ไม่พบผลการค้นหา
'สมชัย' อดีต กกต. เปิดคำทำนายที่ 7 ชี้เลือกตั้งครั้งใหม่ส่อถูกยื่นศาล รธน. ตีความเสี่ยงโมฆะ ยกปัญหาข้อกฎหมาย ปมกำหนดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน รวมนับคะแนน-ประกาศผลเลือกตั้งหรือไม่ แนะ 4 กกต. ที่เหลือจัดเลือกตั้งภายใน 90 วัน

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุในเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง 'มาตรา 44 เพื่อชาติ หรือเพื่อใคร?' ว่าคำทำนายที่ 7 ปมในการจัดการเลือกตั้งตามมาตรา 268 ในรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ กกต. จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันหลังจากกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ หมายถึงต้องให้มีการหย่อนบัตรภายใน 150 วัน หรือต้องนับคะแนน ประกาศผลการเลือกตั้ง และให้ใบเหลือง ใบแดง ภายใน 150 วัน

เรื่องดังกล่าว กกต. ได้สอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายวิษณุ เครืองาม รองนากยรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน 

สมชัย วีระ  Cover Template.jpg

(สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. คุยกับ วีระ สมความคิด เพื่อนสมัยเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย)

ขณะที่ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 ข้อ 8 ที่ระบุว่า เมื่อกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีการประชุมปรึกษาหารือระหว่าง ประธาน สนช. กกต. ตัวแทนพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆ เพื่อแก้ไขคำสั่ง คสช. ให้มีการปลดล็อกทางการเมืองและเกิดการเลือกตั้ง เพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง หน่วยงานที่จะต้องกำหนดวันเลือกตั้งตามกฎหมาย คือ กกต.

ด้วยเหตุนี้ กกต. จะถูกกดดันให้เลือกแนวทางแรก คือ จัดให้มีการหย่อนบัตรเลือกตั้งภายใน 150 วัน และหากการเลือกตั้งเกิดขึ้น ฝ่ายที่แพ้การเลือกตั้งอาจจะใช้ช่องทางนี้ ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่า การทำงานของ กกต. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ และหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัด จะถือว่าการเลือกตั้งนั้นจะเป็นโมฆะ ซึ่ง กกต.จะต้องรับผิดทางแพ่ง คือการชดใช้งบประมาณในการเลือกตั้งกว่า 4,800 ล้านบาท และรับผิดทางอาญา กรณีกระทำการโดยประมาทจนเกิดความเสียหายต่อรัฐ 


"หากผมยังเป็น กกต. อยู่ ผมจะยืนยันให้จัดการเลือกตั้งภายใน 90 วัน แต่ถ้า กกต. มีมติให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ผมจะลาออก และผมจะถูกสังคมด่า ดังนั้นเมื่อ คสช.ให้ผมยุติการทำงาน จึงเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ขอบพระคุณ" นายสมชัย กล่าว


อดีต กกต. ระบุด้วยว่า ตนได้กำชับกับ กกต. ที่เหลืออีกทั้ง 4 คน ให้เลือกแนวทางการปฏิบัติที่ 2 คือให้ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือหากถูกกดดันให้เลือกแบบแรกก็ขอให้ทำหนังสือลงนามสัตยาบันร่วมกัน หากผิดรัฐธรรมนูญจะได้เพิ่มตัวหารค่าปรับทางแพ่ง 4,800 ล้านบาท


สมชัย - สมคิด

เจอ 'เดดล็อก' ถามศาล รธน. ให้คำตอบไม่ได้

นายสมชัย ยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า กกต. ได้พยายามถามทุกคนที่เกี่ยวข้อง เช่น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ได้คำตอบว่า 150 วันคือจัดการเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่รวมประกาศผล แต่ไม่อนุญาตให้นำคำตอบดังกล่าวมาอ้างอิงการทำงานของ กกต.

ขณะที่ กรธ. มีหนังสือตอบกลับมาที่ กกต. ว่า กรธ.มีหน้าที่ในการร่างกฎหมาย ไม่มีหน้าที่ในการตีความกฎหมาย

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มีคำตอบว่า เมื่อมี กกต. บางท่านจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ก็ให้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ส่วน ศาลรัฐธรรมนูญก็ให้คำตอบเพียงว่า เรื่องนี้ยังไม่เป็นปัญหาจึงยังไม่วินิจฉัย ซึ่งเป็นเหตุให้ กกต. ไม่สามารถหันไปปรึกษาใครได้ และอาจเป็นเดดล็อกทางการเมือง

นายสมชัย ยังยืนยันว่าตนไม่ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อจนทำให้เกิดความสับสน เนื่องจากตนพูดไปตามกฎหมาย แม้จะไม่ได้เรียนนิติศาสตร์ และเรียนกฎหมายมาแค่ 3 หน่วยกิตตอนปริญญาตรีก็ตาม แต่บางคนที่ร่างรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับพูดจาไม่รู้เรื่องกว่าตนก็มี 

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ นายสมชัยเคยคาดการณ์เหตุการณ์การเมืองสำคัญที่อาจเกิดขึ้น 6 อย่าง ได้แก่

1) การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 จะเป็นโมฆะ

2) หากมีการเลือก ส.ว. อย่างเดียวโดยไม่นำการเลือกตั้ง ส.ส. มารวมด้วยในวันที่ 30 มี.ค. 2557 จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

3) การตอบคำถามหัวหน้า คสช. ว่า คสช. มีสิทธิ์สนับสนุนพรรคการเมืองหรือไม่ ซึ่งตนตอบว่าหาก คสช. หมายถึงบุคคลย่อมสามารถสนับสนุนพรรคใดก็ได้ แต่หากคสช. เป็นองค์กรที่เป็นกลไกบริหารประเทศการสนับสนุนพรรคการเมืองอาจไม่เหมาะสม

4) การสรรหา กกต. หลังการประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไม่เป็นไปตามกฎหมาย และเป็นการลงคะแนนไม่เปิดเผย ทำให้ สนช.ลงมติไม่รับรองชื่อ กกต.ทั้ง 7 ท่าน

5) หาก สนช. เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกฎหมายลูก ส.ส. โรดแมปจะเลื่อนออกไป 2 เดือน

และ 6) หาก สนช. ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กฎหมาย ส.ว. จะทำให้โรดแมปเลื่อนไปอย่างมาก 6 เดือน

วีระ สมความคิด _17744039.jpg

(วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น)

ด้าน นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น (คปต.) ตั้งคำถามว่า สิ่งเหล่านี้เป็นการวางหมากของรัฐบาล คสช. หรือไม่ ที่หากแพ้การเลือกตั้ง ไม่ได้สืบทอดอำนาจต่อ ก็จะฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และอยู่ในอำนาจต่อไป

ในวงเสวนาดังกล่าว นายสมชัยตอบสวนกลับมาว่า "ผมไม่ชอบวางหมาก แต่ชอบเปิดเผยให้เห็นหมากของคนอื่นมากกว่า"

'พิชาย' ฉะ คสช. งัด ม. 44 ทำองค์กรอิสระระแวง

นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ได้ใช้มาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อขยายเวลาในบทเฉพาะกาลออกไปให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และการปลด กกต. ด้วย ซึ่งเป็นการใช้อำนาจและอารมณ์นำเหตุผล และอาจจะเป็นเพราะ คสช. ต้องการความเงียบ กลบความเห็น สร้างเสียงแห่งการเชื่อฟัง

อีกทั้ง การใช้มาตรา 44 ยังแสดงว่า รัฐบาลแสดงอำนาจโดยขาดความยั้งคิด โดยเฉพาะกรณีการปลดนายสมชัย จะเกิดผลสืบเนื่องต่อองค์กรอิสระอื่นๆ ต้องทำงานภายใต้บรรยากาศของความหวาดระแวง และไม่กล้าตัดสินใจในประเด็นสำคัญ และอาจจะมีความเป็นไปได้ในการใช้อำนาจเหล่านี้แทรกแซงเรื่องอื่นๆ ได้ในอนาคต และอาจมีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง