เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย สถานที่ในฝันของนักท่องเที่ยวและนักดำน้ำทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะขยะมูลฝอยเกลื่อนชายหาด รวมไปถึงใต้น้ำด้วย นักดำน้ำชาวอังกฤษ ริช ฮอร์เนอร์ โพสต์คลิปวิดีโอบนเว็บไซต์ยูทูบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นถึงขยะพลาสติกจำนวนมากลอยอยู่ใต้น้ำในทะเลบาหลี
จุดที่ฮอร์เนอร์ดำน้ำนั้นอยู่ห่างจากชายฝั่งบาหลี 20 กิโลเมตร และเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของปลากระเบนและปลาหลายสายพันธุ์ แต่ปัจจุบันใต้ท้องทะเลแห่งนี้ถูกแทนที่ด้วยขยะพลาสติกจำนวนนับไม่ถ้วน ทั้งถุงพลาสติก ขวดน้ำพลาสติก ถ้วยพลาสติก หลอดพลาสติก ตะกร้าพลาสติก และอื่นๆ อีกมากมายที่ไม่สามารถย่อยสลายได้
ฮอร์เนอร์กล่าวว่า ที่ผ่านมาในบริเวณนี้ในช่วงฤดูร้อนจะไม่มีขยะพลาสติกให้เราเห็น แต่ในช่วงฤดูฝน ขยะจะไหลมาตามแหล่งน้ำ ทำให้มองเห็นขยะเป็นจำนวนมาก
งานศึกษาของนักวิจัยจากออสเตรเลีย อิตาลี และสหรัฐฯพบว่า พลาสติกขนาดเล็กนั้นเป็นภัยคุกคามต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการ และการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ ยังสร้างความเสี่ยงต่อการหาอาหารของสัตว์ด้วย ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า มีการทิ้งขยะลงในน้ำเฉลี่ย 90 ชิ้นต่อชั่วโมง
หนังสือพิมพ์เทเลกราฟของอังกฤษรายงานว่า ด้วยตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี ทำให้ชายหาดที่ยาวกว่า 5 กิโลเมตรทางฝั่งตะวันตกของเกาะบาหลีถูกประกาศให้เป็นเขตฉุกเฉิน หลังจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นพบขยะมูลฝอยพลาสติกเกลื่อนชายหาดเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา และคาดว่าน่าจะมีขยะกว่า 100 ตันในแต่ละวันที่ถูกทิ้งสะสมอยู่บนชายหาด
อินโดนีเซียประเทศที่แหล่งน้ำสกปรกที่สุดในโลก
ไม่เพียงแต่ในทะเลบาหลีเท่านั้นที่มีขยะ แต่ในแม่น้ำสายต่างๆ ของอินโดนีเซียก็มีปริมาณขยะมูลฝอยที่ล้นมากเช่นกัน และเมื่อเร็วๆ นี้ อินโดนีเซียถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีขยะมูลฝอยพลาสติกในแหล่งน้ำมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน
แม่น้ำจิตารัม ทางตะวันตกของหมู่เกาะชวา ถูกจัดให้เป็นแม่น้ำที่มีความสกปรกที่สุดในโลก เนื่องจากมีขยะมูลฝอยและน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยออกมา
ตามการศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์เจียของสหรัฐฯ ประเมิณว่า ในปี 2010 ทั่วโลกมีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลหรือมหาสมุทรกว่า 8 ล้านตัน และมีการคำนวณว่าอินโดนีเซียปล่อยขยะพลาสติกออกมากว่า 1.29 ล้านตัน หรือมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนขยะพลาสติกที่ปล่อยลงแหล่งน้ำทั่วโลกทั้งหมด
ทั้งนี้ในปี 2017 รัฐบบาลอินโดนีเซียประกาศทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นงบประมาณในการทำความสะอาดทะเล และตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2025 จะต้องลดขยะพลาสติกทั่วประเทศให้ได้ 75 เปอร์เซ็นต์
อ่านเพิ่มเติม: