ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงคมนาคมร่อนเอกสารแจงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ - หนองคาย กางตารางงานละเอียดยิบ หลังประชุมร่วมกับจีนที่ปักกิ่งเมื่อ 9 ก.พ. ปัดกระแสข่าวญี่ปุ่นเมินโครงการรถไฟความเร็วสูงกทม.-เชียงใหม่

กระทรวงคมนาคมออกเอกสารชี้แจง 2 โครงการใหญ่ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นกรุงเทพ-หนองคาย ระยะทางกว่า 600 กิโลเมตร และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-ญี่ปุ่น เส้นกรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 670 กิโลเมตร

'อาคม' โชว์ตารางเวลารถไฟไทย-จีนเฟส 1 จ่อชงครม.พิจารณาเฟส 2 ภายใน มิ.ย. นี้

เมื่อวันที่ 7-9 ก.พ. ที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ประชุมคณะกรรมการร่วมอย่างเป็นทางการเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ณ นครปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมกับนายหวัง เสี่ยวเทา รองผู้อำนวยการคณะกรรมการและปฏิรูปแห่งชาติ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะ โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้ร่วมกันเจรจาจนบรรลุผลความคืบหน้าในการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ -นครราชสีมา -หนองคาย ใน 5 ด้าน

หนึ่ง : เส้นทางกรุงเทพ-โคราช เฟสที่ 1 โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงและยืนยันถึงกำหนดการส่งแบบรายละเอียดเพื่อใช้ในการก่อสร้าง โครงการในช่วงดังกล่าวเพื่อใช้ในการก่อสร้างงานโยธาที่ฝ่ายรัฐบาลจีนจะดำเนินการส่งมอบให้เป็นไปตามแผนการที่กำหนด โดยแบบการก่อสร้างระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-โคราช แบ่งเป็น 5 ช่วง ได้แก่ 

1) ช่วงกลางดง - ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างแล้ว 

2) ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ฝ่ายจีนจะส่งแบบรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ในเดือนมี.ค. นี้ ส่วนฝ่ายไทยจะตรวจแบบ จัดทำราคากลาง และจัดทำ TOR ซึ่งคาดว่าจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาในเดือน พ.ค. นี้ 

3) ช่วงมวกเหล็ก-ลำตะคอง (อุโมงค์) จีนจะนำส่งร่างแบบรายละเอียดในเดือนมี.ค. ซึ่งคาดว่าจะส่งแบบรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ในเดือนเม.ย. และจัดทำ TOR ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเริ่มกระบวนการประกวดราคาในเดือนมิ.ย. ปีนี้ 

4) ช่วงแก่งคอย-บันไดม้า-โคกกรวด-ลำตะคอง-โคราช ฝ่ายจีนจะส่งร่างแบบรายละเอียดในเดือน เม.ย. หลังจากนั้นจะตรวจสอบแบบต่อไป โดยคาดว่าจะส่งแบบรายละเอียดฉบับสมบูรณ์ได้ในเดือน พ.ค. -มิ.ย. 2561 หลังจากนั้นจะเป็นกระบวนการในการจัดทำราคากลางก่อนจะเริ่มการประกวดราคาในเดือน ก.ค. ปีนี้ 

และ 5) ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง- นวนคร-บ้านโพธิ์-พระแก้ว-สระบุรี-แก่งคอย-เชียงรายน้อย ซึ่งฝ่ายจีนจะส่งร่างแบบรายละอียดในเดือน มิ.ย. 2561 และฝ่ายไทยจะได้ตรวจสอบร่างแบบดังกล่าวซึ่งคาดว่าฝ่ายจีนจะได้ส่งแบบรายละเอียดในเดือน ก.ค. - ส.คง พร้อมจัดทำราคากลางและเริ่มการประกวดราคาในเดือนก.ย. 2561

สอง : เส้นทางโคราช -หนองคาย เฟสที่ 2 ในที่ประชุมฝ่ายไทยตกลงจะทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมในเดือน มี.ค. -พ.ค. นี้ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีในเดือน มิ.ย. และหลังจากนั้นจะได้ดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดภายในเดือน มิ.ย. 2561 และจะออกแบบรายละเอียดประมาณ 10 เดือน ก่อนดำเนินการประกวดราคาในราวไตรมาสที่ 2/2562 ต่อไป 

สาม : เชื่อมไทย-ลาว-จีน โดยที่ประชุมได้มีการตกลงประสานงานเพื่อการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทย -สปป.ลาว และสาธารณรัฐประขาชนจีน ในการดำเนินโครงการก่อสร้างโครงข่ายเชื่อมโยงในอนุภูมิภาค โดยฝ่ายจีนตกลงที่จะเป็นผู้ดำเนินการเชิญผู้แทนระหว่างรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ มาเจรจาหารือกันในการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟความเร็วสูงในช่วงจากหนองคายถึงกรุงเวียงจันทน์ สปป. ลาว ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องมีการดำเนินการก่อสร้างให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันในระยะต่อไป ซึ่งจะทำให้การเดินรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงในระหว่างอนุภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง และเตรียมการในเรื่องการลดอุปสรรคในเรื่องการเดินทางของประชาชนของทั้ง 3 ประเทศ อันเกิดจากการตรวจคนเข้าเมือง และระบบการตรวจพิธีการด้านศุลกากรในลำดับต่อไป

สี่ : เดินหน้าสัญญา 2.3 งานระบบรถไฟ-ฝึกอบรม โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะหารือกันอย่างต่อเนื่องในเรื่องการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟแบบใช้หินโรยทางและไม่ใช่หินโรยทาง การสำรองข้อมูลและการจ่ายไฟฟ้า ซึ่งฝ่ายจีนจะทำข้อมูลให้ฝ่ายไทยพิจารณา และพยายามให้ได้ข้อสรุปสัญญา 2.3 ให้ได้ในเดือน มี.ค. 2561

รถไฟไทย-จีน อาคม 9 กพ 61.jpg

ห้า : บรรลุข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงว่าจะถ่ายทอดเทคโนโลยีใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ 1) หลักสูตรการฝึกอบรมวิศวกรไทยด้านเทคโนโลยีการออกแบบรถไฟความเร็วสูง โดยฝ่ายจีนจะดำเนินการจัดทำแผนการดำเนินงานและรายละเอียดการฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบและก่อสร้างงานโยธารถไฟความเร็วสูงให้ฝ่ายไทยภายในวันที่ 15 มี.ค. 2561 ใน 12 หัวข้อหลักก่อนเป็นลำดับแรก ภายใต้สัญญา 2.1 โดยการอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวได้มีการบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นรวมถึงการออกแบบระบบรางและระบบจ่ายไฟเหนือขบวนรถซึ่งจะเป็นการดำเนินการภายใต้สัญญา 2.3 ต่อไป 

2) ฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายจีนถ่ายทอดประสบการณ์ในการจัดตั้งองค์กรและส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งฝ่ายจีนยินที่จะดำเนินการสนับสนุนการดำเนินการดังกล่าว และจะส่งเจ้าหน้าที่ผู้มีความรู้มาร่วมช่วยไทยในการดำเนินการดังกล่าวต่อไป

3) ฝ่ายไทยขอให้ฝ่ายจีนสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการส่งเสริมขีดความสามารถการทดสอบการก่อสร้าง การติดตั้ง การตรวจสอบ และการซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟความเร็วสูงในไทย โดยข้อมูล เอกสาร และการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องจะรวมถึงหลักสูตรการซ่อมบำรุง รายการของสมรรถนะการทดสอบและการบริการ มาตรฐานที่เกี่ยวข้องของผลิตภัณฑ์ 4 กลุ่ม (26รายการอุปกรณ์) ซึ่งฝ่ายจีนได้ยืนยันที่จะส่งหัวหน้าเจ้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรถไฟมาประเทศไทยเพื่อร่วมกันพิจารณาและส่งมอบมาตรฐานที่จำเป็นต่อการลดการพึ่งพา และดำเนินการได้ด้วยตนเอง ด้านการซ่อมบำรุงในอนาคตให้แก่ฝ่ายไทยโดยเร็วและจะหารือให้ได้ข้อสรุปก่อนการประชุมครั้งต่อไป 

ปัดข่าวญี่ปุ่นเมินร่วมโครงการรถไฟความเร็วสูงกทม.-เชียงใหม่ 

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ยังได้ออกเอกสารแจงกรณีกระแสข่าวญี่ปุ่นปฏิเสธและยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระบุว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อต่างประเทศและสื่อโซเชียลว่า ญี่ปุ่นไม่สนใจลงทุนหรือยกเลิกโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ ช่วง กรุงเทพฯ-พิษณุโลกนั้น ขอแจ้งว่าการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคมและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น เป็นการรายงานผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการความร่วมมือระหว่าง 2 กระทรวงในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ยังไม่ได้มีการเจรจาการลงทุนแต่ประการใด และทางฝ่ายญี่ปุ่นไม่ได้ยกเลิกโครงการความร่วมมือ หรือตอบปฏิเสธการร่วมลงทุนแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ ทางฝ่ายญี่ปุ่นรับที่จะไปพิจารณาจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมและเป็นภาระการลงทุนของรัฐบาลไทยให้น้อยที่สุด

สำหรับในประเด็นเรื่องความเร็วของรถไฟความเร็วสูงชินกันเซ็นของญี่ปุ่นนั้น ตามมาตรฐานของญี่ปุ่นจะพัฒนาความเร็วที่ 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ซึ่งการลดความเร็วลงจะไม่มีความแตกต่างของมูลค่าการลงทุน รวมทั้งการลดจำนวนสถานี ทั้งนี้ในการจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมได้คำนึงถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด โดยคำนึงถึงต้นทุนตลอดอายุโครงการ (Life Cycle Cost) โดยญี่ปุ่นได้รับไปศึกษาเพิ่มเติม