หนังสือพิมพ์ นิกเกอิ เอเชียน รีวิว รายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน ว่า นายโทชิมิตสุ โมเตกิ รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น มีกำหนดเดินทางเยือนประเทศไทยในช่วงต้นเดือน พ.ค. และหารือกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เพื่อชักชวนไทยให้เข้าร่วมกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือทีพีพี
ทีพีพีเป็นกลุ่มการค้าเสรีที่มีสมาชิกในปัจจุบัน 11 ประเทศ รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงนี้เมื่อเดือน ม.ค. ขณะนี้ ข้อตกลงดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้
การถอนตัวของสหรัฐฯส่งผลเป็นการลดทอนความน่าสนใจของกลุ่มทีพีพี ทำให้หลายประเทศที่เคยแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วม มีท่าทีรีรอ รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งเคยแสดงเจตจำนงเมื่อเดือน มี.ค. ที่จะเข้าร่วม
เมื่อเดือน มี.ค. ญี่ปุ่นกับอีก 10 ประเทศได้ลงนามในข้อตกลงที่ไม่มีสหรัฐฯร่วมเป็นภาคี ในชื่อว่า ข้อตกลงซีพีทีพีพี (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership)
ญี่ปุ่นคาดหวังว่า ถ้าไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตกลงเข้าร่วม ประเทศที่ยังลังเลใจ เช่น ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย อาจตัดสินใจกระโดดเกาะขบวนด้วย
รัฐบาลโตเกียวประเมินว่า ถ้ามีเขตเศรษฐกิจต่างๆเข้าร่วมมากขึ้น รวมถึงเกาหลีใต้ ไต้หวัน ก็จะเป็นการกดดันสหรัฐฯให้กลับเข้าร่วม
ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนกรานที่จะจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบสองฝ่าย โดยเจรจาต่อรองกำหนดกฎกติกากับคู่ค้าเป็นรายประเทศ
ในการพบหารือระหว่างทรัมป์กับนายชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เมื่อเร็วๆนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหารือกับผู้แทนการค้าของสหรัฐ นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ เพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นกับสหรัฐฯมีกำหนดจะเจรจากันในช่วงปลายเดือนมิ.ย. ญี่ปุ่นหวังว่า ก่อนถึงเวลานั้น ญี่ปุ่นจะสามารถผลักดันการขยายสมาชิกกลุ่มทีพีพีเป็นผลสำเร็จ เพื่อหลีกเลี่ยงการเรียกร้องของสหรัฐฯที่จะทำข้อตกลงแบบสองฝ่าย
ไทยเคยเจรจาการค้าสองฝ่ายกับสหรัฐฯมาแล้ว แต่ได้ระงับเมื่อปี 2550 เนื่องจากตกลงกันไม่ได้ในประเด็นการคุ้มครองสิทธิบัตรยา ทรัมป์ต้องการลดการขาดดุลการค้ากับไทย ระหว่างพบกับนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว ทรัมป์บอกกับผู้นำไทยว่า “เราจะพยายามขายของให้คุณมากขึ้น”
ญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า ถ้าดึงไทยและเพื่อนบ้านเข้ากลุ่มทีพีพีได้ บรรดาบริษัทอเมริกันจะหวั่นเกรงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในย่านเอเชีย เนื่องจากเอกชนในภูมิภาคนี้จะได้เปรียบในเรื่องอัตราภาษีนำเข้า ดังนั้น บริษัทอเมริกันจะหันไปกดดันรัฐบาลทรัมป์ให้กลับเข้าร่วมวง
ขณะเดียวกัน สหรัฐฯกำลังจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาคองเกรสกลางเทอมในเดือนพ.ย. ญี่ปุ่นประเมินว่า ถึงตอนนั้น ทรัมป์อาจเสียงอ่อนลง เนื่องจากต้องตอบสนองเสียงเรียกร้องของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆในประเทศ จึงนับเป็นจังหวะอันดีที่ญี่ปุ่นจะโน้มน้าวให้ทรัมป์เห็นว่า กลุ่มทีพีพีเป็นตลาดใหญ่ของเอเชีย-แปซิฟิก