ไม่พบผลการค้นหา
โศกนาฎกรรมเรือฟีนิกซ์ที่จมชีวิตนักท่องเที่ยวจีน 47 รายลงกลางทะเลภูเก็ต ในวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ถูกเปรียบเทียบเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่รองจากสึนามิ ปี 2547 ปลุกความตระหนกต่อปัญหาท่องเที่ยวปมใหญ่ที่ซุกไว้ให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง

ด้วยเม็ดเงินจากกระเป๋าชาวต่างชาติมหาศาลที่ไหลเข้าประเทศในแต่ละปี รวมถึงปีนี้ที่ประเมินว่าไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท ส่งให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเป็นดาวเด่นตลอด 10 ปี ผลประโยชน์หอมหวาน ดึงดูดใจให้คนเข้ามาแสวงหาโอกาส แทบจะทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุและความสูญเสียขึ้น กระแสความกังวลจะถูกลบเลือนไปรวดเร็ว เพราะไม่อาจสู้ความต้องการของนักท่องเที่ยวที่ยังคงถาโถมเข้ามา เช่น เหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ ซึ่งมีชาวจีนเป็นกลุ่มที่สูญเสียมากที่สุด แต่เมื่อรวมสถิติทั้งปี ยังคงเดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 71

ทั้งรอบทศวรรษที่ผ่านมา อาจกล่าวได้ว่าท่องเที่ยวไทยเผชิญภาวะสะดุดติดลบเพียง 2 ช่วง ซึ่งล้วนมาจากปัจจัยด้านการเมืองทั้งสิ้น ทั้งจากเหตุการณ์ในปี 2552 เมื่อมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพฯ ระหว่างการชุมนุมทางการเมือง ฉุดรายได้ปีนั้นดิ่งลง ร้อยละ 11.19 ทันที เช่นเดียวกับในปี 2557 รัฐประหารของ คสช. ทำให้รายได้ท่องเที่ยวลดต่ำร้อยละ 2.85

โดยทุกครั้งที่มีปัญหา ตลาดต่างประเทศ "ค่อยๆ เรียนรู้และเคยชิน” กับภาวะไร้เสถียรภาพของการเมืองไทยมากขึ้น การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวไทยจึงเกิดขึ้นเร็วขึ้นทุกครั้ง ขอเพียงรัฐบาลจากประเทศต้นทางปลดล็อก 'คำเตือนด้านการเดินทาง' (Travel Advisory) นักท่องเที่ยวก็พร้อมจะหลั่งไหลเข้ามาตามเดิม

'ไทย' จุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยว

โดยเฉพาะ 'จีน' ที่คำสั่งจากรัฐบาลยังถือเป็นประกาศิตสำหรับกรุ๊ปทัวร์ ดังนั้น เมื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แน่นแฟ้น รัฐบาลจีนไม่เคยลงดาบไทยเหมือนที่เคยปฏิบัติต่อประเทศอื่นๆ

แม้กระทั่งอุบัติภัยทางทะเลครั้งใหญ่นี้ ซึ่งเริ่มด้วยความสุ่มเสี่ยงจะสร้างความไม่พอใจอย่างมาก แต่ภาครัฐไทยจับสัญญาณได้เร็ว เร่งออกตัวประสานงานกับทางการจีนที่ส่งทีมเข้ามาช่วยปฏิบัติการกู้ภัยทางทะเลอย่างเต็มที่ จนถึงขณะนี้ผู้บริหารระดับสูงในฝ่ายนโยบายยังสั่งให้มีมาตรการระมัดระวังข่าวสารที่สื่อออกไปอย่างรอบด้าน จนทำให้ภาคธุรกิจบอกเป็นเสียงเดียวกันด้วยความมั่นใจว่า ครั้งนี้รัฐบาลจีนก็ไม่น่าจะมีประกาศเตือนนักท่องเที่ยวมาไทยแน่นอน

ด้วยปัจจัยดังกล่าว 'ความปลอดภัย' จึงกลายเป็นจำเลยที่หลุดรอดต่อข้อหาฉุดรั้งการท่องเที่ยวมาโดยตลอด และทำให้เกิดความหละหลวมหย่อนยานในการควบคุมดูแลมาตรฐาน และเจ้าหน้าที่รัฐที่บังคับใช้กฎหมายบางส่วน สมยอมรับผลประโยชน์ที่ หลับตาข้างหนึ่งเพื่อให้ผู้ประกอบการที่ทำไม่ถูกมาตรฐานดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างสะดวก

โดยเฉพาะในตลาดใหญ่อย่าง 'จีน' ด้วยขนาดตลาดเอาท์บาวด์ หรือ กลุ่มคนที่พร้อมเดินทางออกนอกประเทศไม่ต่ำกว่า 130 ล้านคนต่อปี และในจำนวนดังกล่าวยังยกให้ 'ไทย' เป็นจุดหมายที่ต้องมาเยือนหากต้องการเปิดประสบการณ์เที่ยวต่างประเทศครั้งแรก จึงมีทั้งผู้ประกอบการชาวไทย และชาวต่างประเทศ แข่งขันกันด้วย 'กลยุทธ์ราคา' ลดทอนคุณภาพบริการเพื่อกดราคาแพ็คเกจทัวร์ให้ต่ำที่สุด

อุบัติเหตุฉุดรั้งความเชื่อมั่น

อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า นอกจากอุบัติเหตุกับนักท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งแล้ว ในการจัดอันดับดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านการเดินทางและท่องเที่ยวของ World Economic Forum (WEF) ในหัวข้อความปลอดภัยและความมั่นคง (Safety and Security) ไทยรั้งอันดับ 118 จากทั้งหมด 136 ประเทศ เป็นเพียง 1 ใน 2 ชาติในอาเซียนที่กระเด็นออกมาจากกลุ่มท็อป 100 โดยมีฟิลิปปินส์รั้งท้ายอยู่อันดับ 126

แม้ว่าครั้งนี้จะปลอดคำเตือนจากรัฐบาล แต่สิ่งที่ควรจะกังวลมากกว่าคือ 'ความเชื่อมั่นเฉพาะตัว' ของนักท่องเที่ยวเอง หากเผชิญกับข่าวลบบ่อยครั้ง สำทับด้วยการสูญเสียรุนแรงอีกครั้งนี้ จะทำให้ภาพลักษณ์ไทยเสียหาย และเปิดช่องให้ประเทศอื่นที่ในสมรภูมิการแข่งขัน ใช้โอกาสนี้หยิบฉวยส่วนแบ่งของไทยออกไป

"สถานการณ์ตลาดจีนในช่วงนี้ได้รับผลกระทบแล้ว สถิตินักท่องเที่ยวเข้าสนามบินตั้งแต่วันที่ 6-12 ลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อนเฉลี่ยร้อยละ 10-15 แต่หากไทยสามารถจัดการช่วยเหลือเยียวยาในระยะสั้นได้ คาดว่าเพียง 1-2 เดือนจะกลับฟื้นฟูกลับมาได้ไม่ยาก สิ่งที่ควรเป็นห่วงมากกว่าคือ สร้างปลอดภัยในระยะยาวไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ เพราะไทยนับเป็นจุดหมายที่นักท่องเที่ยวจีนมาได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด เป็นไปตามสัดส่วนที่มาเยือนไทยต่อปีจำนวนมาก"

อดิษฐ์ กล่าวว่า ความปลอดภัยที่เป็นหนามแหลมของการท่องเที่ยวมานาน อาจสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหยั่งลึกของไทยที่ไม่มีวินัยในการจัดการ ไม่เคยถูกฝึกไว้วางแผนแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ รวมถึงไม่มีความต่อเนื่องในการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

สอดคล้องกับการรายงานจากเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศจีนว่า ในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวจีนเกือบ 700 คนเสียชีวิตที่ต่างประเทศ มักเกิดขึ้นในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย เป็นต้น และมากกว่า 1 ใน 3 มาจากกิจกรรมสันทนาการทางน้ำ และเฉพาะเดือน ม.ค. 2561 เพียงเดือนเดียว มีนักท่องเที่ยวจมน้ำในไทยกว่า 7 ราย

ขณะที่ ประเด็นพ่วงที่ได้มาจากกรณีเรือฟีนิกซ์ล่ม คือการตื่นตัวกวาดล้างธุรกิจนอมินี ซึ่งอยู่ระหว่างสอบสวนผู้ให้บริการเรือฟีนิกซ์และบริษัทนำเที่ยวว่าอาจเข้าข้ายหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นที่ทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวจับตาด้วยความกังวล ท่ามกลางวาทะจากรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่กล่าวในทำนอง "คนจีนทำคนจีนกันเอง" จุดกระแสไม่พอใจในหมู่นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเมื่อรวมกับการลุกขึ้นมาปราบนอมินีในรอบนี้ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจึงติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะส่งผลต่อบรรยากาศของการท่องเที่ยวโดยรวมอย่างไร

แม้ประเมินว่าจะไม่รุนแรงเท่าปฏิบัติการกวาดต้อน 'ทัวร์ศูนย์เหรียญ' ที่เกิดขึ้นในปี 2559 เนื่องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวทยอยปรับตัวยกระดับราคามากขึ้นแล้ว แต่ต้องยอมรับว่าทัวร์ศูนย์เหรียญจะยังไม่หมดจากตลาดแน่นอน

เช่นเดียวกับการแข่งขันด้วยราคาเย้ายวนใจก็ยังต้องดำเนินคู่กับการท่องเที่ยวต่อไป ซึ่งจุดนี้ตอกย้ำด้วยผลสำรวจของ WEF ในหัวข้อ "การแข่งขันในด้านราคา" ที่ไทยครองอันดับ 18 ของโลก ต่างกันลิบลับกับมาตรฐานความปลอดภัยที่รั้งท้าย

ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ที่มากับเรือฟีนิกซ์ครั้งนี้เป็นกลุ่ม FIT หรือคนที่เดินทางด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านกรุ๊ปทัวร์ เลือกซื้อโปรแกรมทัวร์ในจุดหมายจากต้นทางผ่านระบบออนไลน์ แม้ว่าไม่จัดอยู่ในประเภททัวร์ศูนย์เหรียญ แต่ระดับราคาก็ไม่ได้สูงมากนัก เนื่องจากการทำตลาดจีนทุกวันนี้ ยังมีกลุ่มที่เน้นกดต้นทุนให้ต่ำไว้ เพื่อกอบโกยปริมาณนักท่องเที่ยวจีนให้ได้มากที่สุด

ตลาดจีนมาเยือนไทยเติบโตมากแค่ไหน

ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมานับว่าเป็นก้าวกระโดด 'เท่าตัว' หลังจากที่จำนวนไม่กระเตื้องที่ 4.6 ล้านคนในปี 2556 และ 2557 เพราะเข้าสู่ช่วงรัฐประหาร มาถึงปี 2558 ตลาดจีนที่อัดอั้นกับการเดินทางเที่ยวไทยมานาน ประกอบด้วยฐานะทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการเติบโตระเบิดขึ้นถึงร้อยละ 71 ด้วยปริมาณรวมก้าวพรวดขึ้นเป็น 7.9 ล้านคน ก่อนที่ปี 2559 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 8.7 ล้านคน เติบโตร้อยละ 10.3 จนมาหยุดที่สถิติ 9.8 ล้านคนในปีที่ผ่านมา ยังรักษาระดับการเติบโตไว้ที่ร้อยละ 11.9

ภาคธุรกิจยืนยันตรงกันว่า การก้าวสู่หลัก '10 ล้านคน' ครั้งแรกในปีนี้ไม่น่ามีอุปสรรค เพราะประเมินว่าเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตจะไม่กระทบต่อภาพรวมวงกว้าง อีกทั้งในช่วง 5 เดือนแรกสะสมต้นทุนมาแล้วที่ 5 ล้านคน ขยายตัวราวร้อยละ 27.4 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตัวเลขนั้นส่งกลิ่นหอมหวานเสมอสำหรับมือที่ยื่นยาวหวังสาวผลประโยชน์ การใช้บริการ 'นอกกฎหมาย' จึงเกิดขึ้นทั้งระบบเพื่อลดต้นทุนตัดราคาขาย เริ่มตั้งแต่การเลือกใช้ยานพาหนะที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ผ่านการตรวจสอบ หรือการติดสินบนเจ้าพนักงาน เพื่อให้นำรถบัส, เรือ และเจ็ทสกี ออกมาให้บริการได้ รวมถึงการไม่ตรวจสอบความพร้อมของผู้ใช้งาน เช่น ปล่อยให้นักท่องเที่ยวไม่มีใบอนุญาตขับขี่เช่าจักรยานนต์, ไม่มีการสอนวิธีการใช้งานยานพาหนะที่ถูกต้อง และแนะนำข้อควรปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยต่างๆ ในกิจกรรมท่องเที่ยว ทำให้เกิดปัญหาเจ็ทสกีล่ม กระทั่งกิจกรรมเชิงผจญภัย การเล่นซิปไลน์ที่ชาวจีนต้องสังเวยชีวิตแล้ว

และที่รุนแรงมากขึ้น คือ โรงแรมที่ไม่จดทะเบียนถูกต้อง เพราะมีต้นทุนการบริหารจัดการที่ถูกกว่า จึงเกิดปรากฎการณ์กว้านซื้ออพาร์ตเมนต์มาเปิดรับลูกค้ารายวันจากจีน แม้ตลาดจะปรับจากการเป็นกรุ๊ปทัวร์มาสู่ FIT มากขึ้นแล้วก็ตาม สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ยืนยันตัวเลขโรงแรมผิดกฎหมายในไทย ยังมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50-60 เมื่อเทียบกับโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้อง

ความปลอดภัยระหว่างท่องเที่ยว ชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขัน

ปัญหาดังกล่าว หลายฝ่ายอาจกล่าวโทษว่าเป็นเพราะธุรกิจนอมินี แต่หากไล่เรียงสาเหตุแล้ว ปัจจัยสำคัญจึงต้องโทษความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายของไทยเองด้วย ทั้งการไม่เต็มที่กับการดูแลมาตรฐาน ไปจนถึงเจ้าหน้าที่บางส่วนที่สมยอมรับผลประโยชน์ใต้โต๊ะจากผู้ประกอบการที่ต้องการกอบโกยจากการท่องเที่ยว

แม้ว่าในด้านหนึ่ง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พยายามงัดนโยบายสร้างฐานตลาดคุณภาพขึ้นมาคู่ขนาน แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลานาน และตราบใดที่ยังมีปมปัญหาความปลอดภัยและการบริหารจัดการที่ไม่เด็ดขาด ก็จะทำลายภาพลักษณ์ท่องเที่ยวไทยต่อเนื่อง และยิ่งทำให้เป้าหมายการส่งเสริมตลาดบนเหน็ดเหนื่อยสาหัส เมื่อมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เหล่านี้หมั่นคอยโผล่ขึ้นมาเป็นตัวแปร

เพราะนักท่องเที่ยวที่มีฐานะและกำลังซื้อสูงย่อมไม่ต้องการเสี่ยงกับจุดหมายที่มีความปลอดภัยต่ำ และคนกลุ่มนี้มีตัวเลือกเดินทางทั่วโลกมากกว่าไทยมหาศาล เพราะกำลังซื้อที่พาไปยังที่ไหนของโลกก็ได้

ไม่เพียงแต่ตลาดบนเท่านั้นที่จะเสี่ยง แต่ตลาดกระแสหลักก็มีประเทศคู่แข่งดาวรุ่งกำลังเบียดนำขึ้นมาอย่างน่าสนใจ เช่น 'เวียดนาม' ซึ่งต้อนรับตลาดจีนแล้ว 4 ล้านคนในปีที่ผ่านมา คิดเป็นอัตราเติบโตถึงร้อยละ 148 โดยมีข้อสังเกตว่า แม้จะห่างกับไทยราวเท่าตัว แต่มาจากการทำตลาดโดยที่เวียดนามที่ “ไม่มีสำนักงานท่องเที่ยวที่จีน” ต่างจากไทยที่ขึงเครือข่ายตลาดไว้อย่างเข้มแข็งด้วย 5 สำนักงาน

ขณะที่ ประเด็นเรื่องความปลอดภัยที่กำลังอ่อนไหวสำหรับไทยนั้น พบว่า การประชุมเศรษฐกิจโลก หรือ WEF จัดอันดับความปลอดภัยของเวียดนามอยู่ที่ 57 ของโลก หรือสูงกว่าไทยมากกว่าเท่าตัวเช่นกัน

หรือถึงเวลานำระบบจำกัดอัตรารองรับเข้าอุทยานมาใช้

กรณีเรือฟีนิกซ์ที่ภูเก็ตล่มในครั้งนี้ ยังจุดคำถามสำคัญเรื่อง 'ปริมาณนักท่องเที่ยว' ที่ควรรองรับได้ด้วย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นต้นทุนสำคัญ แม้ว่าภาครัฐนำโดย 2 รัฐมนตรีคือ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่างเห็นตรงกันแล้วว่า น่าจะนำระบบจำกัดอัตรารองรับ (Carrying Capacity) ของแต่ละอุทยานมาใช้ ซึ่งโดยหลักคิดแล้วเป็นสิ่งที่ดี แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว ยังอดยังสะท้อนความกังวลใน 'เรื่องเดิม' ไม่ได้คือ เกรงว่าจะเป็นช��องทางให้เจ้าหน้าที่ 'เลือกปฏิบัติ' ในการมอบโควต้าให้กับบริษัทใดเพื่อแลกรับผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ากระเป๋า

เหตุการณ์เรือฟีนิกซ์ในครั้ง จึงไม่เพียงแต่คร่าชีวิตนักท่องเที่ยว แต่เป็นสัญญาณล่มจมทีละน้อยของภาพลักษณ์ด้านท่องเที่ยวไทย ที่มาจากการซุกซ่อนปัญหาอีกมากมายไว้เบื้องหลัง โดยไม่เคยมีการแก้ไขที่จริงจัง และปล่อยให้มีการฉกฉวยประโยชน์จากตัวเลขท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นต่อไป