ศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีเขมรแดงของกัมพูชา หรือ ECCC ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ พิพากษาจำคุกตลอดชีวิตนายนวน เจีย วัย 92 ปี อดีตผู้นำเขมรแดงอันดับ 2 รองจากนายพล พต และนายเขียว สัมพัน อดีตประมุขของประเทศในช่วงเขมรแดงวัย 87 ปี ในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีความผิดฐานบังคับแต่งงาน ข่มขืน และกดขี่ทางศาสนา
สองแกนนำคนสำคัญของรัฐบาลเขมรแดงได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต ซึ่งเป็นโทษสูงสุดของกัมพูชาได้แล้ว จากความผิดฐานกระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่คำพิพากษาตัดสินโทษข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ถือเป็นครั้งแรกที่มีการรับรองอย่างทางการว่าเขมรแดงกระทำความผิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ตามคำนิยามของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยนายนวน เจีย มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวจามมุสลิมและชาวกัมพูชาเชื้อสายเวียดนาม ส่วนนายเขียว สัมพัน มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเวียดนาม
เขมรแดงคืออะไร?
เขมรแดงเป็นขบวนการเคลื่อนไหวลิทธิเหมา ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มชนชั้นนำที่ได้รับการศึกษามาจากฝรั่งเศส โดยนายพล พต ผู้นำเขมรแดงอันดับ 1 และนายนวน เจีย ผู้นำเขมรแดงอันดับ 2 มีความคิดจะปฏิวัติประเทศให้เป็นในระบอบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แบบสุดโต่ง
ในวันที่ 17 เมษายน 1975 เขมรแดงเข้าบุกยึดพนมเปญ ประกาศศักราชที่ 0 นับหนึ่งใหม่ “รีเซ็ตประเทศ” ด้วยการยึดทรัพย์สินส่วนบุคคลเป็นของรัฐ และทำการจัดการเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมชนชั้นเกษตรกรรมเต็มขั้น ส่งคนไปทำนาทำไร่ สังหารพวกผู้ดีและชนชั้นกลางโดยเชื่อว่าพวกเขาเหล่านี้เอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจ ไม่เว้นแม้กระทั่ง ครู ปัญญาชน หรือคนสวมแว่นที่ดูเป็นคนที่เหนือกว่าประชาชนทั่วไปด้วย
หลังจากตัดสัมพันธ์กับเวียดนาม จนเวียดนามได้ส่งกองกำลังขนาดใหญ่บุกกัมพูชาในปี 1979 กองทัพเวียดนามได้ชัยชนะจนยุคเขมรแดงล่มสลาย พวกเขมรแดงออกไปจนไปตั้งหลักอยู่บริเวณติดกับชายแดนไทย ใกล้ๆ ตราดและอุบลราชธานี จนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มกองโจร นายพล พต ต้องหนีไปกบดาน จนกระทั่งถูกจับกุมในปี 1997 และเสียชีวิตระหว่างการถูกคุมขังในบ้านพักของตัวเองในปี 1998 ส่วนผู้นำเขมรแดงคนอื่นๆ ถูกดำเนินคดีโดย ECCC
พล พต ผู้นำเขมรแดงระหว่างการถูกคุมขังที่บ้านพัก
ยอดตายในช่วงเขมรแดง
ช่วง 1975 - 1979 ที่รัฐบาลเขมรแดงปกครองกัมพูชากลับเป็นช่วงที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นระบอบการปกครองที่กดขี่และนองเลือดที่สุดในศตวรรษที่ 20 คาดว่ามีประชาชนในกัมพูชาเสียชีวิตไปประมาณ 1 ล้าน 7 แสนคน หรือ 1 ใน 4 ของประเทศ ทั้งจากการประหารชีวิต ความอดอยาก รวมถึงป่วยตายจากการขาดแคลนแพทย์และยารักษาโรค
นอกเหนือจากชาวกัมพูชาแล้ว ในจำนวนผู้เสียชีวิตยังมีชาวจีน ชาวจาม และคนเชื้อสายเวียดนามอีกจำนวนมาก โดยหนังสือ The Pol Pot Regime ประเมินว่า ช่วงเขมรแดงรุ่งเรืองมีชาวจามเสียชีวิตประมาณ 90,000 ราย และมีชาวเวียดนามเสียชีวิตประมาณ 20,000 ราย
ทำไมคำพิพากษาข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จึงมีความสำคัญ?
ที่ผ่านมา การสังหารหมู่ช่วงเขมรแดงรุ่งเรืองมักถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมที่เขมรแดงกระทำต่อชาวกัมพูชาด้วยกันเอง จนอาจเรียกได้ว่าเป็น "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา" แต่นักวิชาการและผู้สื่อข่าวกลับถกเถียงกันว่าสัดส่วนชาวกัมพูชาที่เสียชีวิตในช่วงนี้สามารถเรียกได้ว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่
ขณะเดียวกันก็มีการถกเถียงว่าการกวาดล้างชาวจามมุสลิมและกลุ่มชาติพันธุ์เวียดนามหลายแสนคนด้วยการสังหารและขับไล่ออกจากพื้นที่อาจเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่นักวิชาการหลายคน รวมถึงนายฟิลิป ชอร์ต ผู้เขียนชีวประวัตินายพล พต ปฏิเสธว่าเขมรแดงไม่มีเจตนาที่จะสังหารกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้โดยเฉพาะ แม้ปี 1978 นายพล พต จะเคยกล่าวว่า "ไม่มีลูกหลาน" ชาวเวียดนามอยู่ในกัมพูชา
นอกจากจะตกเป็นเป้าของการสังหารหมู่แล้ว ชาวจามมุสลิมยังถูกห้ามไม่ให้ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา และถูกบังคับให้กินเนื้อหมูอีกด้วย
ดังนั้น คำพิพากษาของ ECCC จึงเป็นการยุติการถกเถียง และรับรองว่าการกระทำของเขมรแดงตรงกับนิยาม ซึ่งระบุไว้ในอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและลงโทษความผิดอาญาฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ กล่าวคือ "การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" คือการกระทำที่มีเจตนาทำลายกลุ่มสัญชาติ เชื้อชาติ หรือศาสนาใดกลุ่มหนึ่งให้หายไปทั้งหมดหรือบางส่วน และทำให้ผู้รอดชีวิตจากยุคเขมรแดงรู้สึกว่า พวกเขาได้รับความยุติธรรมแล้ว
นักเรียนถือภาพผู้นำเขมรแดง (จากซ้ายไปขวา) เอียง ธีริธ, นวน เจีย, เขียว สัมพัน, และเอียง ซารี
ความยุติธรรมคุ้มค่าแค่ไหน?
ศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีเขมรแดงของกัมพูชา หรือ ECCC ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2006 โดยได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ โดยช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ECCC ตัดสินลงโทษผู้นำเขมรแดงไปเพียง 3 คน เนื่องจากหลายคนเสียชีวิตไปก่อนการไต่สวนจะสิ้นสุด แต่ ECCC ก็ใช้งบประมาณไปถึง 300 ล้านดอลลาร์หรือเกือบ 10,000 ล้านบาท จนถูกวิจารณ์ว่าเป็นการทวงความยุติธรรมที่แพงที่สุดกรณีหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่
ในปี 2010 นายเกียง กึ๊ก เอียว หรือสหายดุ๊ก อดีตผู้บัญชาการเรือนจำตวลเสลง ที่คุมขังและทรมานนักโทษของรัฐบาลเขมรแดง และมีการเพิ่มโทษเป็นจำคุกตลอดชีวิตในปี 2012 ต่อมานายเอียง ซารี จำเลยร่วมในคดีก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ก็เสียชีวิตไปก่อนที่จะมีการเปิดการไต่สวนในปี 2014 ส่วนนางเอียง ธีริธ ภรรยาของนายเอียง ซารีและอดีตรัฐมนตรีด้านกิจการสังคมในสมัยเขมรแดง ก็ถูกตัดสินว่าเธอมีสภาพจิตไม่พร้อมที่จะขึ้นให้การ และเสียชีวิตลงในปี 2015
แม้การตัดสินคดีเขมรแดงจะใช้งบประมาณมหาศาล และนำตัวคนผิดมาลงโทษได้เพียงไม่กี่คน แต่ผู้รอดชีวิตจากช่วงเขมรแดงจำนวนมากก็รู้สึกยินดีที่อย่างน้อยก็มีการสะสางคดี และบันทึกเป็นหน้าประวัติศาสตร์ว่า ผู้กระทำผิดได้รับโทษแล้ว แม้จะผ่านไปกว่า 40 ปีแล้วก็ตาม
การตัดสินคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดงอาจเป็นคำพิพากษาครั้งสุดท้ายของ ECCC แม้จะยังมีการยื่นฟ้องเอาผิดสมาชิกเขมรแดงระดับกลางอีก 4 คน แต่นายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเคยพูดคัดค้านกับ ECCC เกี่ยวกับการเปิดการไต่สวนคดีใหม่ และหนึ่งในสมาชิกเขมรแดงเองก็กล่าวว่า เขาต้องหารให้ชาวกัมพูชาเดินหน้าต่อไป เพราะการดำเนินคดีต่ออาจนำไปสู่ความรุนแรง
ที่มา : BBC, The Guardian, The Washington Post, Mekong.net
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :