เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (FFFE) ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา "สู่การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม : บทเรียนจากต่างประเทศและสถานการณ์ในสังคมไทย" ช่วงแรกเป็นการนำเสนอบทเรียนจากต่างประเทศ
โดยนายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไท��� กล่าวถึงความจำเป็นที่ไทยต้องมีผู้สังเกตการเลือกตั้งจากภายนอก แต่จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลไทยอนุญาตก่อน ขณะที่ท่าทีของผู้มีอำนาจปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะไม่ยอมรับแนวทางนี้ ดูจากที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ออกมาระบุว่า ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งจากต่างประเทศถือเป็นสิ่งอัปมงคล ส่วนตัวมองว่าการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมตามระบอบประชาธิปไตย และ การมีผู้สังเกตการณ์จากภายนอก จะช่วยล้างความอัปมงคลหรือปัดรังควานให้ประเทศไทยได้ต่างหาก
นางลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของประเทศเมียนมาร์ ว่า มาจากบนลงล่าง หรือเปลี่ยนผ่านโดยชนชั้นนำ แม้ก่อนหน้านี้ประชาชนพยายามเรียกร้องประชาธิปไตย แต่ไม่ประสบความสำเร็จและถูกปราบปรามอย่างรุนแรง อย่างไรก็ตาม แม้ฝ่ายนางอองซาน ซูจี ที่เข้าใจกันว่าเป็นฝ่ายประชาธิปไตยจะมีชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่หลังการครองอำนาจ กลับลดบทบาทลง โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจมาจากความเชื่อของคนเมียนมาร์ที่ว่า ยิ่งพูดยิ่งจะเข้าตัว หรือเปิดโอกาสให้คนวิพากษ์วิจารณ์ตัวเองมากขึ้น นางซูจี จึงเลือกเงียบเฉยกับหลายสถานการณ์
นาย Asae Sayaka จากสถาบัน Darul Ridzuan (ดารุลริฎวาน) ประเทศมาเลเซีย กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองและการเลือกตั้งในมาเลเซียล่าสุด เกิดปรากฏการณ์ที่แม้แต่ชาวมาเลเซียก็ไม่คาดคิด ที่อดีตผู้นำฝ่ายค้าน จับมือกับมหาเธร์ โมฮัมหมัด จนชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย โดยมองว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะประชาชนไม่มีตัวเลือกอื่นที่จะมาล้มรัฐบาล นายนาจิบ ราซัค ที่ทุจริตอย่างมโหฬาร และตัดงบประมาณการอุดหนุนพืชผลทางการเกษตร โดยไม่มีมาตรการรองรับ
ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของมาเลเซีย รวมถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ไม่มีความน่าเชื่อถือ มีความกลัวว่าจะเกิดการโกงการเลือกตั้งเกิดขึ้น แต่มีเพียงสื่อสารมวลชนบางสำนัก พยายามเสนอข่าวทำให้ผลการเลือกตั้งที่ออกมาถูกรับรองอย่างชอบธรรม พร้อมย้ำว่า ชาวมาเลเซียเปลี่ยนแปลงประเทศด้วยการลงคะแนนเลือกตั้ง แม้แต่ผู้ที่อยู่ต่างประเทศก็บินกลับมาลงคะแนนในประเทศ เพราะกลัวถูกโกงการเลือกตั้ง หรือ กลัวหีบเลือกตั้งหาย และเชื่อว่าประเทศไทยสามารถใช้การเลือกตั้งเปลี่ยนแปลงประเทศได้เช่นกัน
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกตัวอย่าง การเลือกตั้งในเซอร์เบีย ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับหลายประเทศในโลก ที่เกิดระบอบอำนาจนิยมเชิงแข่งขัน หรือการทำให้การเลือกตั้ง เป็นเพียงวิธีการที่ทำให้รัฐบาลอำนาจนิยมสืบทอดอำนาจต่อไปได้เท่านั้น มีการลดบทบาทสื่อมวลชนไม่ให้รายงานข่าว ไม่ให้หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศเข้าสังเกตการณ์ อย่างในรัสเซีย ตุรกีและประเทศแถบตะวันออกกลาง แต่รัฐบาล อำนาจนิยมก็ยังไม่สามารถควบคุมการผลเลือกตั้งได้ รวมถึงในประเทศเซอร์เบีย
ขณะที่ไทยมีการชุมนุมบนท้องถนนที่ผ่านมาและประชาชนแบ่งเป็น 2 ขั้ว ผู้มีอำนาจอ้างความสงบสุข ในการปกครองประเทศรวมถึงในการเลือกตั้งที่จะมาถึงด้วย พร้อมเสนอให้ คนไทยต้องไม่มองการเลือกตั้งแค่ให้ได้ระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องมองถึง กำหนดอนาคต และเปลี่ยนประวัติศาสตร์ ของประเทศโดยการเฝ้าระวังการเลือกตั้งไม่ให้มีการโกงเกิดขึ้น ที่สำคัญ ต้องไม่ให้การเลือกตั้งนำไปสู่การสืบทอดอำนาจของ คสช.
ด้านนาย เมธา ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการ กกต. ด้านกิจการการมีส่วนร่วม มองว่า กฎหมายใหม่ที่ให้อำนาจ กกต.เป็นเจ้าพนักงาน ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนและทำสำนวนคดีเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้ง จะทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นธรรม โดยให้ให้บทบาทหน้าที่ประชาชนในการแจ้งเบาะแส รวมถึงเป็นพยานในการดำเนินคดี ให้ประสิทธิภาพมากขึ้นจากเดิม ปัจจุบันมีองค์กรเอกชน เสนอตัวตรวจสอบการเลือกตั้งกว่า 164 แห่งบางจังหวัดมีจดทะเบียนถึง 12 องค์กร พร้อมยืนยันว่า หลังวันที่ 9 ธ.ค. 2561 เมื่อกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ กกต พร้อมทำหน้าที่ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ให้เป็นไปด้วยความเสรีและเป็นธรรมได้อย่างแน่นอน
อดีต กกต. แนะ คสช. ยุติใช้ทีวีโฆษณาฝ่ายเดียว
ด้านรองศาสตราจารย์ โคทม อารียา อดีต กกต. เสนอให้ กกต.จับตาผู้มีอำนาจไม่ให้ใช้อำนาจสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้ง และควรขอให้ คสช.ยุติการใช้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจโฆษณาตัวเองเพียงฝ่ายเดียว แต่ควรยกเวลาการออกอากาศทางโทรทัศน์ให้ภาคประชาชน และ กกต.นำเสนอเรื่องการเลือกตั้งและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแทน เพราะที่ผ่านมากกต. ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งน้อยมาก
'จาตุรนต์' ย้ำเพื่อไทยเมินวงประชุม คสช. - พรรคการเมือง
ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย เห็นด้วยที่จะให้องค์กรต่างประเทศเข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ส่วนการแสดงความเห็นของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ นั้น เป็นการพูดในฐานะผู้รับใช้ คสช. ไม่ได้ใช้จิตวิญญาณการเป็นทูตหรือรมว.ต่างประเทศแต่อย่างใด อีกทั้ง ไม่มีสัญญาณว่า รัฐบาลปัจจุบันจะยอมเป็นรัฐบาลรักษาการ และยังมีคำสั่ง คสช. บังคับใช้อยู่ จึงเป็นห่วงเรื่องความเป็นธรรมในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น
แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุด้วยว่า แม้ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการให้ใบแดงแต่เห็นว่า กกต. ควรแจกใบเหลืองให้มากที่สุด หากกรณีสงสัยหรือเชื่อว่าอาจมีการทุจริต แต่ควรให้ใบเหลืองก่อนเลือกตั้งเกิดขึ้น ไม่ควรให้ใบเหลืองหลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว เพราะจะเกิดปัญหาอื่นๆตามมา
อย่างไรก็ตามแม้มีการ ประชุมพรรคการเมืองหาก กกต. เป็นเจ้าภาพหรือเชิญพรรคการเมือง นายจาตุรนต์ เปิดเผยว่า พรรคเพื่อไทยจะเข้าร่วมประชุม แต่หาก คสช.เป็นผู้เชิญ พรรคเพื่อไทยจะไม่ร่วมประชุมโดยเด็ดขาด เนื่องจากเห็นว่า คสช.ไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะต้องมาควบคุมพรรคการเมืองหรือดูแลเรื่องการเลือกตั้ง แต่เป็นหน้าที่ของ กกต.โดยตรง พร้อมฝากให้กกต ดูแลอย่าให้มีการเอื้อประโยชน์พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งที่สนับสนุน การสืบทอดอำนาจของ คสช.
ส่วนนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งพรรคเกียน กังวลว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะไม่เสรีและเป็นธรรม เพราะมีกติกา กีดกันผู้เล่นรายใหม่ หรือสกัดกั้นพรรคการเมืองขนาดเล็ก ไม่ให้เข้าสู่สนามการเมืองได้ พร้อมยกตัวอย่างว่า แม้แต่ชื่อพรรคเกรียน ที่แปลว่า สั้น นายทะเบียนพรรคการเมืองก็ไม่อนุญาตจดจัดตั้ง รวมถึงการให้สมาชิกพรรค 500 คนที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคต้องจ่ายค่าสมัคร 1,000 บาท ล้วนเป็นข้อจำกัดเหมือน ไม่ให้คนจนมีสิทธิ์จัดตั้งพรรคการเมือง จึงสะท้อนความไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น