลย ตอนเป็นกรรมการ ป.ป.ช.พอเห็นบัญชีทรัพย์สินนั้นรู้เลยว่า เป็นผู้พิพากษา เพราะน้อยมาก ไม่มีหรอก 100 ล้าน 90 ล้าน 80 ล้าน ถ้าจะดำรงชีวิตอยู่ได้มีมากก็ใช้มาก มีน้อยก็ใช้น้อย ดำรงชีวิตอย่างสมถะ อย่าไปคิดเทียบกับคนอื่น มันก็พออยู่ได้ ไม่ยากแค้นอะไรหนักหนา
ส่วน 'การแก้ไขพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรม เพื่อห้ามตรวจตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่าน'นั้น สมลักษณ์ ในฐานะอาจารย์พิเศษทางกฎหมาย อธิบายว่า การตรวจคำพิพากษาของอธิบดีผู้พิพากษา ไม่มีอยู่ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม แต่มีอยู่ในระเบียบ ซึ่งแล้วแต่ศาลแต่ะภาคจะกำหนด มักเป็นคดีสำคัญๆ หรือมีโทษสูง ถ้าเป็นคดีสำคัญ จำคุกตลอดชีวิต ประหารชีวิต ระเบียบจะกำหนดว่า เจ้าของสำนวน จะต้องส่งคำพิพากษาไปให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคตรวจก่อน 7-15 วัน
สมลักษณ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุผลของการส่งไปให้ตรวจก่อนก็แน่นอนว่า ประสบการณ์ ความละเอียดอ่อน ความรู้ต่อคดีในตัวกฎหมายจะแตกต่างกัน อธิบดีภาคจะค่อนข้างมีประสบการณ์สูง ดูว่ามีความบกพร่องหรือไม่ แต่ไม่ใช่การชี้แนะ การจะลงโทษหรือยกฟ้องเป็นเรื่องของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน ไปแตะไม่ได้ การแทรกแซงดุลพินิจไม่ได้ เพราะถูกรับรองไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศทุกฉบับ
"โดยหลักของศาล ตามพระธรรมนูญฯ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้เองก็กำหนดว่า การพิจารณาคดีของศาลต้องเป็นอิสระ พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ก็ระบุในมาตรา 188 ดุลพินิจจะลงโทษเท่าไร ผิดหรือถูก หรือจะยกฟ้อง เป็นอำนาจอิสระของผู้พิพากษา ใครจะมายุ่งเกี่ยวไม่ได้แม้แต่ประธานศาลฎีกาเอง ก็จะให้ความเห็นหรือชี้แนะไม่ได้ ถือว่า ผิด" สมลักษณ์ระบุพร้อมขยายความว่า
พระธรรมนูญศาลมาตรา 17 ระบุว่า ถ้าอธิบดีเห็นว่าคำพิพากษาไม่ถูกต้อง วิธีการตามกฎหมายท่านจะมีอำนาจในการตรวจคำพิพากษา หากไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา ท่านสามารถทำความเห็นแย้งได้ แต่ไม่อาจก้าวก่าย เช่น ระบุส่วนไหนเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ไม่ได้ อธิบดีจะผิดทันที เพราะไม่มีอำนาจก้าวก่ายดุลพินิจ อันถือว่าผิดกฎหมายอย่างใหญ่หลวง ในทางปฏิบัติอธิบดีก็สามารถเรียกมาคุยกัน ใครมีความเห็นอย่างไร ดิฉันเคยประสบมาด้วยเอง เขียนคำพิาพากษาศาลอุทธรณ์ เมื่อตรวจแล้วก็ไม่เห็นด้วย จึงขอสำนวน เมื่อพูดคุยกัน อธิบดีก็เข้าใจ นี่คือหลักที่ถูกต้อง
ผู้พิพากษาก็เหมือนคนทั่วไป ใครทำงานมากก็มีประสบการณ์สูง เห็นข้อเท็จจริงมาก ก็อาจเห็นจุดบกพร่องได้ กรณีของท่านคณากร ดิฉันก็ไม่ทราบว่า ท่านอธิบดีภาค 9 ไปพูดหรือทำอะไรที่เป็นการบังคับหรือขัดใจอะไรหรือไม่ ต้องรอดูข้อเท็จจริง ซึ่งในคำพิพากษาก็จะฟ้องอะไรหลายๆอย่างออกมา ทว่าในทางปฏิบัติตามหลักแล้วท่านอธิบดีไม่อาจบอกได้ว่า จะยกฟ้องไม่ได้ต้องลองโทษตามคำผม ถ้าไม่ทำตามคำผมต้องโดนย้าย แบบนี้ไม่ได้ ไม่มีอำนาจที่จะทำแบบนั้น นี่เป็นระเบียบปฏิบัติที่ผู้พิพากษาปฏิบัติกันมาแล้วไม่เคยมีปัญหา
ข้อเรียกร้องให้ 'คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา' จึงต้องเรียนว่า เมื่อผู้พิพากษาเขียนอย่างไรแล้วก็ต้องเป็นไปตามนั้น ท่านอธิบดีจะมาแก้ไขไม่ได้นี่คือ ความเป็นธรรม แต่ถ้าท่านอธิบดีเห็นอีกอย่างว่า ต้องพิพากษาลงโทษ ตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้คือ ทำความเห็นแย้งไป ยอมรับว่า ตลอดชีวิตการเป็นผู้พิพากษา ไม่เคยมีข้อถกเถียงกันในเรื่องนี้ เพราะทุกคนรู้อำนาจหน้าที่ว่ามีเพียงไหน ไม่ก้าวก่ายกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ศาลต้องคุยกัน ผ่านคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) ซึ่งมี 15 คนที่เป็นผู้พิพากษาผู้ใหญ่ ก็เชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้
ต้องลองแก้ด้วยผู้พิพากษากันก่อนถ้าไม่ไหวจึงค่อยไปยุ่งคนอื่นเขา ดิฉันมองว่า พระธรรมนูญศาลยุติธรรมดีอยู่แล้ว กำหนดไม่ให้มีโอนสำนวน ผู้พิพากษาคนหนึ่งจะพิพากษาได้อย่างไร ก็เขียนไว้ดีแล้ว เพียงแต่ต้องดูในแง่ตัวบุคคล
ต่อข้อถามว่า ขณะเดียวกันก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายการเมืองบางพรรคการเมืองนำประเด็นดังกล่าวมาขยายผลเพื่อเป้าหมายทางการเมือง อดีตผู้พิพากาษาศาลฎีกา ระบุว่า “ท่านต้องอย่าเข้ามาก้าวก่ายในเรื่องของผู้พิพากษา ผู้พิพากษาจะมีระบบกฎหมายระบบศาลระบบบังคับบัญชาการปฏิบัติตน นับถืออาวุโสกัน บางทีคนนอกอาจไม่เข้าใจ ถ้าเข้ามาวุ่นวายมากมันจะยุ่ง ควรให้ท่านผู้พิพากษาแก้ไขกันเองก่อน ก็เชื่อว่าจะดีขึ้น ไม่ควรขยายผล”
"ตอนนี้ดิฉันไม่รู้ว่า อะไรมันเกิดขึ้นถึงขนาดนี้ เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริง ทุกครั้งที่ไปบรรยาย ศาลจะถูกตำหนิติเตียนมากชนิดไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากศาลจะได้รับความเคารพจากทุกคน เพราะให้ความเป็นธรรม เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน แต่ไม่รู้ว่าเกิดจาก ระบบหรือบางสิ่งบางอย่างเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือสภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไป ก็ไม่อาจทราบ จึงทำให้ศาลถูกตำหนิติเตียน แต่นี่คือความจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้พิพากษาก็ไม่ควรโกรธสังคมที่ตำหนิติเตียนเรา ต้องดูตัวเองก่อนว่า ทำอะไรไป ทำผิดหรือไม่ หรือการกระทำของเรา ทำให้สังคมเข้าใจว่า เราไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมเสียแล้ว" อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาเล่าถึงความรู้สึก