ไม่พบผลการค้นหา
งานวิจัยจากอังกฤษชี้ว่าวิธีการขยายอวัยวะเพศชาย ทั้งที่ต้องผ่าตัดและไม่ผ่าตัดนั้นไม่มีประสิทธิภาพ แทบไม่ทำให้ขนาดใหญ่หรือยาวขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนบ่อยครั้ง แพทย์ชี้บางครั้งผู้ต้องการเข้ารับการผ่าตัดเป็นปกติ แต่คิดไปเองว่าอวัยวะเพศตัวเองมีขนาดเล็ก

งานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Sexual Medicine Reviews เผยว่ากระบวนการใดๆ ในการขยายขนาดอวัยวะเพศชายนั้นไม่มีประสิทธิภาพ และมักทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอยู่บ่อยครั้ง เช่น องคชาติรับความรู้สึกไม่ได้อย่างถาวร อวัยวะเพศผิดรูป อวัยวะเพศหดสั้นลง หรือการหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

ในการศึกษานี้ ทีมแพทย์ระบบปัสสาวะ จากโรงพยาบาลคิงส์คอลเลจ (King's College) ในกรุงลอนดอน ร่วมกับนักวิจัยจาก สถาบันจิตเวช จิตวิทยา และประสาทวิทยาแห่งวิทยาลัยคิงส์คอลเลจลอนดอน (Institute of Psychiatry, Psychology and Neuroscience at King’s College London) ใช้การวิเคราะห์อภิมาน รวบรวมและเปรียบเทียบข้อมูลของผู้ชาย 1,192 คน จากงานวิจัย 17 ชิ้น ซึ่งครอบคลุมวิธีการเพิ่มขนาดอวัยวะเพศชาย 21 วิธี ทั้งที่ต้องผ่านการผ่าตัดและไม่ต้องผ่าตัด

สำหรับวิธีการที่ไม่ต้องผ่าตัดนั้น งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า การใช้เครื่องยืดขยาย (extender) บางกรณีช่วยเพิ่มความยาวได้ แต่ไม่เกิน 2 เซนติเมตร สำหรับวิธีขยายขนาดด้วยการฉีดยานั้น ทำให้เส้นรอบวงกว้างขึ้น แต่มีอัตราการเกิดโรคแทรกซ้อนสูง ส่วนกระบอกสุญญากาศนั้นไม่ช่วยเพิ่มขนาดแต่อย่างใด

ในส่วนของวิธีการที่ต้องผ่าตัด เช่น การผ่าคลายเอ็นยึดหัวหน่าว (suspensory ligament incision) การปลูกถ่ายเนื้อเยื่อหรือผิวหนัง และการผ่าแยกประกอบองคชาติ (penile disassembly) กลุ่มตัวอย่างชายบางรายจากงานวิจัยที่ศึกษา ระบุว่าขนาดมีการขยายขึ้น แต่เทคนิคเหล่านี้ที่อ้างว่าสำเร็จ ไม่มีการยืนยันโดยผู้วิจัยกลุ่มอื่น และอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนก็พบได้บ่อย

ผู้วิจัยสรุปว่า หลักฐานสนับสนุนกระบวนการในการขยายอวัยวะเพศในชายผู้มีอวัยวะเพศปกติที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอ และไม่มีคุณภาพ การขยายขนาดด้วยการฉีดยาและการผ่าตัดควรเป็นทางเลือกสุดท้าย และควรนับว่าผิดจรรยาบรรณ เว้นแต่เป็นการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกเท่านั้น

กอร์ดอน มิวเออร์ (Gordon Muir) แพทย์ระบบปัสสาวะ หนึ่งในผู้วิจัยกล่าวว่าการผ่าตัดเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น ค่าใช้จ่ายก็อยู่ที่สามถึงสี่หมื่นปอนด์ (ราว 1.2-1.6 ล้านบาท) และผู้รับการผ่าตัดมักลงเอยด้วยอวัยวะเพศที่ผิดรูปร่าง สถิติชี้ว่ามีไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พึงพอใจกับผลจากการผ่าตัด

แม้บางวิธีการจะมีบริการที่สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) ของอังกฤษ แต่ก็เป็นไปเพื่อเหตุผลทางการแพทย์ เช่น เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บทางร่างกาย ไม่ใช่การศัลยกรรมเพื่อความงาม

ในบางครั้ง ผู้ที่ต้องการขยายขนาดอวัยวะเพศได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเวชไม่พึงพอใจอวัยวะเพศตัวเอง (penile dysmorphia) โดยมองว่าตัวเองมีองคชาติเล็ก แม้ว่าในความจริงแล้วจะมีความยาวตามปกติก็ตาม

"ผู้ชายที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดขยายขนาดอวัยวะเพศนั้น หลายคนมีขนาดปกติ แต่เชื่อว่าอวัยวะเพศตัวเองเล็กเกินไป น่าเศร้าที่คลินิกบางแห่งเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ ศัลแพทย์เอกชนไม่ควรทำแบบนี้ มันเป็นเรื่องที่ผิดในหลายๆ แง่เลย" มิวเออร์ กล่าว


ที่มา: The Independent / The Guardian