เว็บไซต์ Laotian Times รายงานว่าเมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา นายบัวเงิน สาภูวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงข้อมูลข่าวสาร การท่องเที่ยว และวัฒนธรรม ได้เป็นประธานจัดการประชุมระหว่างตัวแทนของภาคส่วนต่างๆ หารือการเตรียมความพร้อมในการยื่นเอกสารต่อยูเนสโก ขอขึ้นทะเบียนการรำวง กิจกรรมทางสังคมที่แพร่หลายในงานรื่นเริงต่างๆของลาว และวัฒนธรรมอื่นๆของลาวเช่นการตักบาตร พิธีบายศรีสู่ขวัญ ประเพณีบุญกองข้าว และปีใหม่ลาว หรือเทศกาลสงกรานต์ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ หรือ ICH โดยลาวเพิ่งจัดตั้งคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนประเด็นนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
จากข้อมูลของยูเนสโก มรดกทางวัฒนธรรมอันจับต้องไม่ได้ หรือ ICH ต้องเกิดจากธรรมเนียมที่สืบทอดต่อกันมาทางมุขปาฐะ การละเล่น ศิลปะ หรือพิธีกรรมและงานประเพณีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ จักรวาล รวมถึงงานหัตถศิลป์ที่สั่งสมจากภูมิปัญญาดั้งเดิม
การเฉลิมฉลองปีใหม่ลาวหรือสงกรานต์ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี มีการเล่นน้ำและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เป็นธรรมเนียมหลัก
ส่วนประกอบสำคัญของการเป็น ICH ยังรวมถึงการที่วัฒนธรรมนั้นต้องมีทั้งความดั้งเดิมและร่วมสมัย หมายถึงยังคงมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถงปัจจุบันอย่างแพร่หลาย และเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชนชาตินั้นๆ สืบต่อจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นรากฐานของชุมชน มีคุณค่าทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมต่อมนุษยชาติ รวมถึงประเทศชาติ
ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ยูเนสโกเพิ่งให้การยอมรับว่า "การลำแคน" ดนตรีที่เกิดจากแคน เครื่องดนตรีประจำชาติของลาว เป็นมรดกโลกอันจับต้องไม่ได้ โดยยกย่องว่าบทเพลงลำแคน เป็นส่วนสำคัญของงานสังสรรค์รื่นเริงและพิธีกรรมต่างๆในลาว ส่งเสริมสถาบันครอบครัว และยังเป็นการส่งเสริมวิถีชีวิตเกษตรธรรมชาติ รวมถึงการออกกำลังกาย เนื่องจากการลำแคนมักมีทั้งผู้ร่วมร้อง เล่นดนตรี และเต้นรำไปในขณะเดียวกัน