ไม่พบผลการค้นหา
การออกกฎเรื่องทรงผมใหม่ของตำรวจและทหารไทย ทำให้เกิดการตื่นตัวกันอย่างกว้างขวางในหมู่เจ้าหน้าที่และประชาชนทั่วไป แต่อันที่จริงเรื่องการจัดระเบียบทรงผมไม่ใช่ของใหม่ ไม่ว่าในไทย หรือมุมอื่นๆของโลก ทรงผมที่เป็นระเบียบเหมือนกันหมด เป็นเครื่องแสดงออกถึงทั้งเอกภาพและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสถาบันนั้นๆ อาจเรียกได้ว่าการบังคับทรงผม เป็นเครื่องมือจัดระเบียบสังคมรูปแบบหนึ่งที่ใช้กันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้ในยุคที่โลกสากลยอมรับในสิทธิเหนือร่างกายและเนื้อตัวของปัจเจกบุคคล เกาหลีเหนือ
nintchdbpict000317374375.jpg

ประเทศที่ขึ้นชื่อที่สุดเรื่องการจัดระเบียบสังคมผ่านทรงผมก็คือเผด็จการเบ็ดเสร็จอยางเกาหลีเหนือ นักข่าวฟินแลนด์ที่ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมกรุงเปียงยางและสถานที่ราชการต่างๆของเกาหลีเหนือ รายงานว่าได้ไปเห็น "บาเบอร์" ประจำเมือง ซึ่งมีการติดป้ายประกาศชัดเจนว่าชาวเกาหลีเหนือทั้งหญิงและชาย มีทรงผมบังคับเพียงเพศละ 15 ทรงเท่านั้น ห้ามตัดทรงอื่นนอกเหนือจากนี้ เพื่อความเสมอภาคเท่าเทียมกันตามหลักคอมมิวนิสต์

เกาหลีใต้ยืนยันคิมจองอึนผ่าตัดข้อเท้าจริง

อย่างไรก็ตาม ทรงผมที่เป็นภาพจำของเกาหลีเหนือ นั่นก็คือทรงไถข้างและยีสูงของนายคิมจองอึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ที่ไว้เลียนแบบนายคิมอิลซุง ปู่ของเขาซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งเกาหลีเหนือ กลับไม่ได้เป็นหนึ่งใน 15 ทรงสำหรับผู้ชายเกาหลีเหนือ หมายความว่านี่คือทรงพิเศษเฉพาะท่านผู้นำเท่านั้น

แต่ก็มีรายงานที่ขัดแย้งกันในเรื่องทรงผมของผู้นำเกาหลีเหนือ เมื่อปี 2014 มีรายงานว่านักศึกษามหาวิทยาลัยในเปียงยางถูกสั่งให้ไว้ผมทรงคิมจองอึน แต่ผู้สื่อข่าวในเปียงยางกลับยืนยันว่าไม่เห็นนักศึกษาคนใดตัดผมทรงดังกล่าว หมายความว่าข่าวลือนี้ไม่น่าจะเป็นความจริง

จีน

hair_rules_fujian_trans_NvBQzQNjv4Bq3Z7i_2nUjuO-XXgVmfiyhP4Xpit_DMGvdp2n7FDd82k g8ifb9 g8ifb9 เครดิต Gaocheng News.jpg

โปสเตอร์แสดงทรงผมที่ถูกระเบียบถูกติดอยู่หน้าโรงเรียนหลายแห่ง เพื่อเป็นมาตรฐานให้นักเรียนทั้งหมดทำตาม ผู้ฝ่าฝืนอาจถูกตัดผมโดยครู ภาพจาก Gaocheng News

จีนเป็นอีกประเทศที่เคร่งครัดเรื่องทรงผม สำหรับทหาร ทุกคนต้องตัดผมทรงสั้นเกรียนเหมือนกันหมด และอีกสถาบันที่เคร่งครัดในเรื่องผมอย่างมาก ก็คือโรงเรียน แม้ว่าในเมืองใหญ่ โรงเรียนบางแห่งจะอนุญาตให้นักเรียนทำผมตามสมัยนิยมได้ แต่โรงเรียนส่วนใหญ่มีกฎให้นักเรียนชายตัดผมทรงลานบิน และห้ามนักเรียนหญิงไว้ผมยาวเกินติ่งหู หรือหากอนุญาตให้ไว้ยาว ก็ต้องถักเปียให้เรียบร้อย นอกจากนี้ยังห้ามการทำสีผมอย่างเด็ดขาด เด็กที่มีผมสีอ่อน จะต้องแสดงสูติบัตรกับทางโรงเรียนว่าเกิดมาโดยมีผมสีอ่อนจริง โดยโรงเรียนอ้างว่าการเคร่งครัดเรื่องทรงผม เป็นการฝึกระเบียบวินัย และป้องกันไม่ให้เด็กหลงใหลไปกับแฟชั่น รวมถึงค่านิยมตะวันตกอื่นๆจนเกินไป 

เมื่อปี 2009 เคยเกิดเหตุการณ์ที่กลายเป็นข่าวไปทั่วโลก เมื่อโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในมณฑลกว่างตง สั่งพักการเรียนนักเรียนหญิง 32 คน เพราะพวกเธอผมยาวเกินไป ผิดกฎระเบียบของโรงเรียน โดยนักเรียนหญิงเหล่านี้ทั้งหมดเรียนเอกการดนตรี พวกเธอยืนยันว่าการไว้ผมยาวเป็นสิทธิส่วนบุคคล และช่วยให้พวกเธอดูดี ซึ่งจะทำให้ได้คะแนนดีขึ้นในการประกวดดนตรี

ความเคร่งครัดของโรงเรียนไปไกลถึงขนาดที่โรงเรียนบางแห่งติดป้ายแสดงแบบผมที่ถูกต้องไว้หน้าโรงเรียน และมีครูคอยยืนเฝ้าหน้าประตูโรงเรียนพร้อมกรรไกร ตัดผมเด็กทันทีที่เห็นว่ามีผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบ ซึ่งบรรยากาศแบบนี้เห็นได้ในโรงเรียนไทยส่วนใหญ่เช่นเดียวกัน

สหรัฐฯ

มาตรฐานทรงผม กองทัพเรือสหรัฐฯ.jpg

มาตรฐานทรงผมทหารชาย เผยแพร่ในเว็บไซต์ของทัพเรือสหรัฐฯ

ฟากฝั่งตะวันตก แม้จะไม่มีการบังคับให้นักเรียนตัดผมทรงใด เพราะถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่สำหรับทหาร ยังคงมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน แต่ละเหล่าทัพมีกฎการตัดผมและไว้หนวดเคราแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่โดยสรุป ทหารอเมริกันที่เป็นผู้ชาย ห้ามไว้ผมยาวจากหนังศีรษะเกิน 2-3 นิ้ว และห้ามให้ผมปรกลงมาถึงคิ้ว หู หรือปกเสื้อ รวมถึงห้ามทำสีที่ดูผิดธรรมชาติ และทรงผมแฟชั่นเกินไป นอกจากนี้ยังห้ามทำทรงผมที่ขัดขวางการสวมหมวกเครื่องแบบด้วย ทำให้แม้จะไม่มีการบังคับให้ทหารตัดผมทรงใดเป็นพิเศษ แต่ทหารส่วนใหญ่ก็จะเลือกตัดผมสั้นเกรียนหรือแม้แต่สกินเฮด เพื่อให้งายต่อการดูแลและไม่ผิดระเบียบ

image.jpg

กองทัพบกสหรัฐฯเผยแพร่เอกสารและผ่านเว็บไซต์ ไม่อนุญาตให้ทหารหญิงคาดผม ถักเปียแบบหลายเส้น และทำผมเปียเกลียว จนกระทั่งถูกร้องเรียนว่าเป็นการเลือกปฏิบัติกับทรงผมคนผิวสี ทำให้กระทรวงกลาโหมต้องปรับแก้กฎเกณฑ์ในปี 2014

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงในเรื่องทรงผมทหารอเมริกัน กลับกลายเป็นเรื่องทรงผมทหารหญิง เพราะก่อนหน้านี้ กองทัพห้ามทหารหญิงถักเปียเป็นลวดลาย รวมถึงห้ามทำทรงเดรดล็อก แต่ในปี 2014 มีทหารหญิงฟ้องร้องว่ากฎระเบียบของกองทัพเป็นการตั้งกฎบนอคติต่อทรงผมธรรมชาติของชาวแอฟริกันอเมริกัน เช่นทรงถักเปียทั้งศีรษะและเดรดล็อก ซึ่งเข้าข่าย "ยุ่งเหยิง" อันเป็นทรงต้องห้ามในกองทัพ ทำให้สุดท้ายกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯต้องปรับแก้กฎเกณฑ์ อนุญาตให้ทหารหญิงทำผมทรงเดรดล็อกได้ และตัดคำว่า "เป็นก้อน" และ "ยุ่งเหยิง" ออกจากการอธิบายทรงผมต้องห้าม โดยยืนยันว่าทรงผมเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ทหารหญิงดูมีความเป็นมืออาชีพหรือมีประสิทธภาพด้อยลง

กรณีของสหรัฐฯสะท้อนจุดยืนที่ต่างออกไปจากจีนและเกาหลีเหนืออย่างชัดเจน นั่นก็คือความเสมอภาคจากทรงผม ไม่ได้อยู่ที่การทำผมทรงเดียวกันหมด แต่คือสิทธิเหนือทรงผมของตนเองอย่างเท่าเทียมกันของคนทุกกลุ่ม